xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรังอายุน้อยลง ครึ่งหนึ่งต้องกลับมารักษาซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รพ.สวนปรุง เผยคนป่วยพิษสุราเรื้อรังอายุน้อยลง แต่จำนวนเพิ่มขึ้น เหตุดื่มตั้งแต่อายุน้อย เสี่ยงทำลายเซลล์สมอง พบครึ่งหนึ่งต้องกลับมารักษาตัวซ้ำ บางรายกลับมารักษาใหม่เกิน 30 ครั้ง แนะรักษาเร็วลดติดซ้ำ หากติดหนักต้องปรึกษาแพทย์ลดลงแดง ทำร้ายตัวเอง

นพ.ปริทรรศ ศิลปกิจ นายแพทย์เชี่ยวชาญโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ควบคุมแอลกอฮอล์ ที่ จ.พะเยา ว่า ผู้ป่วยจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่น มีอาการคลุ้มคลั่ง ประสาทหลอน หรือลงแดง เนื่องจากพิษสุราเรื้อรังนั้น พบว่ามีอายุน้อยลงเรื่อยๆ จากเดิมจะอยู่ในกลุ่มคนอายุมาก 40 ปีขึ้นไป เหลือเพียง 20 ปีกลางๆ ก็พบว่าป่วยและรักษาตัวด้วยพิษสุราเรื้อรังมากขึ้น เมื่อสืบประวัติพบว่า ส่วนใหญ่เริ่มดื่มตั้งแต่อายุน้อย ตั้งแต่ช่วงเข้าวัยรุ่น และมีอัตราการดื่มที่หนัก ทำให้แสดงอาการเร็ว ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะก่อนอายุ 25 ปี เซลล์สมองยังไม่หยุดการพัฒนา การดื่มตั้งแต่อายุน้อยจึงทำลายเซลล์สมองให้เกิดความเสียหายมาก
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ปริทรรศ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน รพ.สวนปรุง มีผู้ป่วยจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยในประมาณ 2,000 รายต่อปี และผู้ป่วยนอกอีกจำนวนมาก โดยผู้ป่วยในจะใช้เวลาในการรักษาตัวประมาณ 2-5 สัปดาห์ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยครั้งละ 10,000 บาท คิดเป็นการสูญเสียด้านสุขภาพจำนวนมาก แต่ถือว่าดีกว่าไม่เข้ารับการรักษาและปล่อยให้อาการรุนแรง เพราะจะเป็นเหตุทำให้ก่อความรุนแรง เช่น คลุ้มคลั่ง ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น โดยเฉพาะคนในครอบครัวที่กลายเป็นเหยื่อจำนวนมาก รวมถึงการก่ออาชญากรรม เช่น ทุบตี ฆ่ากันด้วยวิธีโหดร้าย

นพ.ปริทรรศ กล่าวด้วยว่า จากการติดตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยพิษสุรา พบว่า ร้อยละ 50 มักจะต้องกลับมารักษาตัวซ้ำ บางรายพบว่า ต้องเข้ารับการรักษาถึงกว่า 30 ครั้ง ซึ่งผู้ป่วยด้วยพิษสุราจะคล้ายกับการติดยาเสพติด ที่จะมีโอกาสเสี่ยงในการติดซ้ำ เนื่องจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อม เพื่อน ครอบครัว นอกจากนี้ การเลิกสุราอย่างเฉียบพลันยังทำให้เกิดอาการลงแดง ที่ทำให้ผู้ป่วยคลุ้มคลั่ง ประสาทหลอนได้ และบางรายยังทำร้ายตนเองจนเสียชีวิต ดังนั้น การจะเลิกดื่ม หากเป็นผู้ที่ดื่มติดต่อกันมาเป็นเวลานาน จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ยาบำบัด รวมทั้งเข้ากระบวนการติดตามอาการด้วย ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีเครื่องมือในการประเมินอาการติดสุรา โดยกรมสุขภาพจิต ซึ่งทำให้ประเมินผู้ป่วยได้ดีขึ้นว่าอยู่ในระยะใดทำให้ได้รับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว

“อาการติดเหล้าใกล้เคียงกับอาการติดยาเสพติด การเลิกแบบเฉียบพลันอาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยเอง นอกจากนี้ ยังพบว่าบางรายดื่มแต่ไม่รู้ตัวหรือไม่ยอมรับว่าตนเองติดเหล้า โดยมักคิดว่าตัวเองดื่มเพื่อสังสรรค์ไม่ได้ติด แต่เมื่อทำการทดสอบก็กลับพบว่า เป็นอาการของคนติดเหล้า ซึ่งการติดเหล้าคล้ายกับการป่วยด้วยโรคอื่นๆ หากรู้ตัวเร็ว พบเร็วก็สามารถบำบัดรักษาให้หายได้เร็ว และลดโอกาสเสี่ยงที่จะกลับไปติดเหล้าซ้ำ” นพ.ปริทรรศ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น