xs
xsm
sm
md
lg

ทวงที่ดิน! อุเทนถวาย นัดเดินขบวนทวงคำตอบจาก จุฬาฯ อีกครั้งพรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเมื่อครั้งเดินขบวนเมื่อวันที่ 15 มี.ค.56
อุเทนถวายนัดเดินขบวนไปจุฬาฯ อีกครั้ง 14 มิ.ย.นี้ ทวงกรรมสิทธิ์ที่ดินพระราชทาน หลังรอคำตอบมา 90 วัน ขู่ถ้าได้คำตอบไม่น่าพอใจเคลื่อนไหวครั้งต่อไปหน้ายกระดับรุนแรงขึ้น ปิดถนนเส้นพญาไท ยื่นหนังสือถึง ครม.ให้แก้ กม.จุฬาฯโกงที่ดิน

วันนี้ (13 มิ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทยถวาย คณะพิทักษ์สิทธิ์เพื่อการศึกษาอุเทนถวาย (คพศ.) ประกอบด้วย คณะศิษย์เก่าอุเทนถวาย สโมสรนักศึกษา และนักศึกษาปัจจุบัน แถลงข่าวทวงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพระราชทาน โดยมี นายวรพงษ์ เยาหะรี ศิษย์เก่ารุ่นที่ 69 กล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ออกมาชี้แจงเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินครั้งนี้ ไม่ได้บอกว่าหลักฐานของใครถูกผิด แต่ขอชี้แจงอีกมุมหนึ่งที่สังคมอาจไม่เคยรู้ ซึ่งในส่วนของอุเทนถวายนั้น เรามีรากเหง้ามาตั้งแต่ปี 2456 เกิดจากที่ดินพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 เช่นเดียวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราเกิดพร้อมจุฬาฯ ซึ่งทั้ง 2 สถาบันจึงมีระยะเวลาในการสร้าง มีที่มาใกล้เคียงกัน มีประวัติยาวนาน และมีวัถตุประสงค์เดียวกัน คือ เป็นสถาบันการศึกษา แต่ผลิตคนละเป้าหมาย แต่ทั้ง 2 สถาบันก็มีความเกี่ยวโยงกันมาตั้งแต่อดีต โดยดูได้จากประวัติศาสตร์ นิสิตคณะสถาปัตยกรรมของจุฬาฯ 5 รุ่นแรกเป็นนักเรียนที่จบจากวิชาแผนกแบบแปลนและรับเหมาของอุเทนถวาย

สำหรับกรณีที่อุเทนถวายเคยเซ็นหนังสือตกลงการขนย้ายและส่งมอบพื้นที่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 เป็นการดำเนินการโดย นายทวีชัย เหลี่ยมศิริวัฒนา ผอ.วิทยาเขตอุเทนถวาย ในขณะนั้น ไปตกลงกับจุฬาฯโดยไม่ผ่านสภาคณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน เพื่อรับรองมติเลย จึงถือเป็นการซ่อนเร้น ลุแก่อำนาจ เราจึงไม่ยอมรับข้อตกลงดังกล่าวของ นายทวีชัย และที่ผ่านมาเราได้ทำเป็นบันทึกข้อตกลงไม่ยอมรับดังกล่าวแล้ว ส่วนกรณีหนังสือของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ที่ชี้ขาดให้สิทธิ์ที่ดินเป็นของจุฬาฯนั้น ความจริงเราถือมีความชอบธรรมที่จะอยู่ที่นี่ต่อ เพราะเราไม่เคยเปลี่ยนวัตถุประสงค์ที่จะใช้พื้นที่ดังกล่าวในการศึกษา จุฬาฯ ถ้าต้องการจะพัฒนาพื้นที่ของวิทยาเขตอุเทนถวายเพื่อเป็นศูนย์นวัตกรรม หรืออย่างอื่นนั้น จุฬาฯ ควรพิจารณาจากพื้นที่ส่วนอื่นของที่ดินแทนที่จะมาสร้างบนสถานศึกษาที่มีประวัติยาวนานอย่างอุเทนถวาย

