xs
xsm
sm
md
lg

Sunshine Act: กฎหมายที่เรียกร้องให้ “วงการยา” เปิดหน้ากาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย....รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลฝรั่งเศสผ่านกฎหมายเพื่อแสดงความโปร่งใสในการทำงาน (Sunshine Act) ของ บริษัทยา โดยกำหนดให้บริษัทยาเปิดเผยมูลค่าของขวัญที่มอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ กฎหมายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานระหว่าง บริษัทยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคลากรทางการแพทย์ ที่อาจจะเกิดขึ้นในการเลือกใช้ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ รายละเอียดในการเปิดเผยข้อมูลคือ หากมูลค่าของขวัญที่มอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ สูงกว่า 10 ยูโร ขึ้นไป บริษัทผู้ให้ของขวัญจะต้องเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัท และเว็บไซต์ขององค์กรวิชาชีพด้านสุขภาพซึ่งเป็นผู้รับของขวัญ
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
กฎหมายเพื่อแสดงความโปร่งใสในการทำงานของฝรั่งเศสฉบับนี้ ตราขึ้นหลังจากสหรัฐอเมริกาได้ตราบทบัญญัติในกฎหมายมหาชน ในปี 2553 ที่ชื่อว่า Physician Payment Sunshine Provisions และมีผลบังคับใช้ในปี 2555 โดยบทบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเผยความสัมพันธ์อย่างโปร่งใส ระหว่างแพทย์ผู้สั่งใช้ยากับบริษัทยา ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยบทบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้บริษัท ยา ชีว-วัตถุและบริษัทเครื่องมือแพทย์ ต้องรายงานให้สาธารณะรับทราบถึง การให้เงินหรือสิ่งของที่บริษัทจ่ายให้แก่แพทย์ และโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ทุกปี โดยให้รายงานยอดค่าใช้จ่ายที่อยู่ในรูปตัวเงินและอื่นๆ ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 10 เหรียญสหรัฐขึ้นไป หรือ 100 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อปี ยกเว้น เมื่อมียอดสะสมเกินกว่ามูลค่าที่กำหนด จึงจะต้องรายงานย้อนหลัง หากฝ่าฝืนโดยมีเจตนาไม่ยื่นแสดงรายการค่าใช้จ่ายจะต้องถูกปรับเป็นเงินโดยมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา แต่ไม่เกิน 10,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา โดยยอดรวมทั้งหมด ปรับสูงสุดได้ไม่เกิน 1,000,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างรายการ “ค่าใช้จ่าย” ที่ต้องเปิดเผยแก่สาธารณะ เช่น ของขวัญ อาหาร ความบันเทิง ค่าเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยง เงินทุนสนับสนุนการวิจัย เงินสมทบการกุศล เงินสนับสนุนบริการการศึกษาของมหาวิทยาลัย ค่าที่ปรึกษา เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย การแสดงความโปร่งใสในการทำงานระหว่างบริษัทยา และบุคลากรทางการแพทย์นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองใช้เกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยา ซึ่งเป็นการดำเนินงานแบบสมัครใจ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีหากแนวทางสมัครใจนี้จะนำสังคมไทยไปสู่สังคมที่ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นความโปร่งใสในการทำงานระหว่างบริษัทยา และบุคลากรทางการแพทย์ ที่น่าจะส่งผลให้ในอนาคตทุกฝ่ายร่วมกันป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในการเลือกใช้ยา เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในกลุ่มประชาชนผู้รับบริการสุขภาพ

อยากให้หลายฝ่ายช่วยกันประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะบรรลุผลตามที่สังคมคาดหวังไว้หรือไม่ และเราจำเป็นต้องออกกฎหมาย Sunshine Act หรือไม่ เพื่อเปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงของคนใน “วงการยา” ที่ซ่อนใต้หน้ากาก


กำลังโหลดความคิดเห็น