วงประชุมวิชาการ เผยสถานการณ์ครอบครัวไทยอ่อนแอลง ความรุนแรง-หย่าร้างเพิ่ม พร้อมดันงานวิจัยปรับใช้สู่อาเซียน ด้าน “สมาคมครอบครัวศึกษาฯ” ระบุ กฎหมายครอบครัวต้องเข้ม เน้นสร้างภูมิ เกิดความรู้ความเข้าใจ
วันนี้ (21 มิ.ย.) ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในเวทีประชุมวิชาการด้านครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2556 หัวข้อ “ครอบครัวไทยในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสู่อาเซียน” โดย นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานมอบรางวัลผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ดีเด่นด้านครอบครัว นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแสดงนิทรรศการ ลานวัฒนธรรม สีสันของความกลมกลืน และการแสดงผลงานวิชาการเพื่อเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลงานวิจัยด้านครอบครัวแก่ผู้ร่วมงาน
นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและครอบครัว กล่าวว่า กระทรวงมีการรณรงค์ให้ทุกวันเป็นวันของครอบครัว ซึ่งผลงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวข้องกับการทำงานให้ครอบครัวเข้มแข็ง เน้นการมีส่วนร่วม การบูรณาการ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามากกว่าป้องกันปัญหา ทั้งนี้การนำงานวิจัยมาใช้เตรียมตัวเข้าสู่อาเซียน ไม่ใช่เพียงการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ต้องมีการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ตามความเหมาะสม เช่น การฝึกอบรมไอทีให้กับสตรีในการประกอบธุรกิจขนาดย่อม การเตรียมพร้อมรับกับทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
“การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะทำให้เกิดครอบครัวต่างวัฒนธรรม มีการแลกเปลี่ยนแรงงานวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ พยาบาล ดังนั้นความเข้มแข็งของครอบครัวจะเป็นไปในลักษณะใด และประเด็นที่มีความสำคัญมาก คือ จำนวนประชากร ประเทศไทยต้องการประชากรมากขึ้น แต่อัตราการเกิดน้อยลง เด็กที่เกิดส่วนหนึ่งมาจากแม่ที่ท้องไม่พร้อม นอกจากนี้จำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้น ดังนั้นในอนาคตควรมีนโยบายในการส่งเสริมให้ประชาชนมีลูก ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ สถาบันครอบครัวอ่อนแอลง การหย่าร้างเพิ่มขึ้น ความรุนแรงในครอบครัวที่ยังเป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ มาจากเรื่องทัศนคติ การลอกเลี่ยนแบบ มีค่านิยมที่ผิดๆ ชอบใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และผลงานวิจัยจะเป็นประโยชน์ที่เชื่อถือได้ในอนาคตโดยจะสามารถนำไปใช้ได้ในวงกว้าง” นายสมชาย กล่าว
ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร เลขาธิการสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้กฎหมายด้านครอบครัว มี 3 รูปแบบ คือ กฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิบางอย่างสำหรับครอบครัว เช่น การจดทะเบียนสมรส การแจ้งเกิด กฎหมายที่เกี่ยวกับสมาชิกในครอบครัว เช่น กฎหมายเด็ก กฎหมายผู้สูงอายุ ฯลฯ และกฎหมายที่เกี่ยวกับครอบครัวโดยตรง คือ กฎหมายความรุนแรงในครอบครัว อย่างไรก็ตาม กฎหมายครอบครัวยังมีหลายประเด็นที่ต้องถกเถียงอภิปราย ดังนั้น การพัฒนากฎหมายเพื่อส่งเสริมครอบครัว ต้องมีสภาพการทำงานที่เอื้อต่อครอบครัว การจัดบริการสำหรับครอบครัวและเด็กโดยตรง และเป็นที่น่าดีใจ ที่เรามีเครือข่าย นักพัฒนาครอบครัว กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มเห็นความสำคัญ ในการพัฒนาศักยภาพของครอบครัว ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีการยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว พ.ศ....และหากกฎหมายนี้ออกมาแล้ว ต้องมีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด และสื่อสารรณรงค์ให้ครอบครัวมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรู้สิทธิและหน้าที่