xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้ P4P ของจริงต้องลดบริการที่ไม่มีจำเป็น แนะทำกึ่งทดลองก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการชี้ P4P ของจริงไม่ใช่ทำมากได้มาก แต่ต้องลดการบริการที่ไม่มีประโยชน์ แนะไม่พร้อมควรทำแบบกึ่งทดลองหรือสมัครใจ ระบุ P4P จูงใจคนให้อยู่ในพื้นที่ได้ หากจ่ายแบบ Top Up สธ.ยันไม่ได้นำมาแทนระบบเหมาจ่าย ด้านแพทย์ชนบทลั่น รพช.ไม่มีใครเอา P4P เผยชุมนุมหน้าบ้านนายกฯไม่อยากสร้างความเดือดร้อน แต่อยากให้แก้ปัญหา ปูด สธ.เตรียมเช็กชื่อคนร่วมชุมนุม

วันนี้ (27 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กทม. นพ.ยงยุทธ์ พงษ์สุภาพ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวระหว่างนำเสนอข้อมูลวิชาการการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานในมุมมองนักวิชาการสาธารณสุข ในเวทีวิชาการ : วิกฤต P4P "ระดมพลังปัญญาร่วมหาทางออก" ว่า การจ่ายค่าตอบแทนตามการบริการ (FFS : Fee For Service) หรือทำมากได้ค่าตอบแทนมากนั้น เป็นระบบที่ค่อนข้างมีปัญหา เพราะการทำงานมากในบางบริบทอาจมีที่เกิดประโยชน์น้อย ไม่เกิดประโยชน์ หรือมีผลทางลบต่อผู้รับบริการหรือระบบบริการโดยรวม จึงมีการคิดการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระและผลการปฏิบัติงาน (P4P : Pay for Performance) ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
"P4P ที่แท้จริงจึงไม่ใช่การทำงานมากแล้วจะได้ค่าตอบแทนมากเสมอไป แต่ต้องช่วยลดการให้บริการที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้รับบริการหรือระบบบริการ ช่วยกระตุ้นให้การให้บริการเกิดประโยชน์ต่อผู้รับบริการและระบบบริการโดยรวม เช่น คุณภาพ ประสิทธิภาพ การควบคุมค่าใช้จ่าย และความเป็นธรรม ซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P ยังมีทั้งจ่ายระดับบุคคล เป็นทีม และภาพรวมของทั้งระบบ" นพ.ยงยุทธ์ กล่าว

นพ.ยงยุทธ์ กล่าวอีกว่า พื้นฐานของ P4P จะต้องมีระบบข้อมูลที่มีความพร้อม เที่ยงตรง และเชื่อถือได้ ที่สำคัญต้องไม่ใช่ข้อมูลที่สะท้อนแต่ภาระงานเท่านั้น แต่เน้นให้เห็นถึงข้อมูลที่ทำให้เห็นถึงกระบวนการเชื่อมโยงไปถึงผลลัพธ์ของการปฏิบัติด้วย สำหรับประเทศไทยระบบข้อมูลยังคงมีความอ่อนแอ หากเร่งดำเนินการ P4P โดยขาดความพร้อมด้วยการดำเนินการทันทีทั้งประเทศจะยิ่งเพิ่มภาระ เพิ่มความซับซ้อนของปัญหาให้กับระบบบริการมากกว่า FFS ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ยังไม่พร้อมไม่ควรเร่งรีบ แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการต้องทำในแบบกึ่งทดลอง หรือการดำเนินการบนพื้นฐานของความสมัครใจ อาจเป็นทางออกที่ลดความตรึงเครียดได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน

ด้าน ดร.รพีสุภา หวังเจริญรุ่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า การจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P สามารถช่วยรักษาบุคลากรในสถานบริการเอาไว้ได้ แต่ต้องเป็นการจ่ายแบบ Top Up จากเงินเดือนที่ได้รับ เพื่อจูงใจให้บุคลากรอยู่ในสถานบริการนานขึ้น เพราะเงินเดือนข้าราชการนั้นไม่ว่าจะทำมากหรือทำน้อย หากอยู่ในระดับชั้นหรือซีเดียวกันก็จะได้รับเงินเท่ากัน การจ่าย P4P จึงช่วยจูงใจให้คนที่ทำงานมาก ไม่รู้สึกว่าตนไม่ได้รับการเหลียวแลจนต้องลาออกจากสถานบริการในที่สุด ทั้งนี้ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว คณะทำงานของตนได้มีการเสนอการจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P นี้ ให้แก่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) แล้ว ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา หาก กพ.เห็นชอบและอนุมัติให้มีการจ่ายแบบ P4P บุคลากรสาธารณสุขก็จะได้รับเงิน Top Up เพิ่มเติมจากเงินเดือน โดยที่ในชนบทก็ยังคงมีค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม การใช้ P4P จะต้องมีระบบสนับสนุนการคำนวณภาระงานแต่ละสถานพยาบาล และต้องปรับปรุงระบบเมื่อดำเนินการไปแล้วด้วย

