xs
xsm
sm
md
lg

สถิติชี้ข้อสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 2 ยากเกือบทุกวิชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สทศ.ประกาศผล GAT/PAT ครั้งที่ 2/2556 แล้ววานนี้ ขณะที่ค่าสถิติชี้ข้อสอบยากเกือบ เฉลี่ยเกือบทุกวิชาไม่ถึงครึ่ง พร้อมเปิดให้ยื่นขอดูกระดาษคำตอบ O-NET, GAT, PAT ได้ตั้งแต่ 3-5 เม.ย.นี้

วันนี้ (2 เม.ย.) ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ. พร้อมด้วย ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สทศ.แถลงข่าว “สรุปผลการจัดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ปีการศึกษา 2555 และผลการจัดการทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ หรือ PAT ครั้งที่ 2/2556” โดย รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า เดิม สทศ.จะประกาศผลสอบ GATและ PATวันที่ 10 เม.ย.นี้ ทางเว็บไซต์ สทศ. http://www.niets.or.th แต่เนื่องจาก สทศ.ตรวจข้อสอบเสร็จเร็ว จึงประกาศผลก่อนกำหนด เพื่อนักเรียนและผู้ปกครองจะได้ทราบผลเร็วขึ้น โดยได้ประกาศตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ ซึ่งการประกาศผลเรียบร้อย อย่างไรก็ตามเมื่อนักเรียนดูคะแนนสอบแล้วมีข้อสงสัยคะแแนน O-NET GATและ PAT ให้ยื่นคำร้อง เพื่อขอดูกระดาษคำตอบได้ที่ สทศ.ตั้งแต่วันที่ 3-5 เม.ย.เวลา 9.00-16.30 น.และเปิดให้ดูกระดาษคำตอบ วันที่ 10 เม.ย.

รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับค่าสถิติ GAT/PAT มีดังนี้ GAT คะแนนเต็ม 300 คะแนน มีผู้เข้าสอบ จำนวน 124,601 คน คะแนนเฉลี่ย 297.50 คะแนนต่ำสุด 2.50 คะแนน สูงสุด 297.50 ช่วงคะแนนสูงสุดที่นักเรียนทำคะแนนได้ 150.01-180.00 จำนวน 31,611 คน GAT1 คะแนนเต็ม 150 คะแนน เข้าสอบ จำนวน 79,855 คน เฉลี่ย 102.47 ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 150.00 ช่วงคะแนน 120.01-150.00 จำนวน 51,473 คน GAT2 คะแนนเต็ม 150 คะแนน เข้าสอบจำนวน 76,411 คน เฉลี่ย 53.63 ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 150.00 ช่วงคะแนน 30.01-60.00 จำนวน 77,201 คน PAT คะแนนเต็ม 300 คะแนน PAT1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ เข้าสอบ 79,855 คน เฉลี่ย 44.91 ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 295.00 ช่วงคะแนน 30.01-60.00 จำนวน 46,474 คน PAT2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ เข้าสอบ 76,411 คน เฉลี่ย 96.63 ต่ำสุด 18.00 สูงสุด 231.00 ช่วงคะแนน 90.01-120.00 จำนวน 34,843 คน PAT3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ เข้าสอบ 21,545 คน เฉลี่ย 113.75 ต่ำสุด 32.00 สูงสุด 280.00 ช่วงคะแนน 90.01-120.00 จำนวน 8,060 คน PAT4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ เข้าสอบ 5,040 คน เฉลี่ย 98.09 ต่ำสุด 6.00สูงสุด 226.00 ช่วงคะแนน 90.01-120.00 จำนวน 1,718 คน

PAT5 ความถนัดทางวิชาชีพครู เข้าสอบ 45,888 คน เฉลี่ย 144.01 ต่ำสุด 40.00 สูงสุด 234.00 ช่วงคะแนน 120.01-150.00 จำนวน 20,069 คน PAT6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ เข้าสอบ 6,334 คน เฉลี่ย 132.87 ต่ำสุด 56.00 สูงสุด 238.00 ช่วงคะแนน 120.01-150.00 จำนวน 2,669 คน PAT7.1 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส เข้าสอบ 3,014 คน เฉลี่ย 89.74 ต่ำสุด 30.00 สูงสุด 285.00 ช่วงคะแนน 60.01-90.00 จำนวน 1,812 คน PAT7.2 ความถนัดทางภาษาเยอรมัน เข้าสอบ 1,437 คน เฉลี่ย 87.39 ต่ำสุด 33.00 สูงสุด 285.00 ช่วงคะแนน 60.01-90.00 จำนวน 942 คน PAT7.3 ความถนัดทางภาษาญี่ปุ่น เข้าสอบ 2,530 คน เฉลี่ย 98.49 ต่ำสุด 27.00 สูงสุด 291.00 ช่วงคะแนน 60.01-90.00 จำนวน 1,359 คน PAT7.4 ความถนัดทางภาษาจีน เข้าสอบ 4,641 คน เฉลี่ย 85.58 ต่ำสุด 6.00 สูงสุด 285.00 ช่วงคะแนน 60.01-90.00 จำนวน 2,916 คน PAT7.5 ความถนัดทางภาษาอาหรับ เข้าสอบ 454คน เฉลี่ย 90.89 ต่ำสุด 39.00 สูงสุด 261.00 ช่วงคะแนน 60.01-90.00 จำนวน 256 คน และ PAT7.6 ความถนัดทางภาษาบาลี เข้าสอบ 2,145 คน เฉลี่ย 90.46 ต่ำสุด 21.00 สูงสุด 207.00 ช่วงคะแนน 60.01-90.00 จำนวน 1,121 คน

