xs
xsm
sm
md
lg

สทศ.ฟุ้ง 5 วิชาหลัก O-NET ม.6 คะแนนกระเตื้อง แม้ไม่ถึง 50%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สัมพันธ์” ฟุ้ง O-NET ม.6 ภาพรวมดีขึ้น แม้ไม่ถึง 50% แต่มีคะแนนกระเตื้อง 5 วิชาหลัก ด้าน “ชินภัทร” รับยังไม่พอใจ แต่มองอย่างเป็นธรรม ชี้เป็นช่วงร่วมกับเขตพื้นที่กำหนดเป้าให้คะแนน O-NET เพิ่มปีละ 3% เร่งเดินหน้าพัฒนาปรับการเรียนการสอน ขณะที่ “สมพงษ์” จวกเป็นพัฒนาการเทียม ชี้การออกข้อสอบของ สทศ.และการสอน สพฐ.ไม่สอดคล้องกันแนะให้หันมาพูดคุย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สทศ.ได้ประกาศผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ภาพรวมคะแนนเฉลี่ยเป็นที่น่าพอใจ โดยเพิ่มขึ้นใน 5 วิชาหลัก ดังนี้ ภาษาไทย เพิ่มขึ้น 5.31 คะแนน วิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น 5.20 คะแนน สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เพิ่ม 2.88 คะแนนศิลปะ เพิ่มขึ้น 4.19 คะแนน และภาษาอังกฤษ เพิ่มขึ้น 0.33 คะแนน คณิตศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยเท่าเดิม 22.73 คะแนน และมีคะแนนเฉลี่ยลดลง 2 วิชาคือ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ลดลง 2.96 คะแนน และสุขศึกษาลดลง 0.91 คะแนน ขณะที่ความยากง่ายของข้อสอบไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สาเหตุที่นักเรียนทำคะแนนได้ดีขึ้น เป็นเพราะระดับนโยบาย ผลักดันให้มีการนำคะแนนไปใช้อย่างจริงจัง ทั้งระดับเขตพื้นที่การศึกษา ที่ให้มีผลต่อการปรับปรุงคุณภาพของโรงเรียน และผู้สอน รวมถึงมีผลต่อการเข้าศึกษาต่อของนักเรียน ทำให้เด็กตั้งใจสอบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ส่วนนักเรียนที่สอบได้ 0 คะแนน นั้น ต้องดูเป็นรายกรณีเพราะเท่าที่ดูมีทั้งนักเรียนที่ไม่ทำข้อสอบ และทำข้อสอบแต่ไม่ถูกเลย ตรงนี้ต้องไปวิเคราะห์ว่าเกิดจากสาเหตุใด

“แม้คะแนนในภาพรวมของเด็กจะเพิ่มขึ้นแต่ ก็ยังไม่ถึง 50% เพราะ ข้อสอบ O-NET เป็นข้อสอบแบบรวบยอดใช้เพื่อประเมินคุณภาพการเรียนการสอนในระดับชั้น ม.ปลาย ดังนั้น จึงต้องมีเนื้อหาสาระ ตั้งแต่ชั้น ม.4-6 ไม่ได้ออกเฉพาะเนื้อหา ม.6 เท่านั้น ซึ่งต่อไปโรงเรียนจะต้องปรับการเรียนการสอน ให้มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น โดยที่ผ่านมา สทศ.ก็ได้ทำความเข้าใจกับโรงเรียนเกี่ยวกับเนื้อหาข้อสอบแล้ว”รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าว

ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ภาพรวมตนยังไม่ค่อยพอใจผลคะแนน O-NET ม. 6 เท่าที่ควร แต่ก็ต้องมองด้วยความเป็นธรรมว่า ในระยะแรกที่เริ่มสอบ O-NET นั้น หลายวิชาได้คะแนนเฉลี่ยแค่เพียง 30% เพราะฉะนั้น ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ สพฐ.ทำงานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเร่งที่พัฒนาการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ โดยตั้งเป้าไว้ว่า คะแนนO-NET ในแต่ละะปีจะต้องเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 3% พยายามหาจุดอ่อนในวิชาที่คะแนนต่ำมากๆ มาปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน ดังนั้น เมื่อดูคะแนน O-NET ไม่ได้ดูเฉพาะว่า วิชาใดบ้างที่ได้คะแนนไม่ถึงครึ่งหรือ 50% แต่ควรจะดูพัฒนาการของคะแนนมากกว่า ทั้งนี้ หากสามารถเพิ่มคะแนนO-NETได้ปีละ 3% ต่อเนื่อง 5 ปี คะแนน O-NET ก็จะใกล้เคียง 50% เอง

