ส.ส.เมืองคอน ปชป.เชื่อ กมธ.ที่มา ส.ว.เร่งถกให้ทันสมัยวิสามัญร่าง พ.ร.บ.รายจ่าย 57 ตามบัญชานายใหญ่ แถม ส.ว.เลือกตั้งหวังต่อวาระ แจง กมธ.สรุปคำแปรญัตติ ให้ ส.ส.ถกต่อ ปชป.ให้เอกสิทธิ์ แนะแก้จากจังหวัดละคน กทม.ควรมี 3 คน ห้ามผัวเมีย ส.ส.ลง ยกเว้นลูก ดักห้าม ส.ว.ชุดนี้สมัคร กันผลประโยชน์ทับซ้อน ส.ส.ควรทิ้งช่วง 4 ปีหากลง ชี้ยังเฉยให้ยุบ ส.ว. เพราะไม่ต่างจาก ส.ส. ตอก พท.หวังโอน ส.ส.นั่ง ส.ว.
วันนี้ (14 พ.ค.) นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ตั้งข้อสังเกตถึงการเร่งรีบพิจารณาร่างดังกล่าวของกรรมาธิการฯ ว่า น่าจะเป็นเพราะต้องการให้เสร็จทันสมัยวิสามัญที่จะเปิดเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ในวันที่ 28 พ.ค.นี้ จึงอยากตั้งคำถามว่าได้รับแรงกดดันจากส่วนใดหรือไม่ ทั้งนี้เชื่อว่าน่าจะเป็นไปตามความต้องการของนายใหญ่และ ส.ว.เลือกตั้งที่ต้องการต่ออายุตัวเอง โดยนายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการฯ ให้มีการสรุปประเด็นทั้งหมดที่มีการสงวนคำแปรญัตติในส่วนของกรรมาธิการฯ และให้สมาชิกรัฐสภาที่สงวนคำแปรญัตติ 200 กว่าท่าน เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์กว่า 100 คน โดยพรรคให้เอกสิทธิ์ในการแปรญัตติตามความต้องการของทุกคน สาระสำคัญของแต่ละมาตรา คือ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน ซึ่งที่ประชุมกำหนดให้เลือก 1 คน 1 เบอร์ แตกต่างจากร่างเก่า กำหนดให้ ส.ว.มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยใช้หลักคิดว่าเมื่อ ส.ว.สมัครรับเลือกตั้งต่อได้ก็ควรมีวาระเท่ากับ ส.ส. และมีการปลดล็อก ส.ส.ให้ลาออกไปสมัคร ส.ว.ได้ในทันทีโดยไม่มีเงื่อนเวลา นอกจากนี้ควรปลดล็อกเรื่องบุพการี คู่สมรส ครอบครัว คือพ่อแม่ลูกเมียสมัครได้หมด ส่วน ส.ว.สรรหาที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อนั้นก็มีความคิดในบางส่วนว่าต้องการให้สิ้นสภาพไปทั้งหมด
นายเทพไทกล่าวว่า ในฐานะที่เป็นกรรมาธิการชุดนี้เห็นว่าการใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและสามารถเลือกได้ 1 คน 1 เบอร์นั้น เห็นว่า กทม.ควรแบ่งเป็น 3 เขต การห้ามผู้สมัครที่เกี่ยวข้อง กับ ส.ส.คิดว่าควรต้องห้ามสามีภรรยาของ ส.ส.ลงสมัคร เพราะตามกฎหมายถือเป็นบุคคลคนเดียวกัน ส่วนพ่อ แม่ ลูก ถือว่าเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ที่มีข้อครหามาก คือ การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่มี ส.ว.มาเกี่ยวข้อง ถูกวิจารณ์ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะให้ ส.ว.ลงสมัครต่อได้ทันที จึงเห็นว่าควรจะไม่ให้ ส.ว.ชุดนี้สมัครเพราะจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วน ส.ส.ที่จะลงสมัคร ส.ว.ควรจะไม่ได้เป็น ส.ส.นาน 4 ปี จึงจะลงสมัครได้
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่ผ่านความเห็นชอบของกรรมาธิการฯ ก็ควรยุบ ส.ว.ไปดีกว่า เพราะซ้ำซ้อนกับ ส.ส. เพียงแต่ไม่ได้สังกัดพรรค และต่อไปจะมี ส.ว.อาชีพโดยมีจุดกำเนิดจาก ส.ว.เลือกตั้งชุดนี้ ซึ่งมีหัวโจกอยู่ไม่กี่คน อีกทั้ง ส.ส.จะลาออกไปลงสมัคร ส.ว.มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญเปิดทางให้ ส.ส.ไปสมัคร ส.ว.ได้ทันทีนั้น เป็นการแก้ปัญหาของพรรคเพื่อไทยเพื่อถ่ายเทคนจากบัญชีหนึ่งไปบัญชีสองด้วย