อาการ “เสพติด” มักมาพร้อมกับ “ข้ออ้าง” เสมอ ถ้าอยากเลิกเป็นสิงห์อมควัน-อมโรค-อมความตาย ขอแค่เปิดใจอ่านตัวเลขเหล่านี้ แล้วปลุกตัวเองตื่นจากภวังค์แห่งนิโคตินกันเสียที!
1 ใน 10 ของผู้เสียชีวิต ตาย เพราะ สูบบุหรี่
คนไทยตายเพราะบุหรี่ ปีละ 50,710 คน, วันละ 138 คน และชั่วโมงละ 5.7 คน ส่วนโรคที่ทำให้ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น อันเป็นผลมาจากบุหรี่คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด ครองอันดับหนึ่ง, โรคมะเร็งปอด ตามมาเป็นอันดับสอง, มะเร็งในที่อื่นๆ, ถุงลมปอดโป่งพอง และโรคอื่นๆ เป็นอันดับต่อมา
พฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคอันดับ 2 คือบุหรี่
นอกจากคนไทยจะมีคุณสมบัติพิเศษ “คอทองแดง” และ “ตับแข็ง” จากการนิยมดื่มน้ำเมาเป็นอย่างมากแล้ว “บุหรี่” ยังเป็นสาเหตุของพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคอันดับที่ 2 รองลงมาด้วย เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งทุกชนิดในชายไทย คิดเป็นร้อยละ 30 และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งทุกชนิดในผู้หญิง ร้อยละ 8
ชายไทย 3 ใน 4 ไม่เลือกสิงห์อมควันสาวเป็นแฟน
จากผลการสำรวจความคิดเห็นของชายไทยในปี 2544 แอแบคโพลล์ ด้วยคำถาม “จะเลือกผู้หญิงที่สูบบุหรี่มาเป็นแฟนหรือไม่?” ร้อยละ 75.5 ตอบอย่างมั่นใจว่า ไม่เลือก, ร้อยละ 19.4 บอกว่า ไม่แน่ใจ มีเพียงร้อยละ 5.1 เท่านั้นที่ตอบว่า เลือก
นั่นหมายความว่า ชายไทย 3 ใน 4 คน จะไม่เลือกผู้หญิงที่สูบบุหรี่มาเป็นแฟน, 1 ใน 5 คนไม่แน่ใจ และมีเพียง 1 ใน 20 คนเท่านั้นที่ยอมรับได้ ตอบว่าเลือก
หันมาถามความคิดฝ่ายหญิงกันบ้าง “คิดอย่างไรเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ของผู้หญิง” สุ่มกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงในวัย 13-24 ปี จำนวน 5,773 คน ผลการสำรวจจากเอแบคโพลล์ ปี 2547 มีคำตอบออกมาแบบนี้ คือร้อยละ 95.7 เห็นว่าการสูบบุหรี่ไม่ได้ช่วยให้มีเสน่ห์, ร้อยละ 88.6 เห็นควรอย่างยิ่งว่าควรรณรงค์ให้ผู้หญิงไม่สูบบุหรี่, ร้อยละ 70.3 อยากให้ผู้หญิงเลิกสูบบุหรี่ และร้อยละ 22.7 รังเกียจผู้หญิงที่สูบบุหรี่
สร้างปัจจัยเสี่ยงเพิ่ม 4 โรคเรื้อรัง
โรคเรื้อรังเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลักๆ มีอยู่ 4 ข้อคือ สูบบุหรี่, ดื่มสุรา, ไม่ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารไม่เหมาะสม พฤติกรรมใน 3 ข้อหลัง มีความเสี่ยงอยู่พอสมควร แต่การอัดสารพิษเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีการสูบ คือปัจจัยเสี่ยงมากที่สุดที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังทั้ง 4 ชนิด ดังนี้ โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง, โรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน และ โรคถุงลมโป่งพอง
คนจน 5 ล้านกว่าคน เสพติดบุหรี่
อ่านไม่ผิด กลุ่มคนไทยที่ยากจนและการศึกษาน้อย คือกลุ่มที่สูบบุหรี่มากที่สุด แบ่งโดยละเอียดคือ มีกลุ่มที่จนที่สุดติดบุหรี่เป็นจำนวน 2,288,500 ราย และกลุ่มที่เกือบจนอีก 2,982,400 ราย รวมเป็นข้อสรุปที่ว่า เรามีคนจน 5 ล้านกว่าคนที่เสพติดบุหรี่นั่นเอง
สิงห์อมควันผู้มีระดับการศึกษาต่ำกว่าชั้นประถม คือกลุ่มที่นิยมสูดควันพิษชนิดนี้เข้าร่างกายมากที่สุด ถึง 4 ล้าน 3 แสนกว่าคน, รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษา 4 ล้านกว่าคน, ประถมศึกษาอีก 3 ล้านกว่าคน และสุดท้าย ระดับอุดมศึกษา 9 แสนกว่าคน พูดง่ายๆ คือร้อยละ 60.3 ของคนไทยที่สูบบุหรี่ จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า
ถ้าลองมานั่งคิดออกมาเป็นตัวเงินแล้ว จำนวนแบงค์ที่ต้องแลกไปกับค่าใช้จ่ายเพื่อเสพคือ 450 - 481 บาทต่อเดือนต่อคน ถ้าวัดจากจำนวน 2.4 ล้านคน ซึ่งสูบบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน จะคิดเป็นเงินถึง 1,117 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 13,484 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว
6 แสนคนทั่วโลก ตายเพราะควันบุหรี่มือสอง
ถ้าเทียบกับคำว่า “ทั่วโลก” หลายคนอาจคิดว่า “6 แสน” เป็นตัวเลขความสูญเสียที่ค่อนข้างน้อย แต่อย่าลืมว่า ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองแล้วเสียชีวิต พวกเขาไม่มีความผิดอะไร แค่โชคร้ายต้องยืนใกล้กับสิงห์อมควัน จึงต้องรับเอาความตายจากนักเสพเหล่านั้นไปโดยปริยาย ดังนั้น จำนวน 6 แสนคนสำหรับผู้บริสุทธิ์จึงเป็นตัวเลขที่น่าสะเทือนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
โดยเฉพาะถ้าผู้เคราะห์ร้ายที่ต้องรับควันบุหรี่มือสองคือ “เด็ก” ร่างกายของพวกเขายังมีภูมิคุ้มกันน้อย สารพิษเหล่านี้จึงเป็นอันตรายต่อพวกเขาตั้งแต่ระดับย่อมๆ อย่างก่อให้เกิดอาการเป็นไข้หวัดบ่อยขึ้น เป็นโรคหอบหืด และเริ่มร้ายขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นติดเชื้อในทางเดินหายใจ ลามไปถึงปอดอักเสบ เสี่ยงต่อภาวะหูน้ำหนวก และร้ายสุดคืออาการ “ไหลตายในเด็ก”
มวนเดียว ติดได้ใน 7 วิ พร้อมอายุสั้นลง 7 นาที!
ฉีดเฮโรอีนเข้ากระแสเลือด ดูจะเป็นการเสพที่ให้ผลที่รวดเร็วและรุนแรงที่สุดแล้ว แต่ความจริง กลับพ่ายแพ้ต่อการสูบสารนิโคตินผ่านบุหรี่เสียอีก เพราะสารนิโคตินเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการเสพติดสูงมาก แค่สูบสารชนิดนี้เข้าไป มันจะแล่นเข้าสู่สมองภายใน 7 วินาที และหากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ในขนาด 60 มิลลิกรัมในครั้งเดียว ผู้เสพจะเสียชีวิตทันทีจากอาการกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต ที่สำคัญคือ สูบบุหรี่เพียง 1 มวน ทำให้อายุสั้นลงถึง 7 นาทีเลยทีเดียว!
