xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วยจอตาเสื่อมเฮ! “ศิริราช” วิจัยสเต็มเซลล์ช่วยรักษา คาด 3-5 ปีใช้งานได้จริง (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาสเต็มเซลล์เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาจอตาเสื่อม ชนิด RP
ผู้ป่วยจอตาเสื่อมมีหวัง ศิริราชจับมือกรมวิทย์ ใช้สเต็มเซลล์ฉีดเข้าวุ้นตาหวังช่วยชะลอความเสื่อม ฟื้นฟูการมองเห็น เผยอยู่ในขั้นตอนการทดสอบความปลอดภัย คาด 3-5 ปี หากไม่พบความผิดปกติมีสิทธินำมาใช้รักษาจริง

วันนี้ (28 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ตึกอำนวยการ โรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวระหว่างเป็นประธานแถลงข่าว “ศิริราชจับมือกรมวิทย์ ครั้งแรกของไทย วิจัยใช้สเต็มเซลล์ในผู้ป่วยจอตาเสื่อมชนิด RP หวังผลการรักษาในอนาคต” ว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของไทยที่ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้นำเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์มาใช้ในการศึกษาวิจัยทางคลินิกแก่ผู้ป่วยโรคจอตาเสื่อม ชนิด RP (Retinitis Pigmentosa) โดยร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งก่อนหน้านั้นภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ได้คิดค้นแยกสเต็มเซลล์บริสุทธิ์จากน้ำคร่ำและดำเนินการวิจัยต่อยอดเพื่อใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคแรก

นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า คุณสมบัติของสเต็มเซลล์สามารถสร้างเซลล์ทดแทนตนเอง โดยคงสภาพความเป็นเซลล์ต้นกำเนิดและเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์จำเพาะชนิดต่างๆ ได้ในสภาวะที่เหมาะสม นำไปสู่ความหวังในการรักษา ซ่อมแซมเนื้อเยื่อและอวัยวะที่ผิดปกติจากการเป็นโรคความเสื่อม ความสูงอายุ ฯลฯ ทำให้เกิดสาขาใหม่ที่เรียกว่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม ทั้งนี้ โรคจอตาเสื่อม ชนิด RP เป็นโรคทางพันธุกรรม ยังไม่มีวิธีใดรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงแต่ชะลอความเสื่อมของจอประสาทตาเท่านั้น ในปี 2555 กรมวิทย์จึงได้ร่วมมือกับภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ทำโครงการวิจัยพัฒนาสเต็มเซลล์ เพื่อนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาจอตาเสื่อมในอนาคต โดยกรมวิทย์ทำหน้าที่เตรียมสเต็มเซลล์ชนิด DMSc Stem Pro เพื่อให้ภาควิชาจักษุวิทยา นำไปใช้ในการพัฒนาวิธีรักษาโรคดังกล่าว ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการวิจัยทางคลินิก

นพ.สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทย์ กล่าวว่า กระบวนการเตรียมเซลล์จะดำเนินการในห้องสะอาดระดับ Class 100 มีการตรวจสอบและบำรุงรักษาอย่างดี โดยสเต็มเซลล์ที่นำมาใช้พัฒนาวิธีการรักษาโรคและฟื้นฟูความเสื่อมในผู้ป่วยโรคจอตาเสื่อมชนิด RP เป็นสเต็มเซลล์ DMSc Stem Pro ซึ่งเป็นเซลล์ต้นกำเนิดชนิด Mesenchymal Stem Cell ที่เพาะเลี้ยงจากไขกระดูกผู้ป่วยเอง พบว่า สเต็มเซลล์ที่เตรียมได้มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดสากล ISCT (International Society for Cellular Therapy) ทั้งในด้านลักษณะรูปร่าง การเจริญเติบโตยึดเกาะพื้นผิวพลาสติกภาชนะเลี้ยงเซลล์ การแสดงออกของแอนติเจนบนผิวเซลล์ และความสามารถในการเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์ไขมัน เซลล์กระดูก และเซลล์กระดูกอ่อน รวมถึงสะอาดปราศจากการปนเปื้อน Endotoxin และจุลชีพ จากนั้นนำเซลล์ที่ได้มาพิสูจน์เอกลักษณ์และตรวจสอบการปนเปื้อนประมาณ 4 สัปดาห์ แล้วนำไปบรรจุหลอดเพื่อส่งต่อให้จักษุแพทย์ฉีดเข้าวุ้นในตาผู้ป่วย

