xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์ชาติเรื่องเด็ก โจทย์ต้องชัดว่าต้องการคนในชาติแบบไหน !

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน/คอลัมน์ พ่อแม่ลูกปลูกรัก
เดี๋ยวนี้การสัมมนาที่ไหนไม่มีเรื่องอาเซียน เรื่อง AEC มาเกี่ยวข้องด้วย ดูจะไม่ทันสมัย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปร่วมงานประชุมวิชาการด้านครอบครัวระดับชาติครั้งที่ 1 และการประชุมวิชาการครอบครัวศึกษา ครั้งที่ 5 ประจำปี 2556 เรื่อง “ครอบครัวไทยในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสู่อาเซียน”
ภายในงานมีกิจกรรมเสวนาบนเวทีใหญ่และมีกิจกรรมสัมมนาห้องย่อย 4 ห้อง โดยดิฉันได้เข้าร่วมอภิปรายในห้องที่ 4 ว่าด้วยเรื่อง “นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาครอบครัวไทย 2556-2564 : สุขถ้วนทั่วครอบครัวอาเซียน” มีผู้ร่วมเสวนาคือคุณราภรณ์ พงศ์พนิตานนท์ หัวหน้ากลุ่มการพัฒนามาตรการกลไก สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ร่างงานวิจัยในเรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยมี คุณวันชัย บุญประชา จากมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวเป็นผู้ดำเนินรายการ
ประเด็นของงานสัมมนาในวันนั้นมีเป้าหมายเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างงานวิจัยนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาครอบครัวไทยปี 2557-2564 ก่อนจะนำไปสู่ร่างภาคการปฏิบัติต่อไป เพราะจะมีผลอีก 8 ปี ต่อเด็กและเยาวชน ซึ่งนั่นก็หมายความว่ารุ่นลูกหลานของเรานี่แหละที่จะได้รับอานิสงส์จากการกำหนดยุทธศาสตร์ครั้งนี้…!!
ดิฉันนำเสนอ 3 ประเด็นใหญ่ เพื่อส่งต่อให้คณะผู้วิจัยได้รับไว้พิจารณา
ประเด็นแรก โจทย์ต้องชัด
ก่อนที่จะกำหนดนโยบายหรือยุทธศาสตร์ใดๆ ต้องกำหนดโจทย์ให้ชัดก่อนว่าอยากได้ผลผลิตของประเทศชาติแบบไหน หน้าตาเป็นอย่างไร เพราะถ้าโจทย์ไม่ชัด การจะไปกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ก็ไม่ชัดตั้งแต่ต้น แต่ที่ผ่านมา เรามักกำหนดแผนบนกระดาษด้วยความสวยหรู ทั้งการเขียนที่เต็มไปด้วยคำว่าส่งเสริม พัฒนา ประสิทธิภาพ ตัวชี้วัด การติดตามผล ฯลฯ โดยที่โจทย์ไม่ชัด เป็นการร่างตามแผนและนโยบายต่อจากปีก่อนๆ
ยกตัวอย่าง ถ้าเราต้องการให้ผลผลิตของคนในชาติเป็นคนเก่งไม่โกง เป็นเด็กที่มีคุณภาพเก่งทางด้านภาษา นโยบายและยุทธศาสตร์ก็ต้องไปกำหนดกระบวนการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายให้ได้คุณภาพตามนั้น
ประเด็นที่สอง ต้องนำกระแส ไม่ใช่วิ่งไล่ตามนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่เคยดำเนินการมา เป็นการวิ่งตามกระแส ไร้แก่นแกนที่เป็นหัวใจในการขับเคลื่อน ยกตัวอย่าง พอเข้าสู่โลกเทคโนโลยี เราอยากให้เด็กไทยเราก้าวทันเทคโนโลยี วิธีการที่ภาครัฐดำเนินการคือแจกแท็บเล็ตให้กับเด็กประถมปีที่ 1 โดยไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมหรือมียุทธศาสตร์เป็นเรื่องเป็นราว และมีเป้าหมายว่า ภายหลังจากแจกไปแล้วเราต้องการอะไรจากเด็กเหล่านั้น ปัญหาถึงได้เกิดขึ้นมากมาย หรือพอกำลังจะเปิด AEC เราก็รีบมาเร่งให้เด็กเรียนสองภาษา ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รู้มาก่อนล่วงหน้า แต่ไม่ได้ถูกกำหนดอยู่ในยุทธศาสตร์หรือนโยบายอย่างชัดเจน ผลของมันจึงออกมาแบบลูบหน้าปะจมูก
ประเด็นที่สาม ต้องกำหนดเอกภาพการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เราไม่เคยมีนโยบายหรือยุทธศาสตร์ในการกำหนดเอกภาพในการเรียนรู้ของเด็กและครอบครัว ว่าควรไปในทิศทางไหน
ถามว่าแหล่งการเรียนรู้ของเด็กไทยอยู่ที่ไหน ?
ยังคงเป็นท้องฟ้าจำลอง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สวนสัตว์ อยู่หรือไม่ เท่าที่จำได้ก็ตั้งแต่สมัยดิฉันยังเด็ก และส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่โรงเรียนพาไปทัศนศึกษา
บางคนอาจเถียงว่าเยอะแยะไปหมด มีแทบทุกจังหวัด เดี๋ยวนี้จังหวัดนั้นก็มีสวนสัตว์ จังหวัดนี้ก็มีอะควาเรียม แล้วก็มีสารพัดสัตว์เหมือนกันไปหมด แต่มันถูกกำหนดด้วยวิธีคิดที่ออกแบบมาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดมากกว่าที่ถูกออกแบบมาให้เป็นแหล่งการเรียนรู้
แม้แต่พิพิธภัณฑ์ของท้องถิ่น หรือชุมชนก็แล้วแต่บุญแต่กรรม มีงบประมาณก็พอเอาตัวรอด แต่บางแห่งที่ไม่มีงบประมาณก็ถูกปล่อยทิ้งร้าง หรือไม่ก็ไม่มีชีวิต ปล่อยให้คงสภาพแบบนั้นไปเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดก็เฉาไปเอง
ถามว่าแล้วเด็กไทยไปไหนกัน?
เด็กไทยไปศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้ากันหมด เพราะภายในศูนย์การค้ามีหมด ทั้งสวนสัตว์ สวนน้ำ สวนสนุก ร้านอาหาร สถานที่กวดวิชา ร้านเกม แม้กระทั่งคาราโอเกะ ฯลฯ
ทิศทางการพัฒนาของบ้านเราก็เลยมีแต่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และแข่งขันกันใหญ่ที่สุด มีสาขามากที่สุด
ในขณะที่หันไปมองต่างชาติ ประเทศที่เข้าพัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญเรื่องแหล่งการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนคนในชาติของเขาเป็นอย่างมาก มีพิพิธภัณฑ์ดีๆ ที่ภาครัฐส่งเสริมอย่างจริงจัง และสนับสนุนให้โรงเรียนและครอบครัวพาเด็กๆ ไปเรียนรู้อย่างมาก เขาออกแบบให้เป็นยุทธศาสตร์ของชาติโดยให้พิพิธภัณฑ์และแหล่งการเรียนรู้ดีๆ ให้เป็นส่วนหนึ่งของคนในชาติตั้งแต่เล็ก
บางประเทศใช้พิพิธภัณฑ์สอนรากฐานของชาติ การสร้างชาติ กว่าจะเป็นชาติได้ เขาถึงทำให้คนในชาติรักชาติ

