xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพฯ อภ.ยื่นสมุดปกขาวตรวจสอบ “ประดิษฐ” ทำตัวน่าสงสัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สหภาพฯ อภ.ยื่นสภาที่ปรึกษาฯ ตรวจสอบ “หมอประดิษฐ” มีพฤติกรรมน่าสงสัยให้ดีเอสไอตรวจสอบองค์การเภสัชฯ ซัดประธานบอร์ด อภ.ไม่เคยให้ข่าวกู้ภาพลักษณ์ เตรียมประชุม 9 พ.ค.นี้ กดดันแสดงความรับผิดชอบ เผยน้ำเกลือ 7 ล้านถุงออเดอร์ รมว.สธ.ทำขาดทุนบานจะรับผิดชอบอย่างไร ด้านสภาที่ปรึกษาฯ แนะให้องค์กรอิสระอื่นร่วมตรวจสอบ ลดครหาป้ายเพื่อปลด

วันนี้ (7 พ.ค.) นายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางไปยื่นสมุดปกขาวต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่า การเดินทางมายื่นสมุดปกขาวในครั้งนี้ เพื่อให้สภาที่ปรึกษาฯช่วยตรวจสอบการดำเนินการของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ยื่นเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบความผิดปกติของการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอลของ อภ.ว่ามีความเคลือบแคลงอันใดหรือไม่ เพราะสหภาพฯมีความสงสัยในการกระทำที่เร่งรีบ ที่สำคัญยังมีการออกข่าวที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ อภ.เสียหายในสายตาประชาชน และผู้ให้ข่าวอย่าง รมว.สาธารณสุข หรือแม้แต่ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ก็ไม่มีแม้แต่ออกมาแถลงการณ์ว่ายาที่ อภ.ผลิตนั้นได้มาตรฐานทุกตัว จึงมีความสงสัยว่าเป็นการดำเนินการเพื่อลดความน่าเชื่อถือของ อภ.หรือไม่ ต้องการทำให้ อภ.อ่อนแอและทำการแปรรูปจริงหรือไม่

“ประธานบอร์ด อภ.มีหน้าที่ต้องปกป้องดูแลองค์การเภสัชฯ ไม่ให้เกิดความเสียหาย แต่การกระทำทุกวันนี้กลับไม่ได้ออกมาให้ความช่วยเหลืออะไรเลย แม้แต่การออกมาให้ข่าวว่ายาพาราฯของ อภ.ไม่มีการปลอมปน หรือวัตถุดิบยาพาราฯที่ปนเปื้อนก็ไม่ได้นำมาผลิตยา เพราะฉะนั้นยาของ อภ.จึงมีความน่าเชื่อถือได้ ก็ไม่เคยออกมาพูดสักครั้ง”

ประธานสหภาพฯ อภ.กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ เวลา 10.00 น.ทางสหภาพฯจะมีการประชุมหารือกันที่ อภ. เพื่อกดดันให้ประธานบอร์ด อภ.ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ เพราะเคยยื่นเรื่องไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้นที่สมกับบทบาทและหน้าที่ของประธานบอร์ด อภ.

นายระวัย กล่าวอีกว่า สำหรับสมุดปกขาวที่ยื่นให้แก่สภาที่ปรึกษาฯในวันนี้ เป็นเอกสารที่ส่วนใหญ่ทางผู้บริหารได้ยื่นให้แก่ดีเอสไอทุกเรื่อง ทั้งกรณีวัตถุดิบยาพาราฯ การสร้างโรงงานวัคซีนล่าช้า ฯลฯ ซึ่งเวลาออกข่าวกลับไม่เคยได้รับการพูดถึง เช่น กรณีข้อสงสัยที่ว่าสั่งซื้อวัตถุดิบยาพาราฯ เข้ามา 48 ตัน แล้วพบการปนเปื้อน เหตุใดจึงยังสั่งเข้าอีก 100 ตัน ซึ่งความจริงแล้วเอกสารที่ผู้บริหารยื่นให้ดีเอสไอระบุว่า การพบการปนเปื้อนนั้นพบภายหลังจากการนำเข้าวัตถุดิบล็อตที่สอง หรืออย่างกรณี นพ.ประดิษฐ ให้ อภ.จัดหาน้ำเกลือ 7 ล้านถุง เพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆ มาซื้อน้ำเกลือจาก อภ.โดยตรง ในช่วงที่น้ำเกลือขาดแคลน ปรากฏว่าขณะนี้ขายไปได้เพียง 1 ล้านถุงเท่านั้น ยังเหลืออีก 6 ล้านถุง ซึ่งตีเป็นมูลค่าแล้วก็ประมาณ 180 ล้านบาท อย่างเรื่องนี้ก็อยากจะถาม รมว.สาธารณสุข กลับเช่นกันว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ

