xs
xsm
sm
md
lg

“พงศ์เทพ” มั่นใจ 9 อาชีวะเปิดสอน ป.ตรี มีคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาชีวะ เปิดตัวรับ นศ.ป.ตรีสายปฏิบัติการครั้งแรก ปีการศึกษา 2556 ใน 9 สถาบัน 667 คน “พงศ์เทพ” มั่นใจในคุณภาพ ด้าน “ชัยพฤกษ์” ตั้งเป้าเทอม 2 เปิดรับอีก 260 คน ฟุ้งในปี 57 จะมีสถาบันการอาชีวศึกษาทั้งสิ้น 23 แห่ง มี นศ.ทั้งหมดกว่า 3 พันคน ฟุ้งเมื่อรุ่นแรกจบในปี 58 จะเป็นกำลังสำคัญต่อการเข้าสู่อาเซียน

วันนี้ (10 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เปิดทำการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ ประจำปีการศึกษา 2556 เป็นพร้อมกันครั้งแรกทั่วประเทศ ใน 9 สถาบันการอาชีวศึกษา 43 วิทยาลัย โดยมี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน พร้อมด้วย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) และอาจารย์ เจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ

โดย นายพงศ์เทพ กล่าวระหว่างเปิดงานมีใจความตอนหนึ่ง ว่า การเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีของอาชีวะสอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย และเป็นการสร้างคนรองรับโครงการต่างๆ ของรัฐบาล อันจะเป็นรากฐานสำคัญให้กับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ความต้องการบุคลากรนั้นมีหลายระดับตั้งแต่ระดับไร้ฝีมือ ระดับกึ่งฝีมือ ระดับฝีมือ ระดับชำนาญ ดังนั้น สอศ.จึงได้ริเริ่มเพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษาไปสู่ระดับปริญญาตรีสายปฏิบัติการและ ที่ผ่านมา สอศ.สถานประกอบการได้เข้ามาร่วมจัดหลักสูตรและนำนักศึกษาไปฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการ ซึ่งในการฝึกเด็กแต่ละคนต้องใช้การลงทุนที่สูง เมื่อจบการศึกษาก็ต้องการให้ทำงานในสถานประกอบการของตนเอง ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเรื่องคุณภาพ เพราะสถานประกอบการก็ต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ได้คนที่ดีที่สุด

ด้าน นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า สอศ.ได้ทำพิธีเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรีสายเทคโนโลยี หรือ สายปฏิบัติการ เป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2556 เปิดสอนทั้งหมด 16 สาขาวิชา ใน 9 สถาบัน 43 วิทยาลัย รับนักศึกษาไว้ทั้งหมด 667 คน ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนภายในประเทศ ปัจจุบันกำลังคนภายในประเทศ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มแรกแรงงานระดับฝีมือ คือ ผู้จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) กลุ่มที่ 2 เป็นแรงงานระดับเทคนิค คือ ผู้จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประเภทที่ 3 คือ ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งในตลาดแรงงานปัจจุบันมีแต่ปริญญาตรีสายวิชาการ แต่ภาคอุตสาหกรรม ต้องการแรงงานปริญญาตรีสายปฏิบัติการ เพราะฉะนั้น จึงเป็นภารกิจที่อาชีวศึกษาต้องผลิตกำลังคนระดับปริญญาตรีสายปฏิบัติการตอบสนองกับตลาดแรงงานภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเปิดปริญญาตรีของอาชีวศึกษานั้น สอศ.ได้ให้วิทยาลัยรวมกลุ่มเข้ามาเป็นสถาบันการอาชีวศึกษาเพื่อให้มีการแชร์ทรัพยากรทางวิชาการ ความร่วมมือร่วมกันและให้สถาบันเป็นผู้เปิดรับปริญญาตรี ปัจจุบันวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่มีความพร้อม 160 วิทยาลัยได้รวมกันเป็นสถาบันการอาชีวศึกษาทั้งหมด 19 สถาบัน โดยใช้การรวมกลุ่มตามกลุ่มจังหวัด และมีการรวมกลุ่มวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เป็นสถาบันการอาชีวเกษตรอีก 4 สถาบัน

นักศึกษาปริญญาตรีรุ่นแรก 667 คนนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เรียนจบ ปวส. และทำงานแต่ต้องการกลับมาเรียน 405 คน มีเพียง 162 คนเท่านั้นที่เพิ่งจบ ปวส.และเรียนต่อปริญญาตรีทันที ส่วนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 จะเปิดรับรอบ 2 อีกใน 6 สถาบัน 12 วิทยาลัย จำนวน 260 คน แต่ในปีการศึกษา 2557 นั้น สถาบันการอาชีวศึกษาทั้งหมด 23 สถาบันจะเปิดรับนักศึกษาทั้งหมด 28 สาขาวิชา รับนักศึกษาทั้งหมด 3,600 คน ซึ่งนักศึกษารุ่นแรกจะจบการศึกษาในปี 2558 ซึ่งเป็นปีแรกของการรวมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะฉะนั้นนักศึกษากลุ่มนี้จะเป็นกำลังของสำคัญของประเทศ ขณะเดียวกัน การเปิดปริญญาตรีจะทำให้มีผู้สนใจเรียนสายอาชีพมากขึ้น”นายชัยพฤกษ์ กล่าวและว่า ในปีเดียวกันนั้น สอศ.จะขอเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เหมือนกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป

เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อว่า สำหรับอัตราค่าเรียนของสถาบันการอาชีวศึกษานั้น จะต่ำกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน โดยขั้นต่ำอยู่ที่ 8,500 บาทต่อภาคเรียน สูงสุดไม่เกิน 10,900 บาทต่อภาคเรียน อย่างไรก็ตาม สอศ.ไม่ประกันโอกาสการเรียนปริญญาตรีให้กับทุกคน เพราะยังมีข้อจำกัดในการรับอยู่ แต่ประกันว่าทุกหลักสูตรที่เปิดนั้นมีคุณภาพโดยส่วนใหญ่จะเป็นหลักสูตรเจาะลึกเฉพาะทางและเป็นหลักสูตรอิงสมรรถนะ ซึ่งประกันได้เลยว่าผู้ที่เรียนจบจะมีสมรรถนะ ที่สำคัญหลักสูตรปริญญาทุกหลักสูตรจะจัดการเรียนการสอนในลักษณะทวิภาคี สถานประกอบการเข้ามาให้ความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตร ส่งวิทยากรมาช่วยสอน และให้รับนักศึกษาในสถานประกอบการด้วย ซึ่งหลักสูตรปริญญาตรีนั้นกำหนดให้นักศึกษาต้องทำงานในสถานประกอบการอย่างน้อย 1 ปีจากเวลาเรียน 2 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น