ต่อมา เวลา 14.00 น.ทาง คพศ.ได้จัดเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า สู่ 1 ศตวรรษ อุเทนถวายคุณค่าทีึ่ควรดำรงอยู่” โดยมี ดร.ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ศิษย์เก่าอุเทนถวาย) กล่าวว่า ตนไม่เข้าใจว่าจุฬาฯจะเอาที่ดินตรงอุเทนถวายไปทำไม ทำไมไม่เอาที่ดินตรงส่วนอื่น อย่างที่ดินตรงสยามมีแต่ผลประโยชน์ทั้งนั้น มีเงินมหาศาลที่เข้ามา แต่ไม่ใช่เงินที่ประเทศชาติจะได้ ขณะที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เป็นสถานการศึกษาที่ผลิตช่างมา 82 รุ่น ออกไปทั่วทุกจังหวัดของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมโยธา หรือ กทม.ล้วนมีเลือดเนื้อเชื้อไขจากอุเทนถวาย ทำให้เห็นได้ว่าอุเทนถวายสร้างคนเพื่อไปสร้างความมั่นคงประเทศชาติ อยากฝากจุฬาฯ อย่าเอาไปเป็นผลประโยชน์อีกเลย ประเทศไทยมีผืนแผ่นดินกว้าง ทำไมมาเล็งเพียงอุเทนถวาย

อยากให้จุฬาฯนึกถึงสายธารที่เป็นมาว่าเป็นอย่างไรก็ควรดำรงรักษาไว้แบบเดิม รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯพระราชทานที่ดินให้จุฬาฯ และรัชกาลที่ 6 ก็โปรดเกล้าฯพระราชทานที่ดินให้อุเทนถวาย พ่อลูกอยู่ด้วยกันได้ จุฬาฯและอุเทนถวายก็ต้องอยู่ด้วยกันได้ และในฐานะที่เป็นศิษย์อุเทนถวายของประกาศไว้ว่าจากนี้เป็นต้นไป เราจะไม่ยินยอมให้กระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จากนี้ไปเราจะใช้ยุทธศาสตร์ในการดำเนินการ ใช้กลยุทธ์ทุกรูปแบบที่เราจะทำแล้วรักษาผืนแผ่นดินตรงนี้ต่อไป ส่วนผู้กล้าของอุเทนถวายที่มีทั่วทุกหนแห่งไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ฝ่ายการเมือง หรือนักธุรกิจ และศิษย์ปัจจุบัน ต้องมีการกำหนดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม มีการพัฒนากระบวนการให้ชัดเจนมากขึ้น ควรมีการเคลื่อนไหวบ่อยๆ และหากจะให้ผมร่วมเดินขบวนด้วยก็ยินดี เพราะเมื่อก่อนที่ผมไม่ออกมาพูด ไม่รู้ว่าจุฬาฯเอาจริงหรือโยนหินถามทาง แต่พอเห็นจุฬาฯเอาจริง อุเทนถวายก็พร้อมลุยแน่ แต่จะลุยในสิ่งที่เป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามสิ่งที่ชอบ เพราะแผ่นดินนี้ไม่ใช่ของคุณ ไม่ใช่ของพ่อคุณด้วย ทำไมคุณจ้องจะเอา” ดร.ชาญชัย กล่าว

ขณะที่ ผศ.สืบพงษ์ ม่วงชู รองอธิการบดีบริหารงานวิทยาเขตอุเทนถวาย กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินอุเทนถวายได้มีการตรวจสอบพบข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมกรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551 มาตรา 16 ว่าด้วยเรื่อง ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ดังต่อไปนี้ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุและให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย โดยแบ่งเป็นที่ดินที่มหาวิทยาลัยได้มาตามพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เนื่องจากพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 ได้กำหนดชัดเจนให้ที่ดินบริเวณที่ตั้งของจุฬาฯ เป็นที่ราชพัสดุ ดังนั้นตนจึงต้องการกระตุ้นเตือนให้นักศึกษาอุเทนถวายได้เกิดความสำนึกว่าการดำเนินการทวงคืนพื้นที่นั้นไม่ได้ทำเพื่อชาวอุเทนถวาย แต่ทำเพื่อทวงคืนความชอบธรรมและเพื่อปฏิบัติตามพระราชปณิธานพระมหากษัตริย์ที่ทรงมอบที่ดินตรงนี้เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา

