xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าจัดประชุมนานาชาติ ถก“สิ่งแวดล้อม-ธรรมาภิบาล-ความสามารถในการแข่งขัน”สู่ภาคปฏิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.รุจิระ โรจนประภายนต์
นิด้าเตรียมจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ICADA 30 พ.ค.-1 มิ.ย.นี้ ชี้ผู้เข้าร่วมประชุมเป้าหมายหลักจะเป็นชาวต่างประเทศร่วมกับผู้ประชุมชาวไทยทั้งคณาจารย์ นักศึกษาของสถาบัน และนักวิชาการ นักวิจัย และนิสิตนักศึกษา มุ่งเนื้อหาสำคัญ 3 เรื่อง สังคมสีเขียว - ธรรมาภิบาล - ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า โดย ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี เตรียมจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ICADA (The second International Conference on Advancement of Development Administration 2013-Social Sciences and Interdisciplinary Studies) ในวันที่ 30 พฤษภาคม-1 มิถุนายนนี้ โดยผู้เข้าร่วมประชุมเป้าหมายหลักจะเป็นชาวต่างประเทศในแถบเอเชีย แถบยุโรปตะวันออก (โดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต) แถบแอฟริกาและออสเตรเลีย กว่า 50 คน ร่วมกับผู้ประชุมชาวไทยทั้งคณาจารย์ นักศึกษาของสถาบัน และนักวิชาการ นักวิจัย และนิสิตนักศึกษา

งานประชุมนานาชาติครั้งนี้มีแนวและเนื้อหาสำคัญ 3 เรื่องคือ 1.เรื่องสังคมสีเขียว (Green society)2.เรื่องธรรมาภิบาลของทั้งภาครัฐและเอกชนGovernanceและ 3.เรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Competitiveness)

ผศ.รุจิระ โรจนประภายนต์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายงานประชุมและสัมมนาสากล กล่าวว่า งานประชุมครั้งนี้จะเป็นงานประชุมที่เน้นความเป็นสังคมศาสตร์ บริหารการพัฒนา และการบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ และเปิดให้นักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติที่ทำวิจัยเกี่ยวกับหัวข้อทั้ง 3 ส่งผลงานวิจัยมาเข้าร่วมพิจารณาได้

“งานวิจัยที่ส่งมาเข้าร่วมนั้นส่งมาเกือบ 100 หัวข้อ ทั้งบทคัดย่อและบทความฉบับเต็ม ซึ่งคณะกรรมการก็มีคัดเลือกมา 80 หัวข้อ ที่จะนำมาเสนอนั้น เป็นการตอบโจทย์ทั้งสังคมไทย และนานาชาติ”

โดยเฉพาะเรื่องใหญ่คือปัญหาโลกร้อน ที่ต้องร่วมกันแก้ไข ยังมีงานวิจัยในส่วนของปัญหาโลกร้อนนี้มีหลายฉบับ ทั้งปัญหาในประเทศไทยและนานาชาติ เช่น สังคมไทยขณะนี้มีสภาพแวดล้อม และสภาวะภูมิอากาศที่ผิดปกติอย่างมาก ไม่เป็นไปตามฤดูกาล รวมทั้งเกิดปัญหาทั้งภัยแล้ง และน้ำท่วม เป็นเพราะสาเหตุใด เรื่องนี้นักวิชาการให้ความสนใจว่าการปลุกจิตสำนึกคนไทยให้รักษาสภาพแวดล้อมจะทำอย่างไร หรือนโยบายการจัดโครงสร้างการสร้างสถาปัตยกรรมของประเทศไทย เช่น นโยบายโซนนิ่งที่ดีต่อการเป็นสังคมสีเขียวของประเทศไทยเป็นอย่างไร ของต่างประเทศเป็นอย่างไร และมีข้อเสนอแนะการจัดการแก้ปัญหาอุปสรรค

มีการเน้นเรื่องธรรมาภิบาล กรณีประเทศไทยมีการศึกษาว่า ความขัดแย้ง การคอร์รัปชั่น การขาดความรับผิดชอบ การกระจายอำนาจไม่เท่าเทียม ล้วนเป็นปัญหามาจากกระบวนการบริหารจัดการ เพื่อพิจารณาวิธีการแก้ปัญหาจะทำอย่างไร ซึ่งมีงานวิจัยของต่างประเทศที่หลากหลายมาร่วม เช่นประเทศอื่นๆ มีปัญหาสังคมย่อยของตัวเองอย่างไร ที่มีเหตุจากการไม่บริหารจัดการ และการบริหารจัดการควรจะมีการทำอย่างไร งานวิจัยเรื่องเด่นๆ เช่น การตั้งระบบบัญชีเพื่อตอบโจทย์ของโรงสีในเมืองไทยเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการบริหารจัดการโรงสีเมืองไทยหลายๆโรงนั้นยังขาดความสามารถในการบริหาร ไม่มีการจัดการที่ดี หากมีการจัดการที่ดีจะช่วยรัฐบาลอย่างมากในการเก็บภาษีเข้ารัฐได้มากขึ้น ขณะเดียวกันโรงสีก็จะมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น งานวิจัยอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกันในการทำโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในชุมชน ระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชนควรจะเป็นอย่างไร มีความร่วมมืออย่างไร เงินทุนอย่างไร การจัดการควรเป็นอย่างไร และคนในชุมชนรู้สึกมีความจำเป็นหรือไม่กับการมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในชุมชน เป็นต้น

ส่วนเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขันนั้น การมีสังคมสีเขียว และการบริหารจัดการภาครัฐและภาคเอกชนที่ดีนั้น จะนำมาสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งในยุคนี้ก็ต้องอยู่ในกรอบของการดูแลสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาล เช่น เรื่องของ CSR ไม่ได้เป็นเรื่องที่ตอบโจทย์แค่วงการธุรกิจ แต่ทุกหน่วยงานในสังคมจะต้องมีการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม

ผศ.ดร.รุจิระ เปิดเผยว่า อย่างงานของตนเองนั้นก็จะมีการนำเสนอในเรื่องWord of Mouth ในกรณีการสื่อสารการตลาดว่าต้องระวัง หากทำอะไรไม่ดีออกไป พูดอะไรไม่ดีออกไปแล้ว จะเป็นเรื่องที่หยุดไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ภาคธุรกิจที่ต้องคำนึงถึง แต่ภาครัฐก็เช่นกัน
“การเข้าร่วมฟังงานวิจัยระดับนานาชาติจึงมีประโยชน์มาก จะมีงานวิจัยจากหลายประเทศที่จะนำมาแบ่งปันข้อมูล องค์ความรู้กัน เหมือนเราไปดูงานต่างประเทศ ซึ่งในงานที่จัดเป็นแบบเสวนาก็ที่นักวิชาการแต่ละคนสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นต่องานวิจัยนั้นๆ เพื่อเจ้าของงานวิจัยจะได้ไปปรับปรุงเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งจะทำให้การพัฒนาด้านวิชาการของไทย”

เป็นผลดีนักวิชาการ นักศึกษา และประชาชนในเมืองไทยมีโอกาสเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นได้ในวันที่ 30 พฤษภาคม-1มิถุนายนนี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างไร เพียงแต่ต้องสำรองที่นั่งล่วงหน้าเท่านั้นที่ http://www.icada2013.nida.ac.th/main/ ทั้งนี้ การประชุมทั้งหมดจะดำเนินการเป็นภาษาอังกฤษ
กำลังโหลดความคิดเห็น