xs
xsm
sm
md
lg

“สุขุมพันธุ์” เร่งแก้ภัยแล้งฝั่งตะวันออก เล็งออก กม.ยึด พท.ร้างเกิน 10 ปี เป็นของรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สุขุมพันธุ์” นำทีมบุกฝั่งกรุงเทพตะวันออกเดินหน้าแก้ปัญหาภัยแล้ง ไฟไหม้หญ้า และยาเสพติด ระดมเจ้าหน้าที่และรถดับเพลิงประจำ 14 จุด เข้าถึงพื้นที่ไฟไหม้หญ้า ห่วงภัยแล้ง ตั้งศูนย์อำนวยการ รับแจ้งความช่วยเหลือ โทร.199 และ 1555 เล็งออกข้อบัญญัติยึดพื้นที่ร้างเกิน 10 ปี เป็นของรัฐผลักดันเจ้าของแสดงตัว

วันนี้ (9 เม.ย. ) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่เร่งรัดการปฏิบัติงานตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม.ของกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก ครั้งที่ 1/2556 ประกอบด้วย เขตบางกะปิ สะพานสูง บึงกุ่ม คันนายาว ประเวศ ลาดกระบัง มีนบุรี หนองจอก และเขตคลองสามวา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการโยธา และสำนักการระบายน้ำ ร่วมการประชุม ณ ศาลาประชาคมเขตหนองจอก ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม.ได้เร่งรัดการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ อาทิ การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟไหม้หญ้า ภัยแล้ง และปัญหายาเสพติด จากนั้นได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประตูระบายน้ำคลอง 13 แขวงหนองจอก เขตหนองจอก ในการผันน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ตะวันออก

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ตนเองมีความห่วงใยต่อความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาไฟไหม้หญ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค.ของทุกปี ในพื้นที่กรุงเทพตะวันออกมักเกิดไฟไหม้หญ้าบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน อากาศแห้งแล้ง ง่ายต่อการเกิดอัคคีภัยและการลุกลาม ซึ่งจากรายงานสถิติการเกิดเหตุเพลิงไหม้ของสถานีดับเพลิง 46 แห่ง พบว่า เดือน ม.ค. 2556 เกิดไฟไหม้หญ้า 369 ครั้ง เดือน ก.พ. 354 ครั้ง และเดือน มี.ค. 386 ครั้ง ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากประชาชนเผาซากวัชพืชเพื่อทำการเพาะปลูกใหม่ และเผาพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเพื่อป้องกันการเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษ อีกทั้งเจ้าของที่ดินขาดความรับผิดชอบ ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลความสะอาดและกำจัดวัชพืชในที่ดินของตนเอง อาจมีบุคคลที่จุดไฟเล่นด้วยความคึกคะนอง หรือทิ้งก้นบุหรี่ที่ยังไม่ดับลงไปในพื้นที่ดังกล่าว จนเกิดการลุกลามไหม้บ้านเรือน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและประชาชน อีกทั้งส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อม ดังนั้นจึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือตลอด 24 ชั่วโมง และให้สำนักการโยธาไปศึกษาการออกข้อบัญญัติในการดูแลพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เกิน 10 ปี ซึ่งจะมีการพิจารณาให้ยึดคืนมาเป็นของรัฐ โดยเชื่อว่าจะสามารถติดตามเจ้าของที่ดินรกร้างให้ออกมาแสดงตัวทันที นอกจากนี้ ให้เร่งหาพื้นที่ทำแก้มลิงสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้งเพิ่มเติมด้วย ซึ่งในปีนี้ไม่กังวลเกี่ยวกับน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ฝั่งตะวันออก เพราะได้ขอให้การประปานครหลวงขยายพื้นที่จ่ายน้ำประปาให้ครอบคลุมพื้นที่แล้ว

ทั้งนี้ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานถึงแผนเผชิญเหตุเฉพาะกิจในการแก้ไขปัญหาไฟไหม้หญ้า โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่และรถดับเพลิงประจำจุดเสี่ยง 14 จุด ได้แก่ บริเวณสำนักงานเขตหนองจอก สนามฟุตซอลบางกอกอารีน่า ถนนเลียบวารี ถนนกรุงเทพกรีฑา วัดไผ่เขียว ถนนสรงประภา โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย 2 หมู่บ้านเศรษฐกิจ ซอยเพชรเกษม 77 ซอยบางกระดี่ และถนนพุทธมณฑลสาย 1 เป็นต้น โดยดำเนินการร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่ และ สมาชิก อปพร.ในการให้ความรู้แก่ประชาชน พร้อมทั้งกำหนดจุดเพื่อสร้างแนวกันไฟในพื้นที่ล่อแหลม ซึ่งดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2556 เป็นต้นมา

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้สภาวะอากาศที่แห้งแล้ง ประกอบกับน้ำในเขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้อย ส่งผลให้ปล่อยน้ำออกมาได้น้อย และทำให้ประชาชนในบางพื้นที่โดยเฉพาะเขตชั้นนอกของ กทม.ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตร และการปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่น้ำประปายังเข้าไม่ถึง ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก แม้ว่ากรุงเทพมหานครจะทำบันทึกความตกลง (MOU) ร่วมกับการประปานครหลวง ในการวางท่อประปาให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม กทม.ได้กำหนดมาตรการและยุทธศาสตร์การปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และเตรียมความพร้อมในด้านยานพาหนะสำหรับใช้บรรทุกน้ำ ภาชนะเก็บน้ำ เครื่องสูบน้ำ ประปาหมู่บ้าน บ่อน้ำตื้น บ่อน้ำบาดาล และประตูระบายน้ำ ให้พร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง อีกทั้งให้การสนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภค และยารักษาโรค พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อทำหน้าที่อำนวยการ ติดตามสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือ โดยประชาชนสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โทร.0-2270-0889 หรือศูนย์พระราม โทร.199 และสายด่วนศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กทม.โทร.1555

จากนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำ ณ ประตูระบายน้ำคลอง 13 เขตหนองจอก เพื่อดูการผันน้ำในการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ฝั่งตะวันออกที่ประสบปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งให้ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทำแผนป้องกันอัคคีภัยในช่วงฤดูแล้งแบบถาวร เนื่องจากสภาพพื้นที่ฝั่งตะวันออกเปลี่ยนแปลงไป มีประชาชนมาสร้างบ้านเรือนและอาศัยอยู่เพิ่มขึ้น จึงเป็นห่วงว่าอาจเกิดไฟไหม้บ้านสร้างความสูญเสียได้ ขณะเดียวกัน สำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.ได้ประสานกรมชลประทานให้มีการปล่อยน้ำลงในพื้นที่ฝั่งตะวันออกผ่านประตูระบายน้ำคลองสิบสาม เขตหนองจอก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวิกฤตภัยแล้งในเดือน มี.ค.-พ.ค.ซึ่งจะผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เข้าสู่คลองแสนแสบและคลองลำปะทิว เพื่อใช้ในการเกษตรกรรมพื้นที่เขตมีนบุรี ลาดกระบัง และเขตหนองจอก
กำลังโหลดความคิดเห็น