xs
xsm
sm
md
lg

แยกอุดมไม่คืบ! “วันชัย” ชี้ฝ่ายการเมืองไม่เอาด้วยหวั่นเป็นภาระงบประมาณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แยกอุดมไม่คืบ! “วันชัย” เผยท่าทีฝ่ายการเมืองไม่เอาด้วย หวั่นเป็นภาระงบประมาณ ขณะที่มหา’ลัย ต้องการแยกเพื่อการบริหารที่สะดวก ด้าน “สุเมธ” อดีตเลขาธิการ กกอ.แนะให้อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล ที่สำคัญต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่แค่ นศ.และนักการเมือง ฟาก “สมคิด” แจงแยกเป็นทบวง หรือทบวงภายใต้ ศธ.ดังเดิมก็ได้แต่ขอแค่อิสระบริหารจัดการไม่ต้องขึ้นตรง ศธ.

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มอบหมายให้ไปศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแยกอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และจัดตั้งเป็นกระทรวงอุดมศึกษาและวิจัย ว่า เรื่องดังกล่าวคงต้องใช้เวลาศึกษารายละเอียดอีกพักใหญ่ โดยจะต้องสอบถามความคิดเห็นให้รอบด้านด้วย ซึ่วขณะนี้เท่าที่ดูเสียงแตกออกเป็นสองฝ่ายคือ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ อยากให้แยกออกมาเป็นกระทรวงอุดมศึกษาและวิจัย เพราะจะทำให้สะดวกกับการบริหารจัดการ และการจัดสรรงบประมาณ ขณะที่ท่าทีทางฝ่ายการเมืองยังไม่อยากให้แยก เพราะอาจจะคิดว่าจะเป็นภาระกับงบประมาณ

มีความคิดเห็นหลาย ๆ ฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า หากตั้งเป็นกระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัย จะทำให้ขอบข่ายความรับผิดชอบมีมากเกินไป จึงอยากให้ตั้งเป็นแค่กระทรวงอุดมศึกษาก่อนตรงนี้จะต้องรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ส่วนผมเห็นว่า ถ้าจะแยกก็ควรจะเป็นกระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัยเลย เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานหลักในการผลิตงานวิจัยอยู่แล้ว แต่ขณะนี้งบวิจัยกระจายอยู่หลายที่ ดังนั้นหากมีกระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัยเกิดขึ้น จะได้มีตัวประสาน ที่สำคัญจะสามารถกำหนดทิศทางการวิจัยของประเทศได้ด้วย แต่เท่าที่ดูจากท่าทีแล้วเรื่องนี้คงต้องใช้เวลาอีกนาน”รศ.ดร.วันชัย กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานทปอ. กล่าวว่า วันที่ 28 เม.ย.ซึ่งจะมีการประชุม ทปอ.จะมีการพูดคุยเรื่องดังกล่าว โดยทราบว่าจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียดการแยกอุดมศึกษาฯเพิ่ม เดิมจากเดิมที่มี รศ.ดร.วันชัย, ศ.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.)และศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิชา ทอง โรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นแกนหลักในการศึกษาและจัดทำข้อเสนอต่าง ๆ อยู่แล้ว เนื่องจากวิธีการที่จะทำให้อุดมศึกษามีความอิสระ อาจไม่จำเป็นต้องแยกเป็นกระทรวงก็ได้ เพราะหากแยกเป็นกระทรวงรัฐบาลก็คงไม่ยอม แต่ยังมีวิธีการอื่น ๆ เช่น แยกเป็นทบวงเช่นเดิม หรือแยกเป็นทบวงที่อยู่ภายใต้ศธ. แต่ให้มีการบริหารจัดการต่างหาก ไม่ต้องขึ้นกับศธ.โดยตรง และให้ รมช.ศึกษาธิการ หนึ่งคนเป็นผู้กำกับดูแลเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาอุดมศึกษาขาดคนที่ดูแลอย่างแท้จริง เพราะ ศธ.ต้องดูแลตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษาจึงมักถูกลืม

ขณะที่ นายสุเมธ แย้มนุ่น อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (อดีตเลขาธิการ กกอ.) กล่าวว่า ขณะนี้เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งมีความอึดอัด และต้องการความอิสระ แต่การจะตัดสินใจอะไร ตนอยากให้อยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล รวมถึงมีการศึกษาข้อดี ข้อเสีย ที่สามารถอธิบายเหตุผลที่ชัดเจนให้แก่สาธารณะชนได้ ขณะเดียวกันจะต้องดูทิศทางนโยบายของรัฐบาลด้วย โดยทั้งหมดจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งหมายถึงประชาชน และนักศึกษา ไม่ใช่นักการเมืองหรือผู้บริหารประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น