“ภาพรวมคะแนนสอบ GAT/PAT คะแนนสอบทุกวิชาดีขึ้นกว่าปีที่ผ่าน เนื่องจากนักเรียนมีการเตรียมความพร้อมมากขึ้น แต่ค่าเฉลี่ยเกือบทุกวิชาไม่ถึงครึ่ง ยกเว้นวิชา GAT และ GAT1 ในการคิดวิเคราะห์ ที่คะแนนเกินครึ่ง ขณะที่เมื่อมีการวิเคราะห์ความยากง่ายของข้อสอบว่าใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยวิชาGAT, PAT1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ และ PAT2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์, PAT 7.2 ความถนัดทางภาษาเยอรมัน และ PAT7.4 ความถนัดทางภาษาจีน จัดเป็นข้อสอบที่ยาก ส่วนที่เหลือมีความยากในระดับปานกลาง สาเหตุที่ข้อสอบยากเพราะเป็นข้อสอบคัดเลือกเด็กเข้าเรียน ทั้งนี้วิชาที่มีนักเรียนทำคะแนนเต็ม 150 คะแนน มากที่สุดคือ GAT1 จำนวน 6,383 คน และวิชาที่มีนักเรียนทำคะแนนได้ต่ำสุดคือ 0 คะแนน จำนวน 1,004 คน คือ GAT1 เช่นกัน”ผอ.สทศ.กล่าว

รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวต่อถึงการจัดสอบ O-NET ประจำปีการศึกษา 2555 ว่า ภาพรวมคะแนนสอบO-NET ป.6 ม. 3 และ ม.6 ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้กำหนดเป้าหมายปี 2561 ให้คะแนนเฉลี่ย 5 วิชาหลัก ได้ร้อยละ 50 ซึ่งดูจากแนวโน้มแล้วน่าจะเป็นไปได้ เพราะยังเหลือเวลาอีก 5 ปี อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังกำหนดให้มีการใช้คะแนน O-NET เป็นส่วนหนึ่งของการจบแต่ละช่วงชั้น น่าจะทำให้เด็กนักเรียนตั้งใจสอบ O-NET มากขึ้นและอยากให้สถานศึกษานำไปปรับปรุงการสอน ซึ่งตลอดมา สทศ.พยายามให้ ร.ร.นำค่าสถติระดับโรงเรียนเทียบกับขนาดโรงเรียน, เทียบในระดับจังหวัด, เทียบในสังกัดและต่างสังกัด, เทียบระดับประเทศ สถานศึกษาจะประเมินตนเองได้ว่า กลุ่มสาระของโรงเรียนอยู่ในระดับใด ซึ่งควรปรับปรุงหรือไม่อย่างไร และมีเป้าหมายเพื่อให้ รองผอ.ฝ่ายวิชาการ หัวหน้ากลุ่มสาระ นำผลไปประเมินเพื่อปรับปรุงการสอนให้นักเรียนรุ่นหน้าได้คะแนน O-NET ดีขึ้นกว่ารุ่นนี้

อย่างไรก็ตาม จากการประมวลผลภาพรวม O-NET ระดับประเทศ ระดับม. 6 สำหรับวิชาหลัก 5 วิชา พบว่า 1.วิชาภาษาไทย นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ ด้านการอ่าน ดีที่สุด รองลงมาคือ การฟัง การดู และการพูด, การเขียน,หลักการใช้ภาษา, วรรณคดีและวรรณกรรม ดังนั้น หาก ร.ร.ต้องการจะยกระดับคะแนน O-NETภาษาไทย จะต้องเร่งขับเคลื่อนด้านการเขียน,หลักการใช้ภาษาและวรรณคดีและวรรณกรรม 2.วิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ผลสัมฤทธิ์ที่ดีสุดคือ ภูมิศาสตร์ รองลงมาคือ เศรษฐศาสตร์,หน้าที่พลเมือง,ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม, ประวัติศาสตร์ ดังนั้นที่ต้องขับเคลื่อนมากขึ้นคือ ประวัติศาสตร์

ผอ.สทศ.กล่าวต่อว่า 3.วิชาภาษาอังกฤษ ผลสัมฤทธิ์ที่ดีสุดคือ ภาษาเพื่อการสื่อสาร รองลงมาคือ ภาษากับความสัมพันธ์กับชุมชนและโลก, ภาษากับความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น,ภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งต้องขับเคลื่อนด้านภาษาและวัฒนธรรม ให้มากขึ้น 4.วิชาคณิตศาสตร์ ผลสัมฤทธิ์ที่ดีสุดคือ พีชคณิต รองลงมาคือ จำนวนและการดำเนินการ, การวัด, การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น โดยที่ต้องขับเคลื่อนมากขึ้นคือ การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น และ 5.วิชาวิทยาศาสตร์ ผลสัมฤทธิ์ที่ดีที่สุดคือ ธรรมชาติของวิทย์และเทคโนฯ รองลงมา คือ ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม, กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก, สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต, สารและสมบัติของสาร, แรงและการเคลื่อนที่, ดาราศาสตร์และอวกาศ, พลังงาน ดังนั้นที่ต้องขับเคลื่อนมากขึ้นคือ พลังงาน จากนี้ สทศ.จะทำการประเมินข้อสอบ นำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เสียทั้งหมดมาหารือ เดือน พ.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น