xs
xsm
sm
md
lg

“จุฬาฯ” ขุดโฉนดมัดที่ “อุเทนฯ” เป็นกรรมสิทธิ์ชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุฬาฯ งัดหลักฐาน เอกสารทั้งทางกฎหมาย และประวัติศาสตร์ยืนยันที่ดินอุเทนถวายตั้งอยู่เป็นของจุฬาฯ รองอธิการ จุฬาฯ ลั่นโอนกรรมสิทธิ์ไม่มีทางทำได้ เพราะมี กม.กำกับไว้ ยันนำพื้นที่บริเวณดังกล่าวพัฒนาเพื่อการศึกษา ย้ำจุฬาฯ-อุเทน ไม่ใช่คู่กรณีกันแต่หมดเวลาที่นั่งคุยกันเอง ต้องให้ ก.ศึกษาฯ ในฐานะผู้กำกับดูแลมาเป็นตัวกลางกำหนดนโยบายให้ชัด ด้าน ตัวแทน นศ.อุเทนถวาย เข้ามาร่วมรับฟังด้วย

วันนี้ (14 มิ.ย.) ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดี จุฬาฯ พร้อมด้วย รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ และ ดร.คณพล จันทน์หอม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย จุฬาฯ แถลงข่าวกรณีสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ได้ยื่นจดหมายลงวันที่ 15 มีนาคม 2556 เรื่องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนให้แก่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย โดยชี้แจงว่าเนื้อหาในจดหมายดังกล่าวเป็นการตีความเอกสารทางประวัติศาสตร์อย่างคลาดเคลื่อน
อ.คณพล โชว์โฉนดที่ดินจุฬา
โดย รศ.ดร.สุเนตร กล่าวว่า เนื้อหาในจดหมายดังกล่าวเป็นการตีความเอกสารทางประวัติศาสตร์อย่างคลาดเคลื่อน เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่อุเทนถวายยกขึ้นมาอ้างอิงโดยตลอดนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวข้องหรืออ้างถึงการพระราชทานที่ดินให้แก่อุเทนถวาย หากจะเอามาอ้างเป็นประเด็น อ้างความชอบธรรม ก็ไม่ทราบว่าจะคืนที่ดินให้อุเทนถวายได้อย่างไรเพราะไม่มีการมอบให้กันมาก่อน นอกจากนี้ จุฬาฯ มีหลักฐานประวัติศาสตร์ที่มาชัดเจนว่าการสถาปนาเป็นไปตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงเสด็จฯเป็นองค์ประธานวางศิลาพระฤกษ์และด้านข้างยังปรากฏศิลาจารึกด้วย ซึ่งภายในศิลาจารึกได้ระบุอาณาเขตพื้นที่และสิทธิ์ทางกฎหมายที่สอดประสานกับการพระราชทานที่มีมาแต่แรก คือ ทิศเหนือจดถนนสระปทุม ทิศใต้จดถนนหัวลำโพง ตะวันออกจดถนนสนามม้า และตะวันตกจดคลองสวนหลวง รวมอาณาเขตทั้งหมด 1,309 ไร่ รวมพื้นที่ของอุเทนถวายและครอบคลุมเขตพื้นที่ของอุเทนถวายแน่นอน ซึ่งน่าแปลกที่อุเทนฯ ไม่เคยพูดถึงหลักฐานชิ้นสำคัญนี้เลย