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือเราต้องยอมรับว่าขณะนี้สังคมเรามีปัญหา เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งโจทย์ตั้งแต่แรกให้ชัด และทำความเข้าใจว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน รวมไปถึงโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป ผู้คนมีลูกน้อยลง แต่งงานช้า และหย่าร้างมากขึ้น มีความซับซ้อนของครอบครัวมากขึ้น
โครงสร้างและรูปแบบของสถาบันครอบครัวมีรูปแบบเปลี่ยนไปมากพอจะคร่าวๆ มีอยู่ 4 กลุ่ม
กลุ่มที่หนึ่งพ่อแม่ท้องไม่พร้อม
กลุ่มที่สองพ่อแม่หย่าร้าง
กลุ่มที่สามพ่อแม่มีความพร้อมทุกด้าน แต่เลี้ยงดูไม่ถูกวิธี
กลุ่มที่สี่ พ่อแม่เลี้ยงดูอย่างเหมาะสม แต่เป็นกลุ่มที่มีจำนวนน้อยมาก
นั่นหมายความว่าเด็กๆ ที่เติบโตมาให้ครอบครัวกลุ่มที่หนึ่งถึงกลุ่มที่สามมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหา ทั้งจากสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู เพราะฉะนั้นการออกแบบนโยบายและยุทธศาสตร์ต่างๆ ก็ต้องออกแบบให้สอดรับกับกลุ่มเด็กเหล่านี้ที่จะต้องเติบโตขึ้นไปด้วย
การร่างนโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัวจะเขียนให้สวยหรูขนาดไหนก็เขียนได้ แต่เขียนเพื่อสามารถนำไปปฏิบัติและกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเด็กและครอบครัวจริงๆ ท่ามกลางสภาพสังคมแบบที่เห็นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้…ยังนึกไม่ออกเลยว่าจะเป็นไปได้ !!!


กำลังโหลดความคิดเห็น