“เอ็นพาร์ค” ยังหวังเข้าบริหารโครงการร้อยชักสาม บนที่ดินของกรมธนารักษ์ แจงปัญหาเกิดจากการที่หน่วยงานดับเพลิงบางรัก ขึ้นตรงกับ กทม.และยังไม่ย้ายออกจากพื้นที่ รอคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติฯ สำนักงานอัยการสูงสุดชี้ขาด ลั่นฐานะการเงินไม่มีปัญหา
นายบุรินทร์ ภู่ศิริ กรรมการ บริษัท แนเชอรัลพาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ N-PARK กล่าวชี้แจงถึงโครงการ อามันรีสอร์ท กรุงเทพฯ บนพื้นที่ราชพัสดุโรงภาษีร้อยชักสาม ภายใต้การดำเนินงานของกิจการค้าร่วม คือ บริษัท แนเชอรัล พาร์คฯ บริษัท อามันรีสอร์ท เซอร์วิสเซส ลิมิเต็ด และบริษัท ซิลเวอร์ลิงค์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ดว่า เป็นโครงการที่ได้ทำสัญญาร่วมลงทุนกับ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารโรงภาษีร้อยชักสาม โดยมีพื้นที่ 5-0-60 ไร่ ซอยเจริญกรุง 36 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตบางรัก กรุงเทพฯ เพื่อบริหารที่ดินราชพัสดุให้คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยมีแผนการปรับปรุงซ่อมแซมอนุรักษ์อาคารโบราณสถานเพื่อพัฒนาเป็นกิจการโรงแรม ภายใต้ชื่อโครงการอามันรีสอร์ท กทม. มีการลงนามข้อตกลงในวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 และสัญญาการเช่าพื้นที่มีระยะเวลา 30 ปี
แต่ถึงกระนั้น การที่กิจการค้าร่วมฯ ไม่สามารถพัฒนาโครงการตามแผนคือ การที่กรมธนารักษ์ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 กิจการค้าร่วมฯ ได้มีการดำเนินการตามแผนเบื้องต้นและลงทุนไปแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้นกว่า 250 ล้านบาท ทั้งในเรื่องการศึกษาออกแบบการก่อสร้าง เงินประกัน การลงฐานรากอาคารทดแทน พร้อมทั้งได้มีการจ่ายค่าเช่าตามสัญญา แต่กิจการค้าร่วมฯ ไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อพัฒนาโครงการตามแผนที่ได้เสนอต่อกรมธนารักษ์ได้ เนื่องจากหน่วยงานราชการคือ หน่วยงานดับเพลิงบางรัก ที่โอนย้ายจากสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปสังกัดกรุงเทพฯ ยังไม่ย้ายออกออกจากพื้นที่ ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกิจการค้าร่วมฯ จะดำเนินการใดๆ ได้ และตามสัญญาระบุว่า หากเป็นหน่วยงานของรัฐจะเป็นหน้าที่ของกรมธนารักษ์ในการประสานให้หน่วยราชการนั้นย้ายออกไป
“ทำให้ทางกิจการค้าร่วมฯ จำเป็นต้องระงับการจ่ายค่าเช่าตั้งแต่ปี 2553 หลังจากได้ใช้เงินลงทุนกับโครงการไปเป็นจำนวนกว่า 250 ล้านบาท ซึ่งกิจการค้าร่วมฯ เห็นว่า เป็นการลงทุนแต่ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ต่อได้ ทั้งนี้ กิจการค้าร่วมฯ ได้เพียรพยายามหารือ และขอให้กรมธนารักษ์ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนกระทั่งในการประชุมคณะกรรมการประสานงานฯ ครั้งที่ 1/2554 วันที่ 31 สิงหาคม 2554 ได้มีมติให้ส่งเรื่องปัญหาการโยกย้ายหน่วยงานดับเพลิงบางรัก สังกัดกรุงเทพฯ อันเป็นกรณีพิพาทระหว่างหน่วยราชการด้วยกันเอง ไปยังคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาชี้ขาด ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการดังกล่าว”
นายบุรินทร์ กล่าวยืนยันว่า การที่โครงการอามันรีสอร์ทไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเงินของบริษัทในอดีต และแม้ในปัจจุบัน ซึ่งทางบริษัทยังคงเล็งเห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ และยังคงยึดมั่นในรูปแบการพัฒนาเป็นกิจการโรงแรมในแบบโบราณสถานเพื่อเป็นสถานที่ที่ทรงคุณค่าแก่การอนุรักษ์อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ และยังมีความประสงค์ดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในข้อตกลง และดำเนินการตามแผนดังกล่าวต่อไป