xs
xsm
sm
md
lg

“พงศ์เทพ” ให้จุฬาฯทำวิจัยสมาธิมีผลต่อการพัฒนาสมองเด็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พงศ์เทพ” มอบ จุฬาฯ วิจัยการทำสมาธิมีผลต่อการพัฒนาสมองเด็กหรือไม่ ระบุ นายกฯยังไม่เรียกประชุม คกก.ปฏิรูปฯ แจงรัฐบาลชุดนี้ชูปฏิรูปหลักสูตรและครู ลั่นการศึกษาต้องปลอดการเมือง ชี้ มุมมองการเมืองต่างกัน แต่การศึกษาต้องเป็นหนึ่งเดียว ระบุยินดีรับข้อเสนอเพื่อพัฒนาการศึกษา

วันนี้ (14 ม.ค.) ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการยุทธศาสตร์การศึกษา พ.ศ.2556-2558 เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและประสิทธิภาพการจัดการศึกษาของประเทศไทยตามนโยบายรัฐบาล จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พร้อมบรรยายพิเศษมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า คุณภาพการศึกษาและคุณภาพเด็กไทยยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ทั้งที่รัฐบาลทุ่มเทงบประมาณเพื่อพัฒนาการศึกษามากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศและของโลก แต่เมื่อเปรียบเทียบผลประเมินระดับนานาชาติ กลับพบว่า การจัดอันดับการศึกษาของไทยเมื่อเทียบในระดับโลกหรือแม้แต่ภูมิภาคอาเซียน การศึกษาของเรากลับถูกจัดอันดับอยู่ท้ายๆ
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ในฐานะที่ผมเป็นผู้รับผิดชอบกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล เราถือว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องปลอดการเมือง เพราะการศึกษาคือ การสร้างคน สร้างชาติซึ่งจะต้องทำอย่างต่อเนื่องระยะยาว จะใช้มิติทางการเมืองในเรื่องการศึกษาไม่ได้ และแม้ว่ามุมมองทางการเมืองจะแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม แต่ในเรื่องของการพัฒนาการศึกษาต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำไม่แบ่งแยก และไม่ว่าข้อเสนอ หรือแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่ไม่ว่าจะมาจากคนกลุ่มใดก็ตามผมยินดีรับทุกความเห็น หรือแม้แต่มุมมองของเด็กเล็กก็อาจจะมีดีอย่างที่เราคาดไม่ถึงก็ได้เพราะทุกแนวคิดข้อเสนอเป็นสิ่งดีเพื่อการศึกษาของชาติ ซึ่งเป็นโอกาสดีและเห็นด้วยที่ สกศ.จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

นายพงศ์เทพ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนขอฝากประเด็นการพัฒนาการศึกษา ซึ่งหลักสำคัญ ได้แก่ 1.ด้านผู้เรียนต้องมีความพร้อมทั้งด้านสติปัญญา ร่างกาย และหลักสูตร โดยขอให้ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อยืนยันว่าการทำสมาธิมีส่วนสัมพันธ์กับการพัฒนาคุณภาพสมองหรือไม่ เพื่อต้องการใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ 2.ด้านร่างกาย คือ ส่งเสริมการกีฬา และการปฏิรูปหลักสูตรให้เรียนรู้เนื้อหาที่เหมาะสมและรู้จักวิธีการหาความรู้ ทั้งสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นซึ่งตนเชื่อว่าหากครูสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น ครูก็จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่พร้อมๆไปกับเด็กๆในห้องเรียนด้วย และ 3.ด้านการสอนคุณธรรมจริยธรรม จิตสำนึกประชาธิปไตย รู้จักทำงานเป็นหมู่คณะ รู้จักเสียสละ ทั้งนี้ การเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองในห้องเรียนคงไม่เพียงพอ เพราะไม่ซึมซับ ต้องเรียนจากของจริง

