“ชินภัทร” ชี้แจงใช้ O-NET มาประเมินวิทยฐานะ เป็นหลักเกณฑ์แนวทางใหม่ และหลักเกณฑ์เดิมยังไม่ได้ยกเลิก ครูยังไม่ได้เสียโอกาส
วันนี้ (30 พ.ย.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ว่า การนำคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET มาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมิน เพื่อขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ไม่ก่อให้เกิดความยุติกรรมกับครู ว่า การนำคะแนน O-NET มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณานั้น เป็นหลักเกณฑ์วิธีการแนวใหม่ที่จะพิจารณาจากสมรรถนะของครู และผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ครูในการประเมินวิทยฐานะ เพราะขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ก็ยังไม่ได้ยกเลิกหลักเกณฑ์การประเมินแบบเดิมทั้ง ว17 ที่ให้ครูจัดทำผลงานวิชาการในลักษณะการวิจัย และ ว5 การประเมินโดยพิจารณาจากผลงานเชิงประจักษ์ ที่ครูต้องได้รับรางวัลในระดับเขตพื้นที่ และระดับชาติ ดังนั้น ในเมื่อหลักเกณฑ์ประเมินแบบเดิมยังไม่ได้ยกเลิก ครูก็จะยังไม่เสียสิทธิ และเสียโอกาสแต่ประการใด
ในแต่ละปีรัฐบาลได้ลงทุนเรื่องบุคลากรที่เป็นเงินเดือน และเงินวิทยฐานะในจำนวนที่สูงมาก โดยในปี 2555 ได้ใช้งบประมาณสำหรับเงินวิทยฐานะประมาณ 30,000 ล้านบาท และในแต่ละปีต้องใช้งบในการจัดสอบ O-NET ประมาณปีละ 600 ล้านบาท แต่เมื่อดูผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กกลับไม่สูงขึ้นตามงบฯ ที่รัฐต้องจัดสรรให้ จึงเป็นสิ่งที่สวนทางกันอยู่ ดังนั้นเราจึงต้องพยายามทำให้้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดผ่านความรับผิดชอบต่อผลการเรียนของเด็ก โดยผูกเงื่อนไขของการประเมินวิทยฐานะของครูกับผลที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนโดยใช้คะแนน O-NET ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถือว่าเป็นมาตรฐานของชาติ
ทั้งนี้ มีครู คศ.2 ที่รอการประเมินวิทยฐานะอยู่ 159,907 ราย ดังนั้นเราจึงต้องหาทางให้ครูเหล่านี้ได้เติบโตบนความสามารถของตัวเอง โดยการใช้คะแนน O-NET ให้เกิดประโยชน์
ส่วนกรณีที่มองว่าครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และมีตัวป้อนเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่งนั้น ขณะนี้เราคิดกันอยู่ว่ากลุ่มครูเหล่านี้อาจจะต้องพิจารณาเรื่องพัฒนาการที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียน เช่น ในปีต่อไปครูสามารถทำให้เด็กมีคะแนนสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ก็จะถือว่าเป็นผลงานที่จะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของครูได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา อาจจะมีการประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์วิธีการประเมินแนวใหม่น้อยเกินไป จึงอยากจะทำความเข้าใจโดยเชิญทั้งผู้ที่ไม่เห็นด้วย และเห็นด้วยมาร่วมวงเสวนา ซึ่ง สพฐ.พร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพให้ เพราะการที่รู้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และไปวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงต่อต้านหรือคัดค้าน ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายความคิดดีๆ ในการที่จะรับผิดชอบต่องบของแผ่นดินที่ลงทุนไปเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท