xs
xsm
sm
md
lg

หมอชนบทขอ 3 วันดูความจริงใจ รบ.ลั่นหักหลังจุดม็อบบ้านนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดรายชื่อ คกก.ตรวจสอบหลักฐานปลด “หมอวิทิต” ส่วนรายชื่อ คกก.ศึกษา P4P วางตัวไว้ 11 คน มี “หมอเกรียง-หมออารักษ์” นำทีม เผยขอเวลา 3 วันดูความจริงใจรัฐบาลทำตามคำมั่นหลังการหารือก่อน จึงตัดสินใจว่าจะก่อม็อบบุกบ้านนายกฯหรือไม่
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท
วันนี้ (10 มิ.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า จากการประชุมหารือร่วมตัวแทนรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึงข้อยุตินโยบายค่าตอบแทบตามผลการปฏิบัติงาน (P4P : Pay for Performance) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า สธ.มีการให้ข่าวเหมือนจะยืนยันเดินหน้า P4P ซึ่งจริงๆแล้วในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ขอย้ำว่าต้องเป็นไปโดยสมัครใจและไม่จำเป็นต้องทำในทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย หากจะทำ ต้องให้ทุกภาคส่วนและสหวิชาชีพ ศึกษา และกำหนดหลักการให้สอดคล้องกับบริบทของ รพช.แต่ละแห่งก่อน

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับตัวแทนคณะกรรมการ ศึกษารายละเอียดการทำ P4P เบื้องต้นประกอบด้วยตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท มี นพ.เกรียงศักดิ์ และ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ชมรม ผอ.รพช.1 คน คือ นพ.พรเจริญ เจียมบุญศรี รพ.50 พรรษา จ. อุบลราชธานี ชมรมทันตภูธร 1 คน ชมรมเภสัชชนบท 1 คน ชมรมพยาบาล รพช.1 คน ชมรมพยาบาล ลูกจ้าง หรือพนักงาน สธ.1 คน ชมรมสหวิชาชีพ นักวิชาการ 1 คน ตัวแทนผู้ป่วยฯ คือ นายธนพล ดอกแก้ว รองประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ชมรมคนรักหลักประกันสุขภาพ คือ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ส่วนสหภาพ อภ.คือ นายระวัย ภู่ระกา

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลในเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำและไม่ทำ P4P แม้มติที่ประชุมระบุว่านับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2556 จนถึงวันที่เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ ให้ใช้กลไกการเยียวยาต่อผู้ถูกรอนสิทธิ โดยให้ชดเชยเท่ากับส่วนต่างระหว่างอัตราตามเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 4 6 และ ฉบับที่ 8 ทั้งหมด ทุกกลุ่มวิชาชีพ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนใดๆ จึงไม่แน่ใจว่าจะสามารถเยียวยาได้ทันที หรือต้องรอตั้งคณะกรรมการฯก่อน จึงต้องขอเวลา 3 วันเพื่อดูท่าทีของรัฐบาลว่าจริงใจหรือไม่ จึงจะสรุปว่าจะเดินหน้าประท้วงหน้าบ้านนายกฯอีกหรือไม่” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนรายชื่อคณะกรรมการที่จะเข้าไปตรวจสอบข้อมูล อภ.เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ รวมทั้งข้อเท็จจริงในการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากผู้อำนวยการ อภ. นั้น ประกอบด้วย 1.รศ.ภญ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 2.ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังระบบยา 3.ศ.ภญ.ดร.กาญจน์พิมล ฤทธิเดช ภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม จุฬาฯ 4.นายระวัย ภู่ระกา ประธานสหภาพฯ อภ.5.นายสมชาย ขำน้อย รองประธานสหภาพฯ อภ.6.นายปิยะชาติ เกื้อจรูญ เลขาธิการสหภาพฯ อภ.7.นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัด สธ.8.นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ นพ.11 กระทรวงสาธารณสุข และ 9.นายชำนาญ พิเชษฐ์พันธุ์ นักกฎหมายอิสระ โดยคณะกรรมการชุดนี้ยืนยันว่าสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกประเด็น ไม่ใช่แค่เข้าไปดูข้อมูลเหมือนที่รัฐมนตรี สธ.ประกาศ

“คณะกรรมการที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง อภ.ทั้ง 9 คน จะเข้าพบนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในสัปดาห์นี้ เพื่อขอความชัดเจนในการตั้งอย่างเป็นทางการให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้ตรวจสอบหลักฐานเอาผิด นพ.วิทิต และนำข้อเท็จจริงเผยแพร่ต่อประชาชน” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

ด้าน นายระวัย กล่าวถึงกรณี นพ.ประดิษฐ ส่งเรื่องให้ดีเอสไอตรวจสอบการเงินของอภ.ว่า ถามว่าจำเป็นต้องส่งเรื่องให้ดีเอสไอ และออกข่าวในสื่อหรือไม่ เพราะจะทำให้ภาพลักษณ์ยิ่งเสียหาย จริงๆ ทำเงียบๆ ก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น