xs
xsm
sm
md
lg

ปี 55 ภาคใต้พบผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 5 แสนราย สธ.พัฒนาระบบรับผู้บาดเจ็บ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เร่งพัฒนาระบบบริการผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุใน 7 พื้นที่จังหวัดใต้ 6 ด้าน หวังลดอัตราตายให้ได้ปีละร้อยละ 10 ภายในปี 2559 เผยปี 2555 มีผู้ป่วยอุบัติเหตุ-ฉุกเฉินใช้บริการเกือบ 500,000 ราย โดย 1 ใน 4 เป็นผู้บาดเจ็บทางด้านศัลยกรรม

วันนี้ (10 พ.ค.) ที่ จ.สงขลา นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดประชุมผู้บริหาร ประกอบด้วย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน เพื่อพัฒนาระบบการจัดบริการสุขภาพ โดยเฉพาะระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้บาดเจ็บทุกชนิด ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้คือ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชน โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข เป็นประธาน ว่า พื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างมีความหลากหลาย เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจภาคใต้ มีพื้นที่เป็นเกาะ ชายฝั่งทะเลเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีประชาชนเดินทางเข้ามาจำนวนมาก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางจราจร ทางทะเล รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ ในปี 2555 มีผู้เข้าใช้บริการงานอุบัติเหตุ-ฉุกเฉินในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยู่ในเครือข่ายฯ 10 แห่งคือ รพ.หาดใหญ่ รพ.สงขลา รพ.ปัตตานี รพ.ยะลา รพ.เบตง รพ.นราธิวาส รพ.สุไหงโก-ลก รพ.สตูล รพ.พัทลุง และ รพ.ตรัง รวม 473,542 ราย แพทย์รับไว้รักษาในโรงพยาบาล 23,473 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอุบัติเหตุทางศัลยกรรม 114,573 ราย โดยร้อยละ 23 เป็นผู้บาดเจ็บทางสมอง ผู้ได้รับบาดเจ็บในอวัยวะหลายระบบพบร้อยละ 14 อัตราตายประมาณร้อยละ 3 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมด

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ในการเตรียมการจัดบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุ สธ.ได้วางแผนพัฒนาไว้ 5 ปี พ.ศ.2555-2559 มีเป้าหมาย 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.ระบบฐานข้อมูลการบาดเจ็บ เพื่อนำมาวางแผนการป้องกัน แก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วย 2.ระบบการดูแลผู้บาดเจ็บก่อนถึงโรงพยาบาล มีครอบคลุมทุกพื้นที่ 3.มีระบบการดูแลผู้บาดเจ็บทางสมอง การบาดเจ็บหลายระบบ โดยมีทั้งระบบส่งต่อและการรับกลับ 4.ระบบฟื้นฟูผู้บาดเจ็บเมื่อพ้นภาวะวิกฤตในโรงพยาบาลชุมชน ให้กลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงตามปกติ 5.เพิ่มชุดปฏิบัติการทางแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำที่จังหวัดสตูล และตรัง และพัฒนาศักยภาพระบบการดูแลผู้บาดเจ็บทางทะเลของหน่วยบริการในพื้นที่ชายฝั่งทะเล เกาะ แหล่งท่องเที่ยว และ 6.ระบบการดูแลผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ โดยจัดซ้อมแผนในระดับเสมือนจริง ตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตลงให้ได้ร้อยละ 10 ต่อปี

นพ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ กำหนดให้โรงพยาบาลหาดใหญ่ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่มีความพร้อมทั้งเครื่องมือแพทย์ แพทย์ และพยาบาลที่เชี่ยวชาญ เป็นศูนย์เชี่ยวชาญอุบัติเหตุ เป็นแม่ข่ายของโรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน รวม 76 แห่ง สามารถให้การดูแลผู้บาดเจ็บตั้งแต่ขั้นไม่รุนแรง จนถึงขั้นวิกฤตได้ โดยใช้ระบบการส่งต่ออย่างรวดเร็ว เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานช่วยชีวิตประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น