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่นักวิชาการมีข้อเสนอว่าอยากให้รัฐบาลนำข้อเสนอแนะในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 มาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานด้วย นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าการศึกษาจะไม่นำมิติทางการเมืองเข้ามาใช้ แนวคิดการศึกษาที่ดี ไม่ว่าจะเกิดในยุคไหนสมัยใด หากดีเราก็จะนำมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องที่รัฐบาลนี้เน้นคือ การปฏิรูปหลักสูตรและครู ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ได้ ส่วนข้อเสนอที่ขอให้นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายปฏิรูปการศึกษา และ รมว.ศึกษาธิการ เรียกประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษานั้น ขณะนี้ยังไม่มีการเรียกประชุมแต่ทุกอย่างสามารถนำมารวมกันได้

น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า สกศ.ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์การศึกษา พ.ศ.2556-2558 เพื่อจัดการศึกษาให้มีคุณภาพสำหรับทุกคนอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม พัฒนาคนไทยทุกกลุ่มวัยให้คิดเป็น ทำเป็น พึ่งพาตนเองได้ อยู่ร่วมกันในสังคมไทยอย่างสันติสุข และมีความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยมี 7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.พัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท 2.สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่ประชากรทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค และเป็นธรรม โดยมีเป้าหมายให้ปีการศึกษาเฉลี่ย ของคนไทยอายุ 15-59 ปีเพิ่มขึ้นจาก 9.1 ปี ในปี 2555 เป็น 11 ปี 3.ปฏิรูปครู เพื่อยกฐานะครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง อาทิ มีระบบสรรหาครูสำหรับช่วยสอนในสาขาที่ขาดแคลน 4.การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และการฝึกอาชีพให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ อาทิ สัดส่วนผู้เรียนระหว่างสายอาชีวศึกษา กับสายสามัญศึกษา เป็น 55:45 5.พัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ให้ทัดเทียมกับนานาชาติ อาทิ มีระบบการเรียนแบบอิเลคทรอนิกแห่งชาติ ภายในปี 2558 หาแท็บเล็ตให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษา 100% 6.สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างทุนปัญญาของชาติ และ 7.เพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับการเเปิดเสรีประชาคมอาเซียน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 7 ยุทธศาสตร์จะต้องบรรลุตามเป้าหมายภายในปี 2558 ซึ่งจากนี้ สกศ.จะนำร่างดังกล่าวออกรับฟังความคิดเห็นใน 4 ภูมิภาค และภายในเดือน พ.ค.2556 จะสรุปข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ฯ และนำเสนอรัฐบาลต่อไป

ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้เป็นการยกร่างแบบสะเปะสะปะ เทกระจาด ไม่มีการบังคับใช้ ซึ่ง สกศ.เป็นเครื่องจักรผลิตนโยบายการศึกษาของประเทศ แต่บ่มีไก๊ ไร้น้ำยา เพราะทำออกมาแล้วไม่มีใครนำไปใช้ แต่หากมองในภาพรวมร่างยุทธศาสตร์ฯฉบับนี้ถือว่าสอบผ่าน แต่ยังมีรายละเอียดต้องปรับปรุง เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงเวียนว่ายตายเกิดอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขณะที่แนวโน้มการจัดการศึกษาของโลกต้องสอนให้เด็กรู้จักเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในโลก และแนวโน้มความต้องการแรงงานระดับกลางที่มีมากขึ้น

เชื่อว่า หากไม่มีการปฏิรูปเรื่องค่าใช้จ่ายรายหัวกันใหม่ สัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษากับสายสามัญศึกษาจะไม่สามารถทำตามเป้าหมายได้อย่างแน่นอน เพราะค่าใช้จ่ายรายหัวจะไปเชื่อมโยงกับตำแหน่งและวิทยฐานะ ดังนั้นการกำหนดเป้าหมายตัวเลขดังกล่าวจึงเป็นตัวเลขเท็จในการปฏิบัติ ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การศึกษาควรจะมีการออกกฏหมายมาบังคับ อาทิ บังคับเรื่องคุณภาพ เรื่องทวิภาคีที่ให้เอกชนมามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เรื่องการศึกษาตลอดชีวิต เป็นต้น และจะต้องมาดูเรื่องงบประมาณกันใหม่” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น