กรมควบคุมโรคเตือน ปชช.ใน 5 กลุ่มเสี่ยงเลี่ยงอยู่กลางแดดจัดหรืออุณหภูมิสูง อาจป่วยโรคจากความร้อนถึงตายได้ แนะดื่มน้ำมากๆ และใช้ครีมกันแดดป้องกัน
วันนี้ (22 มี.ค.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลของ สธ.พบว่า คนไทยได้รับผลกระทบจากความร้อนมีจำนวนเพิ่มขึ้น ดังนี้ ปี 2551 มีผู้ป่วยจำนวน 80 ราย เสียชีวิต 4 ราย ปี 2552 มีผู้ป่วยจำนวน 89 ราย เสียชีวิต 8 ราย และปี 2553 มีผู้ป่วยจำนวน 198 ราย เสียชีวิต 18 ราย โดยโรคจากความร้อนที่สำคัญ ได้แก่ 1.โรคลมแดด (Heat Stroke) เป็นโรคที่มีอาการรุนแรงที่สุด อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากระบบการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายไม่ทำงานในสภาวะอากาศที่ร้อนจัด ผู้ป่วยจะมีอุณหภูมิร่ายกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ผิวหนังแดง ร้อน และแห้ง ไม่มีเหงื่อ ชีพจรเต้นแรงเร็ว ปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้ และไม่รู้สึกตัว ต้องรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่มทันที ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น เช็ดตามตัวหรือห่อตัว รีบทำให้ร่างกายเย็นโดยเร็ว ห้ามดื่มน้ำในรายที่ไม่รู้สึกตัว หากมีอาการชักให้จับนอนตะแคง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและการสำลักจากการอาเจียน ห้ามใช้วัสดุ เช่น ช้อน ส้อม ใส่ในปาก และรีบพาไปพบแพทย์ทันที
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า 2.โรคเพลียแดด (Heat Exhaustion) เป็นโรคที่เกิดในขณะที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะมีอาการเหงื่อออกมาก หน้าซีด เหนื่อย อ่อนแรง วิงเวียน ปวดหัว อาเจียน เป็นลม กล้ามเนื้อเกร็ง การช่วยเหลือ ควรให้ดื่มน้ำเปล่าเย็น และเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น ถ้าเป็นไปได้พาเข้าไปอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือใต้ร่มไม้ 3.โรคตะคริวแดด (Heat Cramps) มักเกิดในคนเสียเหงื่อมาก ระหว่างทำงานหนัก หรือออกกำลังกาย ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ส่งผลให้เป็นตะคริว ผู้ป่วยจะปวดกล้ามเนื้อ เกร็งบริเวณหน้าท้อง แขนหรือขา การช่วยเหลือควรหยุดการใช้แรงทันที พาเข้าในที่ร่มหรือที่มีเครื่องปรับอากาศ ดื่มน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่มีเกลือแร่ ถ้าอาการไม่ดีภายใน 1 ชั่วโมง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และ 4.ผิวหนังไหม้แดด (Sunburn) ผู้ป่วยจะมีผิวหนังเป็นรอยแดง ปวดแสบร้อนเล็กน้อย โดยทั่วไปจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ห้ามเจาะตุ่มน้ำที่พอง ให้ประคบเย็น ทาโลชั่นเพื่อให้ความชุ่มชื้น หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี จะมีตุ่มพองน้ำใส ปวดรุนแรง ให้ไปพบแพทย์เช่นกัน
ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงต่อโรคจากความร้อน มี 5 กลุ่ม ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุเกิน 65 ปี ผู้ที่ท้วมหรืออ้วน ผู้ใช้แรงงานอย่างหนักหรือผู้ออกกำลังกายหนัก และผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือกำลังรับประทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ นอกจากนี้ ผู้ที่ทำงานกลางแดด ทหารเกณฑ์ระหว่างฝึกหนัก เด็กที่ถูกทิ้งไว้ในรถที่ดับเครื่องกลางแดดรอผู้ปกครอง ก็ต้องระวังโรคจากความร้อนเป็นพิเศษ สำหรับการป้องกันโรคที่เกิดจากความร้อน ต้องดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน สังเกตสีปัสสาวะถ้ามีสีเหลืองเข้ม แสดงว่าดื่มน้ำไม่เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการอยู่กลางแดดจัด หรือป้องกันไม่ให้ผิวหนังสัมผัสแสงแดดโดยตรง โดยสวมเสื้อผ้าหลวมที่เบาสบาย สวมหมวกปีกกว้าง กางร่ม และใช้ครีมกันแดด ที่มีค่า SPF15 ขึ้นไป 30 นาทีก่อนออกแดด และทาซ้ำตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์ สำหรับผู้ที่เดินทางหรือต้องทำงานกลางแจ้ง แนะนำให้สวมแว่นตากันแดดเพื่อกรองแสง จะช่วยให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันฝุ่นละออง ป้องกันแสงยูวีที่จะทำให้เกิดการเสียหายต่อสายตาและกระจกตาด้วย