ด้าน ศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาสเต็มเซลล์เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาจอตาเสื่อม ชนิด RP กล่าวว่า เริ่มแรกจะต้องคัดเลือกผู้ป่วยก่อน จากนั้นจึงจะเก็บเลือดจากไขกระดูกของผู้ป่วยประมาณ 20 มิลลิลิตร เพื่อเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ให้เพิ่มขึ้น จากนั้นจึงนำกลับมาฉีดเข้าวุ้นตาของผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงทดลองขั้นตอนที่ 1 คือการทดสอบความปลอดภัย โดยได้ฉีดสเต็มเซลล์เข้าวุ้นตาแก่ผู้ป่วย 2 รายแล้ว รายแรกวันที่ 17 พ.ค. 2555 และรายที่ 2 วันที่ 24 ม.ค. 2556 จากการติดตามผลยังไม่พบความผิดปกติ หรือภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด ทั้งนี้ การตรวจสอบความผิดปกติจะใช้ระยะเวลาทั้งหมด 1 ปี โดยจะตรวจทุกวันอย่างต่อเนื่องใน 7 วันแรก ทั้งด้านหน้าและหลังของลูกตา จำนวนเซลล์ เป็นต้น จากนั้นจะเริ่มตรวจเป็นรายสัปดาห์และรายเดือนจนครบเดือนที่ 12

ศ.พญ.ละอองศรี กล่าวอีกว่า นอกจากผู้ป่วย 2 รายแล้ว จะมีการทดสอบในผู้ป่วยอีก 3 ราย ให้ครบ 5 ราย ภายใน 6 เดือนนี้ เพื่อให้การดำเนินการวิจัยทางคลินิกทุกขั้นเป็นไปตามแนวทางการวิจัยทางคลินิกที่ดี และคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน ทั้งนี้ คาดว่าการทดลองจะไม่พบความผิดปกติใดๆ เพราะเซลล์ที่ฉีดเข้าไปมาจากเซลล์ของผู้ป่วยเอง ซึ่งหากผลการทดสอบในผู้ป่วยทั้ง 5 รายไม่พบความผิดปกติจริง คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนก็จะอนุญาตให้ทดสอบในขั้นที่ 2 กับผู้ป่วยอีก 10 ราย เพื่อดูประสิทธิผลของการรักษา หากผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกครั้งนี้ได้ผลดี คาดว่าภายใน 3-5 ปี จะสามารถนำมาพัฒนาการรักษาผู้ป่วยโรคจอตาเสื่อมชนิด RP แต่ยังไม่สูญเสียการมองเห็นได้มาก เพื่อชะลอความเสื่อมของจอตาให้สามารถใช้สายตาในชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ

“การวิจัยขั้นแรก ผู้ที่เข้าข่ายการวิจัยจะต้องได้รับการวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์ว่าเป็นโรค RP และมีคุณสมบัติดังนี้ 1.อายุระหว่าง 18-65 ปี 2.ระดับสายตาต่ำกว่าหรือเท่ากับ 6/60 โดยการตรวจด้วยแผ่นวัดสายตา Snellen 3.ลานสายตาตรงกลางแคบกว่าหรือเท่ากับ 20 องศา และ 4.ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าจอตา ไม่สามารถวัดคลื่นได้ หรือมีความสูงของคลื่นต่ำกว่าร้อยละ 25 ของค่าปกติ” ศ.พญ.ละอองศรี กล่าว

ชมคลิป ศ.พญ.ละอองศรี อธิบายกับทีมข่าวคุณภาพชีวิต ASTVผู้จัดการออนไลน์ ถึงขั้นตอนการวิจัยใช้สเต็มเซลล์ช่วยในการชะลอความเสื่อมของตา ในผู้ป่วยโรคจอตาเสื่อมชนิด RP ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในการทดลองขั้นที่ 1 คือทดสอบความปลอดภัย






กำลังโหลดความคิดเห็น