อึ้ง! คนไทยคอทองแดง ซดเหล้าคนละเกือบ 9 ลิตร/ปี ติดอันดับ 40 ของโลก สธ.ทำสมุดความดีชวน ปชช.ปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษถวาย “ในหลวง-พระสังฆราช” ดึงนายกฯปูพรีเซ็นเตอร์ปฏิญาณตน ด้านกรมควบคุมโรคชี้ดื่มเหล้าเป็นสาเหตุการฆ่าตัวตาย โรคสะสมเพียบ
วันนี้ (13 มิ.ย.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.จัดโครงการวันงดดื่มสุราแห่งชาติในเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งตรงกับวันที่ 23 ก.ค.โดยจัดทำสมุดความดีจำนวน 150,000 เล่ม ให้คนไทยร่วมลงชื่อปฏิญาณตนงดดื่มเหล้า ตลอด 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.-19 ต.ค.เพื่อทำความดีถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 86 พรรษา และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระชนมายุครบ 100 พรรษา ทั้งนี้ สามารถลงนามได้ที่ อสม.โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงงาน วัด โรงเรียนทุกแห่ง หรือเว็บไซต์ www.thaiantialcohol.com และ www.1king1heart.net โดยจะรวบรวมรายชื่อทั้งหมดทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เดือน ส.ค.นี้ เบื้องต้นตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ขณะนี้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น อัตราการดื่มอยู่ที่อันดับ 40 ของโลก และอันดับ 3 ของทวีปเอเชีย เฉลี่ยดื่มคนละ 8.47 ลิตรต่อปี โดยผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2543-2553 พบว่า ทุกครอบครัวมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 43 ของรายจ่ายทั้งหมด สูงกว่าค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล 2 เท่า สูงกว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา 3 เท่า และมีมูลค่าเป็น 1 ใน 5 ของค่าอาหารการกินต่อปี กลุ่มที่มีฐานะยากจนใช้จ่ายเรื่องนี้สูงกว่าผู้ที่มีฐานะดี
นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของคนไทยในปี 2554 พบว่า ร้อยละ 37 มีปัญหาความรุนแรงและความสัมพันธ์ในครอบครัว คดีที่มีการกระทำผิดร่วมกับการดื่มสุราอันดับ 1 คือ การทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 56 รองลงมาคือ ความผิดเกี่ยวกับเพศ ร้อยละ 46 และเกี่ยวกับอาวุธ วัตถุระเบิด ร้อยละ 41 เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงสุด 3 ลำดับแรกคือ อุบัติเหตุจราจร เอดส์ และตับแข็ง ส่วนการดื่มของกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่า มีผู้ดื่ม 17 ล้านคน ดื่มเป็นประจำเกือบ 8 ล้านคน ติดเหล้าต้องดื่มทุกวันเกือบ 4 ล้านคน จังหวัดที่มีนักดื่มสูงสุด คือ พะเยา จังหวัดที่มีนักดื่มหนักสูงสุดคือ แม่ฮ่องสอน เฉลี่ยเริ่มดื่มเมื่ออายุ 20 ปี มักดื่มเป็นกลุ่ม ในสถานที่ส่วนตัว ปัจจัยหลักในการดื่มคือ การรับสื่อโฆษณาทำให้อยากลอง สิ่งแวดล้อมในครอบครัว จากเพื่อน และเข้าถึงง่าย
“การแก้ไขและป้องกันต้องเข้มข้นด้านการใช้กฎหมาย ควบคู่กับการณรงค์สร้างค่านิยมใหม่ สังคมไทยไม่ดื่มสุรา และเปิดคลินิกบำบัดผู้ติดเหล้าในโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ที่ต้องการเลิกดื่ม สามารถเลิกได้เป็นผลสำเร็จ ทั้งนี้สำหรับการผลักดันให้มีวันงดดื่มแอลกอฮอล์โลกนั้น ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดของกรมควบคุมโรคเพื่อนำเสนอข้อมูลส่งให้ รมว.สาธารณสุข เพื่อนำรายละเอียดไปหารือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ก่อนเสนอเข้าให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป” รมช.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กิจกรรมวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประกอบด้วย การเผยแพร่คำขวัญวันงดดื่มสุราแห่งชาติจากนายกรัฐมนตรี การลงนามปฏิญาณตนงดดื่มสุราช่วงเข้าพรรษา โดยจะจัดรณรงค์ในวันที่ 17 ก.ค.ณ สนามกีฬา สธ.มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมลงนามในสมุดปฏิญาณตน และนำกล่าวคำปฏิญาณตน
นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีภัยร้ายแรงหลายด้าน ได้แก่ 1.เป็นสาเหตุการฆ่าตัวตาย เนื่องจากสมองสับสน มีอาการทางจิต คิดว่าจะมีคนมาทำร้ายร่างกาย 2.เกิดโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชายไทยเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่ง 3.ความจำเสื่อมบางราย เนื่องจากสมองถูกฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำลาย 4.เป็นสาเหตุโรคต่างๆ และ 5.เกิดปัญหาทางสังคม เช่น ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ละเมิดทางเพศ เพราะคุมตัวเองไม่ได้ เป็นต้น