อย่างไรก็ตาม คะแนน O-NET ปีการศึกษา 2555เพิ่มสูงขึ้นจำนวน 5 วิชา คือ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมศิลปะ และภาษาอังกฤษ จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีระดับหนึ่ง ส่วนวิชาที่คะแนนลดลง คือ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และสุขศึกษา นั้น สพฐ.ต้องเร่งมือ จัดทำเครื่องมือเรียนรู้ในวิชาต่างๆ โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย แม้จะได้คะแนนสูงขึ้นแต่ก็ต้องพัฒนาเพิ่ม เพราะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ทุกวิชา โดยสาเหตุหลักที่ทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควรนั้น เพราะขาดปัจจัยที่สำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครูที่มีคุณภาพ สื่อการเรียนการสอนก็ไม่มีความหลากหลาย ไม่เพียงพอ รวมไปถึงอุปกรณ์การทดลอง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักเรียนไทยทำคะแนนด้านวิทยาศาสตร์ได้ไม่ดี เพราะไม่ค่อยได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติจริง ส่งผลให้การประเมินระดับชาติไม่ดีด้วย เพราะโจทย์ส่วนใหญ่จะเน้นความเข้าใจในระดับปฏิบัติ แต่เด็กทำไม่ได้ เพราะเน้นเรียนจากหนังสือจึงจิตนาการไม่ออก

ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถึงคะแนน O-NET รอบนี้จะมีบางฝ่ายมองว่ามีพัฒนาการ แต่ตนถือว่าเป็นพัฒนาการเทียม ที่ไม่น่าพอใจ และถือว่าพัฒนาการแท้จริงไม่ได้ดีขึ้นเลย ซึ่งเรื่องนี้เริ่มจากนโยบายส่วนกลางที่ให้ความสำคัญกับ O-NET มากเกินไป ทั้งมีส่วนกับการสมัครเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 และ ม.4 มีผลต่อคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร หรือ GPAX ของนักเรียน มีผลต่อการยื่นประเมินให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะของครู และมีผลต่อการประเมินเลื่อนโยกย้ายตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน เรื่องนี้ทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่มุ่งเน้นจะเพิ่มคะแนน O-NET จนเกิดการติวเตอร์ให้นักเรียนอย่างดุเดือดของโรงเรียน ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา แต่คะแนนกลับไม่สูงตามหวัง พอจะวิเคราะห์ได้ว่า เพราะการออกข้อสอบ O-NET ของ สทศ.กับกระบวนการเรียนการสอนของ สพฐ.ไม่สอดคล้องกันเพราะฉะนั้น สทศ.และ สพฐ.ควรคุยกันเพื่อวางแนวทางให้สอดคล้องกันซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญ

ที่ผ่านมาถึงแม้ สทศ.จะจับมือ สพฐ.ในการส่งครูไปช่วยออกข้อสอบ O-NET แต่ก็เป็นครูจำนวนน้อย และถือเป็นการสร้างภาพเท่านั้น เพราะแท้จริงคนที่ออกข้อสอบ่วนใหญ่จะเป็นครูโรงเรียนสาธิตและอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ ขณะที่ สทศ.เองก็ไม่ได้ปรับตัวกับการออกข้อสอบอะไรเลย เพราะการออกข้อสอบเกือบ 100% จะมีความยากง่ายระดับยากถึงยากมาก ซึ่งเรื่องนี้ผมก็ได้ข้อมูลมาจากบอร์ดบริหาร สทศ.ด้วย” อาจารย์ประจำคณะครุฯ จุฬาฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น