ศูนย์ข่าวศรีราชา - แผนก่อสร้างหอดูดาวส่วนภูมิภาคในจังหวัดฉะเชิงเทราสะดุด หลังงบประมาณถูกตัดจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์พื้นที่ชี้ทำเยาวชนที่ต้องการศึกษาด้านดาราศาสตร์ พลาดโอกาสสำคัญในการฝึกฝนประสบการณ์เรียนรู้จากท้องฟ้าจริง
เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (31 พ.ค.) นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า การก่อสร้างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ในพื้นที่ ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ตามโครงการก่อสร้างหอดูดาวส่วนภูมิภาค สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์และอวกาศ นำไปสู่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนของชาติ ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ รวม 5 แห่ง คือ จ.ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา และพิษณุโลก ตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น ล่าสุด โครงการดังกล่าวในจังหวัดฉะเชิงเทราต้องหยุดชะงักลง
ทั้งนี้ เนื่องจากขาดงบประมาณที่จะนำมาดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งที่ผ่านมา การก่อสร้างหอดูดาวส่วนภูมิภาคในจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ก่อสร้างในส่วนตัวอาคารหอดูดาว และอาคารท้องฟ้าจำลองไปแล้ว ด้วยงบประมาณ 50 ล้านบาท จากงบเดิมที่จะได้รับ 210 ล้านบาท รวมถึงยังได้รับเงินทุนสนับสนุนจากภาคเอกชนในการสร้างสวนพฤกษศาสตร์ อีก 18 ล้านบาท สำหรับปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ
โดยปัจจุบัน ยังเหลือการก่อสร้างในส่วนลานดูดาว ห้องประชุม และการติดตั้งอุปกรณ์ภายในที่ต้องใช้งบประมาณอีก 160 ล้านบาท ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่งบดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“ขณะนี้ตัวอาคารหอดูดาว พร้อมอาคารท้องฟ้าจำลองมีแต่ตัวอาคารเปล่าๆ ตั้งตระหง่านอย่างเงียบเหงา บนเนื้อที่ 36 ไร่ และยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่มีการประชุม ครม.สัญจรในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา หน่วยงานเกี่ยวข้องก็ได้เสนอขอเงินงบประมาณในส่วนที่เหลือเข้าไป และคาดว่าจะได้รับการพิจารณาอนุมัติงบประมาณใหม่ในช่วงของปีงบประมาณถัดไป คือ ประมาณเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็คาดว่าจะสามารถลงมือก่อสร้างเพิ่มเติมได้ในช่วงต้นปีหน้า”
นายวรวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า โครงการก่อสร้างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษาที่มีความล่าช้า ทำให้นักดาราศาสตร์รุ่นใหม่ หรือเยาวชนที่ต้องการศึกษาด้านดาราศาสตร์ต้องพลาดโอกาสสำคัญในการฝึกฝนประสบการณ์ในการศึกษาเรียนรู้จากท้องฟ้าจริงไปอีกหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์ที่จะมีดาวเคราะห์น้อย 1998 QE2 ผ่านใกล้โลก ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างหอดูดาวแห่งนี้