ด้าน รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) กล่าวว่า จากข้อมูลที่สหภาพฯ นำมาให้ ทำให้โดยส่วนตัวมองภาพ อภ.แตกต่างจากข่าวที่ออกมาจากภาครัฐ รวมถึงมองว่าการตรวจสอบรัฐวิสหากิจในระยะหลัง นักการเมืองมักจะทำใน 4 ลักษณะ คือ 1.ไปถึงปลดเลย 2.ให้ร้ายแล้วปลด 3.รอจังหวะแบบค่อยเป็นค่อยไป และ 4.ร่วมมือกันทำงาน ตามกำหนดสัญญาจ้าง ซึ่งแบบสุดท้าย เป็นที่คาดหวังเพราะจะทำให้องค์กรได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่โดยทั่วไปมักจะเลือก 1 ใน 3 แบบแรก สำหรับ อภ.ไม่ทราบว่าสุดท้ายจะเป็นประการใด แต่บอกได้ว่าน่าห่วง เนื่องจากมีการให้ข่าวมาโดยตลอดจนอาจจะทำให้สังคมเกิดข้อครหาได้ว่าผู้กล่าวหามีธงมาก่อน การทำเช่นนี้นำไปสู่ข้อสงสัยว่ามีวัตถุประสงค์ที่มากกว่าการบริหารจัดการเชิงประสิทธิภาพ

“ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็ไม่มีเหตุผลพอ เนื่องจาก นพ.วิทิต ตอบโจทย์ทั้งด้านการทำรายได้ การรักษาพันธกิจความมั่นคงด้านยาและการเข้าถึงยา ตลอดจนการรักษาราคายาได้ดีไม่แพงเกินไป จนประชาชนมีที่พึ่ง ถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคตามพันธกิจของ อภ.ที่มีประสิทธภาพ การส่งเรื่องฟ้องดีเอสไอ หรือ ส่งต่อ ป.ป.ช.ดูจะเป็นการเฟ้อและอาจทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ ถือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาตายไปก่อนแล้วจะฟื้นหรือไม่เป็นเรื่องของผู้ที่ถูกกล่าวหา เพราะฝ่ายที่กล่าวหาไม่ต้องรับผิดชอบอะไร” รศ.วิทยา กล่าว

รศ.วิทยา กล่าวอีกว่า การตรวจสอบที่ดีต้องให้ภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่ผู้มีอำนวจรัฐร่วมกันมาตรวจสอบ โดยอาจให้ผู้ที่มาจากองค์กรภายนอก ส่วนการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช ก็ไม่จำเป็นต้องออกข่าวมากมายเช่นที่ทำอยู่ ทั้งนี้ อาจส่งให้เครือข่ายต้านคอร์รัปชัน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ หรือองค์กรอื่นๆ ไปช่วยดูเพื่อความโปร่งใสและลดครหาว่า การกล่าวหามีผลประโยชน์ในแง่ที่จะนำผู้บริหารของตนมาแทน โดยส่วนตัวอยากเห็นภาคประชาชนมาร่วมสอดส่องความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะมีขึ้นที่ อภ.ก่อนที่ฝ่ายอำนาจจะมีการดำเนินการป้ายแล้วปลด นอกจากนี้ สภาที่ปรึกษาฯ โดย คณะทำงานคุณภาพชีวิต สาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค จะทำการศึกษาเชิงนโยบายเรื่อง อภ.ในฐานะที่เป็นที่พึ่งของสังคมด้านยา เพื่อให้ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น