วัยรุ่นหลงผิด 8 หมื่นรายทั่วโลก
สถิติล่าสุดระบุว่าขณะนี้ ทั่วโลกมีวัยรุ่นใหม่ติดบุหรี่วันละ 8 หมื่น - 1 แสน คนเลยทีเดียว ถามว่าอะไรทำให้วัยรุ่นเริ่มติดบุหรี่ ผลการวิจัยในไทยให้ข้อมูลเอาไว้ว่า “สถานบันเทิง” คือสาเหตุหลักที่ทำให้วัยรุ่นหญิงติดบุหรี่ เพราะเป็นสถานที่ที่กระตุ้นให้เริ่มสูบเป็นครั้งแรก คิดเป็นร้อยละ 45.2, รองลงมาคือแอบสูบที่โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 24.1 และสุดท้ายคือที่บ้าน ร้อยละ 11.1
ทั้งยังระบุว่า วัยรุ่นที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ มีอัตราการสูบบุหรี่ร้อยละ 14.2 ส่วนวัยรุ่นที่ไม่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ มีอัตราการสูบบุหรี่ร้อยละ 4.3 ถือว่าน้อยกว่ากันเกินครึ่ง
เลิกบุหรี่ได้ด้วยตัวเอง สำเร็จถึง 9 ใน 10
ใช่!... ยิ้มรับตัวเลขนี้ได้เลยสำหรับคนที่ติดบุหรี่และอยากเลิก จากการสำรวจการสูบบุหรี่ในผู้ใหญ่ระดับโลก ปี 2552 ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า อดีตสิงห์อมควันสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ถึง 9 ใน 10 คน, ในจำนวนผู้ที่ยังสูบอยู่ 12 ล้านคน มีถึง 6 ใน 10 ที่คิดหรือมีแผนจะเลิกสูบ ส่วนอีก 5 ใน 10 หรือครึ่งหนึ่งของคนไทยที่สูบบุหรี่ เคยพยายามจะเลิกบุหรี่แล้ว... คุณมีเพื่อนร่วมต่อสู้อีกมากมาย อย่าเลิกล้มความพยายามเสียล่ะ!
บุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็ง 10 ชนิด!
ในมวนเล็กๆ เพียงหนึ่งมวน เมื่อเกิดการเผาไหม้จะทำให้เกิดสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด และมีถึง 70 ชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็งทั้ง 10 ชนิด ได้แก่ มะเร็งช่องปาก, มะเร็งลำคอและกล่องเสียง, มะเร็งหลอดอาหาร, มะเร็งกระเพาะอาหาร, มะเร็งไต, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งเม็ดเลือดขาว
รายงานของนายแพทย์ใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา ระบุเอาไว้ชัดเจนในปี 2553 ว่า ไม่มีระดับความปลอดภัยจากการได้รับควันบุหรี่ เพราะไม่ว่าจะได้รับมันเพียงครั้งคราว หรือรับมันมาจากคนอื่น (ควันบุหรี่มือสอง) ล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งสิ้น
เลิกเร็วเท่าไหร่ ดีขึ้นเท่านั้น
ขอจงอย่าเลิกล้มความตั้งใจที่จะเลิกบุหรี่ สักวันคุณจะทำได้ และถ้าเกิดท้อ ขอให้อ่านข้อมูลข้างล่างนี้
หลังเลิกบุหรี่ 20 นาที ความดันเลือดและชีพจนจะเต้นในระดับปกติ
หลังเลิกบุหรี่ 24 ชั่วโมง ปอดจะเริ่มขจัดเสมหะและสิ่งสกปรกต่างๆ อันเกิดจากบุหรี่ออกจากร่างกาย
1 สัปดาห์ให้หลัง เลือดจะไหลเวียนสู่แขนขาได้ดีขึ้น ทำให้สามารถออกกำลังกายได้อย่างเต็มที่
3-9 เดือนต่อจากนั้น จะไม่มีปัญหาการไอ หายใจดีขึ้น เพราะปอดกลับมาทำงานได้ตามปกติ
5 ปีถัดจากนั้น อัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง
กระทั่งเลิกบุหรี่มานาน ผ่านไป 10 ปี อัตราความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดจะลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว
ทุกวันนี้มีคนไทยเลิกบุหรี่ได้กว่า 6 ล้านคนแล้ว เพราะฉะนั้น “คุณก็ทำได้!!”
ข่าวโดย: ASTV ผู้จัดการ LIVE
เรียบเรียงข้อมูลจาก: มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (คลิกเพื่อไปยังหน้าเพจ), http://www.ashthailand.or.th/ (คลิกเพื่อไปยังหน้าเว็บ)