xs
xsm
sm
md
lg

“ชินวรณ์” ต้าน ยุบ ร.ร.ขนาดเล็กมั่วๆ ลั่นขัดรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชินวรณ์” ออกโรงต้านแนวคิดยุบโรงเรียนขนาดเล็กมั่วๆ ชี้ ขัด รธน.มาตรา 49 ปลุกชุมชนต้าน พร้อมเป็นแกนนำขับเคลื่อน บีบรัฐต้องมีมาตรการรองรับก่อน แจงนโยบายยุค ปชป.สร้างโรงเรียนดีประจำตำบล ไม่ยุบโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ให้ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมจัดการศึกษา เตือนอย่าผลักเด็กออกจากระบบการศึกษา ด้าน กมธ.ศึกษา หนุนยุบโรงเรียนสุดตัว

นายชิณวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ แสดงความไม่เห็นด้วยต่อนโยบายของนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คน ซึ่งมีทั้งหมด 14,186 แห่ง เนื่องจากจะกระทบต่อความรู้สึกของผู้ปกครอง นักเรียน และสิทธิชุมชน ค่อนข้างสูง และยังขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ที่บัญญัติว่า รัฐต้องจัดการศึกษาอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ และไม่คิดค่าใช้จ่าย เพราะฉะนั้นถ้ามีการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าจะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างทั่วถึงได้อย่างไร และในวรรคสองของมาตราดังกล่าวยังระบุด้วยว่า นักเรียนที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก รัฐจะต้องจัดให้มีความทัดเทียมกัน ดังนั้นการที่กระทรวงศึกษาธิการจะใช้เกณฑ์เพียงแค่เรื่องคุณภาพและงบประมาณมาเป็นข้ออ้างในการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยยึดเอาจำนวนนักเรียนที่น้อยกว่า 60 คน เป็นตัวตั้งนั้น เป็นเรื่องที่ขัดกับหลัก
การตามรัฐธรรมนูญ

นายชินวรณ์ กล่าวด้วยว่า ในสมัยที่เป็น รมว.ศึกษาธิการ นั้น ได้มีแนวทางชัดเจนว่าก่อนที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กต้องสร้างโรงเรียนดีประจำตำบลก่อนเพื่อให้โรงเรียนในชนบทมีคุณภาพที่ใกล้เคียงกับโรงเรียนในเมืองเพื่อรองรับการยุบรวมโรงเรียนในอนาคต และยังมีการส่งเสริมโครงการ โรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง เพื่อให้สถาบันการศึกษามีส่วนช่วยเหลือกันในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา นอกจากนี้โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในชุมชนที่ห่างไกลควรจะมีสิทธิชุมชนในการดูแลการศึกษา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับนักเรียน เพราะหากมีการยุบโรงเรียนเล็กที่อยู่ห่างไกล จะทำให้เกิดการออกจากการศึกษากลางคันของเยาวชน ต้องเข้าสู่การศึกษานอกระบบและยังมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองตามมา ดังนั้นหน้าที่ของรัฐจึงต้องสร้างทางเลือกให้ประชาชนมากกว่าที่จะบังคับในเชิงนโยบาย นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมโรงเรียนขนาดเล็กให้ชุมชนมีส่วนร่วมโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้จัดงบประมาณรายหัวเพิ่มให้เป็นสองเท่าเพื่อพัฒนาคุณภาพ ซึ่งมีโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งเริ่มปรับปรุงตัวเองให้มีคุณภาพอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ทั้งนี้หากมีความจำเป็นที่จะต้องยุบโรงเรียนขนาดเล็กจริงก็จะต้องมีมาตรการรองรับ และมีทางเลือกหลายทาง เช่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน มาร่วมจัดการ

อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่าการยุบโรงเรียนขนาดเล็กมีระบุไว้ในแผนปฏิรูปการศึกษารอบสองระยะเวลา 10 ปี จาก 2553-2563 ที่กำหนดไว้ว่าจะยุบ 7 พันแห่ง จาก 14,186 แห่ง โดยเป็นแนวคิดของคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาที่มองว่าโรงเรียนเหล่านั้นด้อยคุณภาพ แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ กำหนดแนวทางว่าก่อนที่จะยุบโรงเรียนต้องสร้างโรงเรียนที่มีคุณภาพรองรับก่อน และส่งเสริมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความพร้อมให้ยืนอยู่บนขาตัวเองได้ ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการไม่ควรยึดแต่เกณฑ์จำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คนแล้วใช้เป็นเหตุผลในการยุบโรงเรียนขนาดเล็กเท่านั้น

“วิธีคิดของรัฐบาลชุดนี้มองเรื่องคุณภาพจากโรงเรียนขนาดเล็กแต่เพียงอย่างเดียว การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 60 คนลงมาไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องคุณภาพอย่างแท้จริง ควรจะมีทางเลือกหลายๆ ทาง เพราะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีคุณภาพในขณะนี้ก็มีตัวเลขที่ดีขึ้นมากพอสมควร การบูรณาการทางการศึกษาต้องคิดถึงโอกาสทางการศึกษาและคุณภาพควบคู่กันไป”

นายชินวรณ์ ยังเรียกร้องไปยังโรงเรียนที่มีความพร้อม และชุมชนที่เห็นว่าโรงเรียนควรมีความพร้อมให้เป็นมากกว่าโรงสอนแต่เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน โดยเห็นว่าควรรักษาสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้ก็ควรออกมาเรียกร้อง ซึ่งตนพร้อมที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้รัฐบาลมีมาตรการรองรับที่ชัดเจนก่อนที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา นำโดย นายสุธรรม พันธุศักดิ์ นางนรีวรรณ จินตกานนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการ และ ม.ร.ว.วุฒิเลิศ เทวกุล ส.ว.สรรหา กรรมาธิการ ร่วมกันแถลงว่าคณะกรรมาธิการการศึกษามีมติเห็นด้วยกับนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ที่สั่งให้ยุบรวมโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก กว่า 17,000 ทั่วประเทศ เพื่อประหยัดงบประมาณ เนื่องจากการยุบรวมจะทำให้กระบวนการจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้ คือ 1.การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ต่างๆ ต้องมีการเตรียมการประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ปกครองรับทราบรายละเอียดและแนวทางการดำเนินการต่างๆ ชัดเจน 2.ควรเตรียมการรับส่งนักเรียนให้มีความพร้อมโดยเน้นเรื่องการปลอดภัยเป็นประเด็นสำคัญ 3.อาคารบ้านพักและอาคารที่ทำการของโรงเรียนต่างๆที่ยุบรวมนั้น ศธ.ควรมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะใช้ดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ในเรื่องใด 4.ศธ.ควรบริหารจัดการเรื่องการโยกย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนที่ถูกยุบรวมให้เหมาะสมและเป็นธรรม และ 5.ศธ.ควรพิจารณาจัดการศึกษาทางไกลและใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนการสอนและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาแก่ประชาชนทุกระดับ อย่างไรก็ตามขอเรียกร้อง ศธ.ควรเตรียมความพร้อมล่วงหน้าอย่างเป็นระบบชัดเจนอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น