ด้าน ดร.คณพล กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2480 ปรากฏให้มีการจัดตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนั้น เพื่อจะได้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงได้มีการนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานเลิกสัญญาเช่า และขอพระราชทานที่นี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่จุฬาฯ ซึ่งก็ได้พระราชทานลงมา และรัฐบาลก็ได้นำกฎหมายพ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2482 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และไม่มีใครคัดค้าน ดังนั้น ตามกระบวนการและความชอบด้วยกฎหมายขณะนั้น จึงได้ตราออกมาเป็น พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2482 โดยมีแผนที่ออกมาชัดเจนซึ่งตั้งแต่นั้นจุฬาฯถือว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยถูกต้องตามกฎหมาย จนกระทั่งจุฬาฯ ออกนอกระบบมีการออก พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551 ในมาตรา 16 ระบุชัดเจนว่า ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ของจุฬาฯไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ และในมาตรา 16 ยังระบุได้ด้วยว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจุฬาฯ ที่ได้มาตาม พ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินฯ พ.ศ.2482 นั้นจะกระทำมิได้ ดังนั้น ในแง่กฎหมายการดำเนินการตามข้อเรียกร้องของนักศึกษาอุเทนถวายที่ขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้อุเทนถวาย จึงกระทำมิได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การยื่นถวายฎีกาของตัวแทนฝ่ายอุเทนถวาย ซึ่งได้รับหนังสือตอบกลับจากสำนักราชเลขาธิการที่แจ้งให้เป็นไปตามวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติให้การดำเนินการคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ที่มีมติให้อุเทนถวายขนย้ายและส่งมอบพื้นที่ให้จุฬาฯ ซึ่งถือเป็นข้อยุติที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับในพระราชวินิจฉัย
ตัวแทนอุเทนมาร่วมรับฟัง
ขณะที่ รศ.ดร.บุญไชย กล่าวว่า ยืนยันว่าการขอโอนกรรมสิทธิ์ เป็นไปไม่ได้ เพราะมี พ.ร.บจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551 กำกับแม้เราจะอยากทำ แต่ก็ทำไม่ได้เพราะขัดต่อกฎหมาย ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องเป็นเจ้าภาพในการหาพื้นที่ใหม่อุเทนถวาย ทางจุฬาฯ เรียกร้องขอให้ทุกฝ่ายเคารพมติของ กยพ.ที่มีมติให้อุเทนถวาย ขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้กับจุฬาฯ แต่ทั้งนี้จุฬาฯก็ตระหนักดีว่าเรื่องการย้ายเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องมีการวางแผนในการหาพื้นที่และงบประมาณ ดังนั้น จึงไม่ได้เร่งรัดว่าอุเทนถวายจะต้องออกจากพื้นที่ในวันนี้หรือพรุ่งนี้ ส่วนจุฬาฯ ยืนยันว่าจะไม่มีการนำพื้นที่อุเทนถวายไปใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างแน่นอน เพราะจุฬาฯ แบ่งพื้นที่ชัดเจน เป็นเขตพื้นที่การศึกษา และเขตพื้นที่พาณิชย์ ซึ่งพื้นที่อุเทนถวายอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษา และจุฬาฯ จะนำพื้นที่อุเทนถวายไปพัฒนาโครงการศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชน ซึ่งเป็นการขยายพื้นที่การศึกษาของมหาวิทยาลัย รวมทั้งเป็นการสร้าง

“จุฬาฯกับอุเทนถวายไม่ใช่คู่กรณีกัน จุฬาฯเคารพในความเป็นสถาบันการศึกษาของอุเทนถวาย ซึ่งการมายื่นหนังสือเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมในการแสดงออกและอุเทนถวายยืนยันว่าจะการดำเนินทุกอย่างจะเป็นไปอย่างสงบ ดังนั้นจุฬาฯ จึงไม่ได้ปิดการเรียนการสอน กิจกรรมทุกอย่างยังดำเนินไปตามปกติ ทั้งนี้จุฬาฯยืนยันว่า ยังจำเป็นต้องขยายเขตการศึกษาออกไป เพราะปัจจุบันจุฬาฯมีจำนวน นิสิต 40,000 คน คณาจารย์ บุคลากร รวมกว่า 8,000 คน และด้วยจำนวนบุคลากรที่มากจึงจำเป็นต้องขยายเขตการศึกษาออกไป เพื่อสร้างองค์ความรู้พัฒนาประเทศ และเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของอุเทนถวายกับจุฬาฯเท่านั้น ยังมีองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น ศธ.ในฐานะผู้บังคับบัญชา ต้องลงมาจัดการอย่างไรอย่างหนึ่งในเชิงนโยบายให้มีความชัดเจนว่า เราจะเดินหน้ากันอย่างไร ส่วนกรณีที่อุเทนถวาย เสนอจะขอพูดคุยกันระหว่างสองสถาบันนั้น คงเป็นไปไม่ได้เพราะตอนนี้กระบวนการทุกอย่างจบไปหมดแล้ว และเป็นสิ่งที่นอกเหนือขอบเขตอำนาจของจุฬาฯ จำเป็นต้องมีคนกลางซึ่งคือศธ.ที่เป็นผู้บังคับบัญชามาตัดสิน” รองอธิการบดีจุฬาฯกล่าว
อ.คณพล -อ.สุเนตร-อ.บุญชัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการแถลงข่าวตัวแทนนักศึกษาอุเทนถวาย เดินทางมาร่วมรับฟังการแถลงข่าวพร้อมชี้แจงและเสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่หากทางจุฬาฯ และอุเทนถวายจะมาหารือร่วมกัน 2 ฝ่ายอย่างสันติวิธี และจะนำข้อมูลที่ได้รับฟังกลับไปหารือกับทางกลุ่มนักศึกษาอีกครั้ง แต่ยังยืนยันว่าในช่วงเวลา 13.00 น.ของวันนี้นักศึกษาอุเทนถวาย จะเดินขบวนมาจุฬาฯ แน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น