นพ.สุวัฒน์ กิตติดิลกกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า P4P ของ สธ.ไม่ได้มาแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แต่เป็นการเพิ่มเติมเข้ามา เพราะเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เงินทุรกันดารต่างๆ ยังมีอยู่ เพียงแต่บางพื้นที่อาจถูกปรับ เนื่องจากในอดีตอาจอยู่ในถิ่นทุรกันดาร แต่ปัจจุบันไม่กันดารแล้ว เช่น โรงพยาบาลหางดง จ.เชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ติดกับสนามบินเชียงใหม่ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน

ระบบการจ่ายค่าตอบแทนที่ผ่านมามีปัญหามาก สร้างความแตกต่างทางด้านวิชาชีพ ยกตัวอย่าง เมื่อมีการจ่ายค่าตอบแทนเท่ากันในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงบุคลากรทางการแพทย์ทำงานไม่เท่ากัน คนทำงานมากก็ทำตลอด สุดท้ายทนไม่ไหวก็ลาออก ย้าย เพราะไม่อยากถูกเอาเปรียบ อีกทั้งเมื่อมีการจ่ายค่าตอบแทนปัญหาสำคัญคือ งบฯไม่เพียงพอ เพราะเป็นเงินบำรุง บางโรงพยาบาลไม่สามารถจ่ายเงินให้บุคลากรได้ ต้องติดเงินก็มี ซึ่งเป็นปัญหามาก กระทรวงฯ จึงหาทางแก้ปัญหา โดยไม่ได้ตัดเบี้ยเลี้ยง แต่ให้ใช้วิธีคิดตามผลการปฏิบัติงานเข้ามาเสริม” นพ.สุวัฒน์ กล่าว

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และผู้แทนชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า P4P หากดำเนินการด้วยความสมัครใจก็จะไม่มีปัญหา แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ เป็นนโยบายที่ไม่ถามความสมัครใจ แต่บังคับให้ดำเนินการ ซึ่งโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมดยังไม่มีแห่งใดเดินตามนโยบายนี้ เนื่องจากมองว่าเป็นนโยบายที่สร้างความแตกแยกในวิชาชีพ และยังเน้นล่าแต้ม ทำให้จิตวิญญาณของแพทย์หาย ที่สำคัญเมื่อถูกตัดเงินเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ย่อมทำให้ขาดขวัญกำลังใจในการเป็นแพทย์ประจำชุมชน เกิดปัญหาแพทย์สมองไหล ซึ่งเป็นเวลา 2 เดือนที่โรงพยาบาลชุมชนได้คัดค้านนโยบายนี้มาตลอด ทั้งประท้วงที่กระทรวงสาธารณสุข ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล จึงต้องเกิดการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องครั้งใหญ่อีกครั้งในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ ที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรี

พวกเราไม่ได้อยากสร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่อยากให้นายกฯรับฟังปัญหาว่าจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งพวกเราต้องการให้กระทรวงฯ ใช้นโยบาย 2 ระบบ คือ ยกเลิก P4P เฉพาะโรงพยาบาลชุมชน ส่วนโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป หากยินดีกับนโยบายนี้ก็ให้เป็นไปตามความสมัครใจ ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้มีทั้งหมด” นพ.สุภัทร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การชุมนุมครั้งนี้มีการลามาอย่างถูกต้องหรือไม่ และจะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน นพ.สุภัทร กล่าวว่า ทุกคนลามาอย่างถูกต้องตามระเบียบราชการ แต่ก็มีข่าวว่ามีการเช็กชื่อว่าใครมาบ้าง ซึ่งไม่รู้จะมีการดำเนินการอย่างไร แต่ทั้งหมดถูกต้องทุกขั้นตอน ส่วนจะชุมนุมค้างคืนหรือไม่นั้น ไม่ทราบ อยู่ที่ท่าทีนายกรัฐมนตรี

ด้าน นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เห็นมีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาก จริงๆ อยากให้แยกระหว่าง P4P และเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ไม่อยากให้มองว่า P4P เลวร้าย เพราะทุกอย่างมี 2 ด้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น