“การที่จุฬาฯ ออกกฎหมายดังกล่าวนั้น หมายความว่าเป็นการออกเพื่อสำทับว่า พื้นที่นั่นไม่ใช่ของกษัตริย์นะ แต่เป็นของจุฬาฯ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมแก่ประเทศชาติ เพราะเงินที่อุเทนฯ ได้จ่ายเป็นค่าเช่าแก่จุฬาฯ มาโดยตลอดนั้น คือเงินภาษีอากร ผมถามว่ายุติธรรมไหมครับ เอาเงินภาษีอากรเราไปจ่ายค่าเช่า ถ้าเป็นสมัยก่อนเราจ่ายก็ไม่เป็นไรเพราะจุฬาฯ เป็นของรัฐ ถือว่ารับกระเป๋าซ้ายเข้ากระเป๋าขวา แต่ปัจจุบันไม่ใช่เพราะจุฬาฯ ออกนอกระบบแล้ว ทุกบาททุกสตางค์ก็อยู่ที่เขา แล้วมันเป็นธรรมหรือเปล่าที่จะเอาค่าเช่าไป เป็นธรรมหรือเปล่าที่จะมาบอกให้เราออกจากตรงนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ที่ของเขาหลังจากนี้ตนจะนำข้อมูลดังกล่าวเสนอในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อหารือถึงการดำเนินการขั้นต่อไป” ผศ.สืบพงษ์ กล่าว

ด้าน ดร.ณพลพัทธ์ จิรเจริญสมบัติ ศิษย์เก่ารุ่น 67 หนึ่งใน คพศ. กล่าวว่า ในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ เวลา 13.00 น.คพศ.จะมีการจัดกิจกรรม โดยจะมีศิษย์เก่า และนักศึกษาปัจจุบันอุเทนถวาย ประมาณ 1,000 คน จะเดินขบวนจากอุเทนถวายไปยังบริเวณหน้าอาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทวงสัญญาครบ 90 วันในการยื่นหนังสือหลังจากที่ไม่มีความคืบหน้า พร้อมสอบถามถึงการหาทางออกร่วมกันระหว่างจุฬาฯกับอุเทนถวาย ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของอุเทนถวายต่อสาธารณชน เกียรติประวัติ สิ่งที่อุเทนถวายทำให้กับสังคม โดยการชุมนุมเดินขบวนดังกล่าวจะไปเป็นอย่างสงบ ไม่มีความรุนแรงแต่อย่างแน่นอน

“การเดินขบวนในครั้งนี้ เป็นเพียงการทวงถามคำตอบ ไม่ได้จะไปเรียกร้องอะไร แต่หากคำตอบที่ทางจุฬาฯให้นั้น ยังคงเป็นคำตอบเดิม หลังจากนี้การเคลื่อนไหวของอุเทนถวายจะยกระดับการชุมนุมที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น มีการปิดถนนพญาไททั้งเส้น หรืออาจไปยื่นหนังสือขอให้ทางคณะรัฐมนตรี แก้กฎหมายที่จุฬาฯออกมาบอกว่าที่ดินตรงอุเทนถวายเป็นของจุฬาฯ เพราะกฎหมายนั้นไม่ถูกต้อง แต่ทุกการเคลื่อนไหว จะไม่สร้างความเดือนร้อนให้แก่ประชาชนอย่างแน่นอน เพราะขนาดหน้ากากขาวมาเต็มพารากอน ประชาชนก็ไม่เดือนร้อน อุเทนถวายไม่ใช่การเรียกร้องทางการเมือง ประชาชนน่าจะเข้าใจกัน” ดร.ณพลพัทธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ จุฬาฯจะจัดแถลงข่าวชี้แจงไขข้อข้องใจกรณีจดหมายจากสโมสรนักศึกษาอุเทนถวายฯ เวลา 9.30 น.ที่อาคารจามจุรี 4
ภาพเมื่อครั้งเดินขบวนเมื่อวันที่ 15 มี.ค.56

กำลังโหลดความคิดเห็น