ตั้ง 2 กก.บอร์ด กพฐ.ร่วมเป็น กก.กลั่นกรองย้ายผู้บริหาร ร.ร.คุณภาพพิเศษ-วัตถุประสงค์พิเศษ พร้อมให้ สพฐ.สรุปข้อดี-เสีย หลังมีเสียงสะท้อนปัญหาติดขัดการย้ายข้ามเขตฯ ชี้อนาคตอาจต้องทบทวนแก้ไขใหลักเกณฑ์ใหม่ พร้อมเตรียมนัดประชุมพิจารณาย้ายผู้บริหารของ ร.ร.กลุ่มดังกล่าวเร็วๆ นี้
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นัดแรกที่มีนายสุรัฐ ศิลปอนันต์ เป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการแต่งตั้งให้กรรมการ กพฐ.2 คนเข้าเป็นกรรมการในคณะกรรมการกลั่นกรองการย้ายผู้บริหารโรงเรียนคุณภาพพิเศษและโรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษ และจากนี้ไปจะได้มีการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯเพื่อพิจารณาย้ายผู้บริหาร ในโรงเรียนกลุ่มดังกล่าวที่ยังไม่ได้แต่งตั้ง
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กพฐ.ได้มีการอภิปรายในประเด็นขอให้มีการประเมินผลตามหลักเกณฑ์ และวิธีการการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.ในกลุ่มดังกล่าวผ่านคณะ กรรมการกลั่นกรองที่ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2554 ว่ามีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง เนื่องจากมีเสียงสะท้อนกลับมาทั้งข้อดีและข้อเสีย ฉะนั้นจึงมีการเสนอให้ประมวลผลสิ่งที่เกิดขึ้นมาและควรมีการเสนอข้อมูลให้ กพฐ.ได้พิจารณาเรื่องนี้สำหรับอนาคตและอาจมีการเสนอให้ทบทวนหลักเกณฑ์เรื่อง นี้
“ จุดมุ่งหมายของการมีคณะกรรมการกลั่นกรองฯในส่วนกลางเพื่อให้การย้ายข้ามเขต พื้นที่การศึกษา โดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสบการณ์มีโอกาสจะย้ายเข้ามาในต่างเขต พื้นที่ฯได้มากขึ้น ฉะนั้นวิธีการการแก้อาจจะไม่ต้องใช้การกลั่นกรองจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียวก็ได้ แต่สามารถใช้การกระจายอำนาจไปยังคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา เพียงแต่ว่าเรื่องนี้หากจะมีการทบทวนจะต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการย้าย เพื่อไม่เป็นอุปสรรคจะได้ผู้บริหารที่มีความสามารถ โดยเรื่องนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุปแต่จะเป็นการบ้านให้ สพฐ.ไปประมวลผลอีกครั้งหนึ่ง” เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า การยื่นคำร้องการย้ายในครั้งต่อไปจะเริ่มในเดือนสิงหาคม หากประมวลผลเรื่องนี้ออกมาและนำเข้าที่ประชุม กพฐ.ไม่เกินเดือนกรกฎาคมเพื่อ ให้ทันนำเข้าที่ประชุม ก.ค.ศ.เชื่อว่าจะทันใช้เพื่อการย้ายในรอบต่อไป
ด้าน นายสุรัฐ กล่าวว่า อำนาจการแต่งตั้งผู้บริหารโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาโดยปกติ แล้วจะเป็นภาระหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯอยู่แล้ว แต่เกณฑ์ดังกล่าวมีข้อจำกัดตรงที่ไม่มีโอกาสจะเลือกสรรผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ ดังนั้นการที่ ก.ค.ศ.ได้หาวิธีเปิดกว้างหาวิธีและให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เพื่อเฟ้นหาคนเก่ง มีความสามารถ แต่เรื่องนี้ก็มีทั้งผลบวกและผลลบ แต่เมื่ออำนาจเป็นของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ก็ควรจะให้เขาดำเนินการเอง เพียงแต่จะทำอย่างไรให้มีความเป็นธรรมและได้คนดีมีฝีมือ ซึ่งแนวโน้ม กพฐ.จะทบทวนเรื่องนี้อย่างแน่นอน
รายงานข่าวระบุว่า สถานศึกษาที่มีวัตถุประสงค์พิเศษและสถานศึกษาคุณภาพพิเศษ มีจำนวน 111 โรงเรียน แบ่งเป็น 1.สถานศึกษาที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ สายมัธยมศึกษา 51 โรงเรียน สายประถมศึกษา 4 โรงเรียน 2.สถานศึกษาคุณภาพพิเศษ สายมัธยมศึกษา 56 โรงเรียน สายประถมศึกษา 10 โรงเรียน