xs
xsm
sm
md
lg

อาชีวะพลิกโฉมวิชาชีพการโรงแรมรับอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

เสน่ห์ของเมืองไทยมิได้มีเพียงรอยยิ้ม หรือการไหว้ ที่สะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ แต่ความสวยงามทางธรรมชาติ วัดวาอาราม หรือโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ทั่วทุกหัวระแหงก็เป็นมนต์เสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกเดินทางเข้ามาสัมผัสความสวยงาม จนเกิดเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้มหาศาลสู่ประเทศเช่นทุกวันนี้
แต่ทว่า..อาศัยเพียงความสวยงามไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ยังต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะภาคบริการที่ช่วยสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวตลอดช่วงเวลาที่มาพักพิง ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม!!

แน่นอนว่า เมื่อการรวมตัวของประชาคมอาเซียนในปี 2558 เกิดขึ้นอย่างเต็มตัว นักท่องเที่ยวจำนวนมากจะยิ่งหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย จำเป็นยิ่งที่ภาคธุรกิจบริการโดยเฉพาะโรงแรมที่พักต้องตื่นตัวในการให้บริการที่มีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงไม่อาจนิ่งนอนใจเร่งพัฒนานักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในสาขาการโรงแรมให้ได้รับการยกระดับคุณภาพฝีมืออย่างมีมาตรฐาน ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ

ไม่นานมานี้ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) ได้เดินทางไปยังจังหวัดภูเก็ต เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เปิดสอนสาขาการโรงแรม ในการร่วมมือกับสมาคมโรงแรมไทย เพื่อขับเคลื่อนการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีสาขาการโรงแรม ปี 2556

“ปีนี้ไม่ใช่ปีแรกที่ สอศ.ร่วมมือกับสมาคมโรงแรมไทย เราเริ่มต้นมาแต่ปีการศึกษา 2555 โดยสร้างความรู้ความเข้าใจกับทั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาในสังกัดและผู้ประกอบการเปิดรับสมัครนักเรียนเข้าร่วมโครงการผ่านการจัดกิจกรรม Job Fair ซึ่งได้รับการตอบรับดีมากจากนักเรียนและผู้ประกอบการทั่วประเทศซึ่งนักเรียนจะได้โอกาสเรียนรู้งานผ่านประสบการณ์การทำงานจริงและยังได้ค่าตอบแทนด้วย แต่สำหรับปี 2556 นี้พิเศษกว่าเดิม เนื่องจากเป็นปีแรกที่ประเทศไทยได้รับรองมาตรฐานสมรรถนะอาชีพพนักงานโรงแรมระดับอาเซียน เป็นเพียงวิชาชีพเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น สอศ.จึงต้องร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย ในการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนแบบทวิภาคีรูปแบบใหม่ เรียกว่า การพัฒนาหลักสูตร Tailor Made ต่อยอดถึงปริญญาตรีนำร่องในวิทยาลัยที่มีความพร้อม” เลขาธิการ กอศ.กล่าว

นายชัยพฤกษ์ อธิบายด้วยว่า หลักการของหลักสูตร Tailor Made คือ ลักษณะผู้ประกอบการและวิทยาลัยต้องร่วมกำหนดระยะเวลาที่ต้องการให้เด็กปฏิบัติงานในพื้นที่และเรียนที่วิทยาลัย เพื่อจัดรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดไว้ตามหลักสูตรการเรียนการสอนของสาขานั้นๆ โดยขณะนี้ สอศ.มีการจัดทำหลักสูตรการโรงแรมระดับ ปวช.เรียบร้อยแล้ว และกำลังดำเนินการระดับ ปวส.ขณะเดียวกันได้จัดทำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพสาขาการโรงแรมเรียบร้อย รอการรับรองเป็นทางการ ซึ่งจุดเด่นของหลักสูตรทุกระดับจะเพิ่มสัดส่วนในด้านการฝึกปฏิบัติที่พึงประสงค์ในรูปแบบทวิภาคี ที่จะมีครูผู้เชี่ยวชาญจากสถานประกอบการเป็นผู้ให้ความรู้ เสริมเติมเต็มแก่นักเรียนได้ตรงจุด ซึ่งเป็นการแก้ไขจุดอ่อนที่ผ่านๆ มาของเด็กอาชีวะ เชื่อว่าความร่วมมือดังกล่าว
จะช่วยให้นักเรียนสาขาการโรงแรมได้รับการพัฒนาตามที่สถานประกอบการต้องการส่งผลการดำเนินธุรกิจโรงแรมของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับอาเซียน

ขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการ นางบุณฑริก กุศลวิทย์ นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก กล่าวว่าระบบทวิภาคีนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ และผู้ประกอบการโรงแรมรู้สึกยินดีมากที่ สอศ.ผลักดันในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการให้เราได้เข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาหลักสูตรซึ่งในฐานะผู้ใช้บุคลากร เราจึงรู้ว่าจุดใดที่ต้องเสริมเพิ่มเติมให้เข้มแข็ง เนื่องจากอาชีพด้านการโรงแรมนั้นเรื่องทักษะจำเป็นอย่างมาก หากเด็กไม่เชี่ยวชาญในการปฏิบัติจริงพอจบออกมาทำงานก็ต้องนับหนึ่งใหม่ซึ่งการมีทวิภาคี ถือเป็นแต้มต่อที่สำคัญเพราะผู้ประกอบการจะได้เห็นและสัมผัสได้ด้วยตนเองว่าเด็กมีความรู้ ความสามารถอะไร ซึ่งนับเป็นก้าวย่างสำคัญของการพัฒนาคนอย่างแท้จริง

“ในโครงการที่ร่วมมือกันอยู่นั้นเด็กเข้าสู่ระบบทวิภาคีได้ตั้งแต่เรียน ปวช.2 แล้วก็ทำงานจัดสรรเวลาเรียนกับทางวิทยาลัย และเด็กก็ได้ค่าตอบแทนรวมถึงสวัสดิการพื้นฐาน เมื่อจบ ปวช.3 ก็มีโอกาสได้รับทำงานในโรงแรมนั้นเพราะมีระบบประกันงาน หรือหากจะต่อ ปวส.หรือต่อยอดถึงระดับปริญญาตรีก็สามารถทำได้ในรูปแบบทวิภาคีเช่นเดิม”นางบุณฑริก กล่าวและว่า ในอนาคตสมาคมฯ และ สอศ.จะร่วมกำหนดแผนกลยุทธ์และความต้องการกำลังคนร่วมกันด้วย

ด้านอดีตนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต น.ส.สินีนาฎ ทองย่อน พนักงานแผนกอาหารอิตาเลียน และ น.ส.จริยา พินสุวรรณ์ พนักงานเบเกอร์รี่ โรงแรม Indigo Pearl ภูเก็ต ซึ่งสองสาวเคยมาฝึกงานและได้รับเลือกเข้าทำงานที่นี่มาประมาณ 3 ปีแล้วนั้น ให้ความเห็นสอดคล้องกัน ว่าการฝึกงานที่สถานประกอบการโดยตรงนั้นเป็นเรื่องที่ดีมาก และจำเป็นอย่างยิ่งเพราะจะได้เรียนรู้การทำงานจริง อุปกรณ์จริง เช่น ชนิดของแป้งที่จะมาประกอบอาหาร ได้ทดลองทำอาหาร ขนมเมนูใหม่ๆ แต่การเรียนในวิทยาลัยวิชาปฏิบัติมีน้อย เช่น สัปดาห์หนึ่งมี 1-2 คาบเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเน้นวิชาการ อย่างรุ่นพวกตนมาฝึกที่นี่ 4 เดือนก็ได้รับการฝึกฝนเข้มข้น แต่ถ้าในอนาคตจะมีการปรับให้ระยะเวลาการฝึกงานมากกว่านี้ก็เป็นที่ดีและเห็นด้วย

นับจากนี้ ระบบทวิภาคีจะเป็นกลไกสำคัญที่สุดของผู้ผลิตและผู้ประกอบการเพื่อร่วมผลิตบุคลากรทางสายอาชีพที่ได้ศักยภาพตามความต้องการที่แท้จริง และยังมีหลายสาขาวิชาชีพที่ สอศ.ต้องพยายามผลักดันนำกลไกนี้ไปจับคู่ผู้ประกอบการเพื่อผลิตกำลังให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น