xs
xsm
sm
md
lg

“หมอประดิษฐ” ไม่สน “หมอวิชัย” ฟ้องดีเอสไอ ลั่นไม่ได้ใส่สีใคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอประดิษฐ” ท้า “หมอวิชัย” ฟ้องดีเอสไอ บอกเป็นสิทธิส่วนตัว ลั่นไม่ได้ป้ายร้ายเพื่อปลด ผอ.อภ.ตามที่สภาที่ปรึกษาฯระบุ พ้อคนแก้ปัญหาถูกมองเป็นพวกยุ่งยาก ยันไม่จัดการพวกกล่าวหารายวัน บอกอโหสิกรรมให้ ให้เวลาพิสูจน์ตนจะดีกว่า

วันนี้ (8 พ.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) เตรียมฟ้องกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หากพบว่าสำนวนที่ส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีเรื่องละเมิดตนเองว่า เรื่องดังกล่าวเป็นสิทธิส่วนตัวของ นพ.วิชัย หากไม่พอใจเพราะเห็นการทำงานไม่ถูกต้องก็สามารถฟ้องร้องดีเอสไอได้ ส่วนการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ.นั้น ตนเองไม่มีสิทธิปลด เพราะเป็นหน้าที่ของบอร์ด อภ. หากดูกันที่ข้อเท็จจริงไม่มีใครใส่ร้ายใครได้ ซึ่งขณะนี้เป็นการพูดกันบนฐานข้อมูลคนละส่วน

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า จากการเข้าไปดูโรงงานผลิตยาพาราเซตามอลที่ อภ.ด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ายังไม่ได้เปิดการผลิต เพราะอยู่ในขั้นตอนการตรวจรับ เครื่องจักรยังติดตั้งไม่ครบถ้วน ส่วนการให้บอร์ด อภ.ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องต่างๆ ของ อภ.นั้น ตนยังไม่ได้รับรายงาน แต่ทราบว่าจะมีการประชุมใหญ่สิ้นเดือนนี้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า การดำเนินการของ รมว.สาธารณสุข เป็นลักษณะของการป้ายเพื่อปลด ผอ.อภ. นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ตนเคารพสภาที่ปรึกษาฯ ที่กรุณาให้ความเห็น แต่ไม่รู้ว่าให้ความเห็นฐานะอะไร อย่างคำว่าป้ายคือการเอาเรื่องไม่จริงไปให้ ทุกวันนี้ตนก็ยอมให้มีการกล่าวหาได้ทุกเรื่อง แล้วให้ความจริงพิสูจน์ตัวเองว่าสิ่งที่ตนพูดเลื่อนลอยหรือไม่ หากไม่เลื่อนลอยก็ต้องถอนคำพูดว่าป้าย ที่สำคัญตนไม่ได้ทำอย่างนั้น เพราะสิ่งที่ตนทำมีข้อเท็จจริงยืนยันทุกครั้ง เรื่องต่างๆ ที่ตนพูดสอบออกมาแล้วก็มีมูล

ผมสงสัยว่าทุกวันนี้ ทำไมคนที่พยายามเข้าไปป้องกันปัญหา หาว่าเป็นคนสร้างความยุ่งยาก ขณะคนที่สร้างปัญหาขึ้นมากลับได้รับการดูแลอีกแบบหนึ่ง ทั้งที่ปัญหาที่ยกขึ้นมาเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประชาชน แล้วผมก็เข้าไปแก้เชิงระบบ อย่างเรื่องยาใกล้หมดอายุที่จะนำมาใช้ผลิตยา ก็แก้ไปจนถึงข้อบังคับเลยว่าจะไม่ให้เกิดกรณีอย่างนี้อีก แม้จะสามารถทำได้ตามหลักวิชาการ แต่หากผมปล่อยตรงนี้ไปแล้วภาคเอกชนเกิดเอาแนวคิดนี้ไปใช้ เอาวัตถุดิบใกล้หมดอายุมารีเทสต์ได้ ประชาชนจะยอมรับหรือไม่ แล้วใครจะเข้าไปควบคุมมาตรฐานตรงนี้ แล้ว อภ.ในฐานะหน่วยงานรัฐก็ต้องมีมาตรฐานที่สูงกว่าขั้นหนึ่ง จึงต้องเข้าไปแก้ปัญหามากกว่าปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นแล้วสั่งสอบสวนลงโทษเพื่อเป็นฮีโร่ แต่ประชาชนมีแต่ผลเสีย” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม เรียกร้องให้รับผิดชอบเรื่องการสต๊อกน้ำเกลือเพื่อขายให้โรงพยาบาลต่างๆ 7 ล้านถุง แต่ขายได้เพียง 1 ล้านถุงเท่านั้น นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า เมื่อมองเชิงวิชาการ น้ำเกลือมีการใช้ปีละ 3-4 ล้านถุง แม้ปีที่แล้วน้ำไม่ท่วมแต่โรงงานผลิตน้ำเกลือมีการปิดซ่อมพร้อมกันทำให้น้ำเกลือขาดตลาด จึงควรมีการสต๊อกไว้สัก 6-7 ล้านถุง แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี อย่างสิ้นปีก็ขายให้ สธ. แล้วสั่งล็อตใหม่มาเก็บ คอยเวียนใหม่เป็นน้ำเกลือที่อายุไม่มาก ไม่ใช่เก็บไว้ 3 ปีจะหมดอายุแล้วเอาใช้

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรกับกรณีที่ผู้ใต้บังคับบัญชาพูดจาใส่ร้ายกล่าวหาผู้บังคับบัญชารายวัน นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ตนยึดหลักอโหสิกรรม เพราะถือว่าทุกคนเป็นรุ่นน้อง หากไม่มีใครร้องมาจะไปสอบเขาทำไม และอยากจะถามกลับว่าตนเคยออกมาแฉอะไร อภ.หรือไม่ มีแต่คนอื่นมาพูดว่ารัฐมนตรีจะทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว อภ.จะโดน ใครเป็นคนก่อเรื่องให้ อภ.เสียหายกันแน่ คนพูดต้องมีความรับผิดชอบบ้าง ปัญหาเกิดจากคุณออกมาพูดทั้งนั้น

ด้าน นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์หรือเออาวีของ อภ. เปิดเผยว่า ภายในวันที่ 8 พ.ค.นี้ ทางคณะกรรมการฯ จะมีการสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งผลสรุปเบื้องต้นไม่ได้มีการชี้มูลความถูกผิดของเรื่องดังกล่าวเพียงแต่ได้มีการตั้งข้อสังเกตของกระบวนการทำงาน ซึ่งพบว่ามีการปรับแบบการก่อสร้างตลอดระยะเวลาและทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัทที่ปรึกษา ผู้รับเหมา คณะกรรมการตรวจการจ้าง จำเป็นต้องหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้โรงงานที่ใกล้จะเสร็จสามารถเดินหน้าต่อและเปิดใช้งานได้ โดยถือเป็นหน้าที่ของบอร์ด อภ.ที่ต้องดำเนินการ เพราะคณะกรรมการฯไม่มีหน้าที่ตัดสินเพียงแต่สอบเพื่อให้เกิดความชัดเจนในกระบวนการทำงานเท่านั้น และประเด็นที่ยังค้างอยู่ คือ เรื่องเครื่องปรับอากาศที่ทำให้ยังไม่สามารถเปิดโรงงานได้นั้น เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการแก้ปัญหา คณะกรรมการฯ จะไม่ลงความเห็นเพราะจะเกิดความไม่เป็นธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น