xs
xsm
sm
md
lg

เผยผู้ป่วยพาร์กินสัน 75% ชอบละเมอจนทำร้ายคนข้างๆ ชี้ไม่มีคนดูแลถึงตายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบผู้ป่วยพาร์กินสันเกือบ 75% มักมีอาการตอนกลางคืน ทั้งละเมอจนทำร้ายคนข้างๆ นอนไม่หลับ พลิกตัวไม่ได้ เกร็งจนหายใจไม่ออก หรือถึงขั้นกรนจนหยุดหายใจ ย้ำไม่มีผู้ดูแลอาจถึงตาย แนะสังเกตอาการทุก 2 ชั่วโมง เผยวัยหนุ่มสาวป่วยมากขึ้น แต่ไม่มีอาการสั่นทำให้วินิจฉัยโรคช้า เสี่ยงอาการรุนแรง ชี้ออกกำลังกายช่วยป้องกันได้

วันนี้ (7 มี.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่โรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ รศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์พาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬากรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า โรคพาร์กินสันหรือสั่นสันนิบาตจะพบมากในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราส่วน 1 ต่อ 100 ราย แต่ปัจจุบันพบว่ามีคนทั่วไปอายุ 21-40 ปี ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันด้วย เนื่องจากแพทย์มีความตระหนักในเรื่องของโรคพาร์กินสันมากขึ้น ทำให้พบผู้ป่วยมากขึ้น สาเหตุเกิดจากภาวะสมองเสื่อมบริเวณก้านสมองในส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเคลื่อนไหวช้า ซึ่งเป็นอาการหลักของผู้ป่วยแต่กลับสังเกตได้ยากที่สุด ส่วนอาการสั่นที่คนทั่วไปเข้าใจนั้น ไม่ใช่อาการที่พบในผู้ป่วยทุกราย

อย่างผู้ป่วยที่อายุน้อยๆ 20-30 ปีมักไม่ค่อยมีอาการสั่น แต่จะมีอาการไหลติดกล้ามเนื้อเกร็ง เนื่องจากเคลื่อนไหวไม่ได้ ก็มักจะไปหาหมอกระดูก เอ็น ข้อ เพราะคิดว่าเป็นเหน็บชา แต่ความจริงแล้วมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคพาร์กินสัน ทำให้การวินิจฉัยเป็นไปได้ช้า ตรงนี้จะทำให้อาการของโรคเป็นมากขึ้นตามระยะเวลา” รศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าว
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
รศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับวิธีสังเกตอาการโรคพาร์กินสัน นอกจากเคลื่อนไหวช้า และมีอาการสั่นแล้ว อาการเริ่มแรกคือจะเป็นเพียงข้างเดียว หากมีอาการสั่นเมื่อเวลาจับสิ่งของอาการสั่นจะน้อยลง แต่อยู่เฉยๆจะสั่นมากขึ้น รวมไปถึงมีอาการจิกเกร็ง การตอบสนองต่างๆ ช้าลง หากมาพบแพทย์ไวก็จะช่วยให้ควบคุมอาการของโรคพาร์กินสันได้ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ยืนยาวออกไปได้กว่า 30 ปี จากเดิมที่เคยคิดว่าอยู่ได้อีกเพียงประมาณ 5 ปีเท่านั้น และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้ เช่น การล้ม การเกิดอุบัติเหตุต่างๆ เนื่องจากผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะสูญเสียจังหวะการเดิน ทำให้บางรายเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุล้มจนเสียชีวิตได้

รศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน คืออายุที่เพิ่มมากขึ้น การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการถูกกระแทกที่ศีรษะอย่างรุนแรง ที่สำคัญพบว่า 20% ของผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันจากกรรมพันธุ์ ทั้งนี้การออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยป้องกันโรคพาร์กินสันได้ เนื่องจากมีข้อมูลว่าผู้ที่อายุ 35 ปีขึ้นไปที่มีการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องเป็นประจำจะมีโอกาสเป็นโรคพาร์กินสันน้อยกว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ดังนั้น หากไม่อยากเป็นโรคเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวก็ควรมีการเคลื่อนไหวร่างกาย เหมือนกับไม่อยากเป็นโรคเกี่ยวกับความจำเสื่อมอย่างอัลไซเมอร์ก็ต้องฝึกบริหารสมองอยู่เป็นประจำ

รศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีอาการที่มีลักษณะคล้ายโรคพาร์กินสันด้วย ซึ่งเกิดจากการรับประทานยาบางประเภท เช่น ยาซินนาริซีน (Cinnarizine) ยาฟลูนาริซีน (Flunarizine) ซึ่งเป็นยารักษาอาการมึนศีรษะ ยาเมโทคลอพราไมด์ (Metoclopramide) หรือยาลดอาการคลื่นไส้ รวมไปถึงยาฮาโลเปอริดอล (Haloperidol) ซึ่งเป็นยารักษากลุ่มโรคทางจิตเวช โดยอาการคล้ายโรคพาร์กินสันสามารถรักษาให้หายได้ขอเพียงหยุดรับประทานยาดังกล่าว

นพ.พาวุฒิ เมฆวิชัย หน่วยประสาทวิทยา กลุ่มงานอายุรกรรม รพ.มหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า จากผลการศึกษาในปี 2555 เกี่ยวกับปัญหาอาการพาร์กินสันตอนกลางคืน โดยการทำการวิจัยในผู้ป่วยจำนวน 300 ราย เป็นระยะเวลา 6 เดือน พบว่าร้อยละ 74.3 ของผู้ป่วยพาร์กินสันในประเทศไทย ประสบปัญหาอาการพาร์กินสันตอนกลางคืน ซึ่งกว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยมีปัญหาความผิดปกติในการหลับ อาทิ ตื่นมาปัสสาวะบ่อยกว่าคนปกติ ส่วนอีกร้อยละ 40 จะมีปัญหา นอนไม่หลับ เกิดอาการตัวเกร็ง ปวดแขนขา มีอาการละเมอช่วงที่หลับสนิท อาจมีอาการแขนขากระตุกจนทำให้ตกเตียงหรือทำร้ายคนที่นอนข้างๆ ได้ ที่สำคัญคือมีการเคลื่อนไหวช้าในตอนเช้าและนอนกรน ซึ่งบางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นหยุดหายใจและเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้น ผู้ที่เกิดอาการพาร์กินสันตอนกลางคืนต้องมีคนคอยดูแลตลอด 2 ชั่วโมง เพื่อช่วยพลิกตัวให้กับผู้ป่วยและคอยให้ยาลดอการเกร็ง เนื่องจากบางครั้งระดับยาในร่างกายผู้ป่วยจะลดลงตอนกลางคืน จนส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการเกร็ง หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะทำให้ผู้ป่วยเกร็งใจหายใจไม่ออกและเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ควรมีการสังเกตและบันทึกอาการของผู้ป่วยตอนกลางคืนด้วย เพื่อให้แพทย์สามารถช่วยควบคุมและแนะนำวิธีการดูแลผู้ป่วยพาร์กินสันตอนกลางคืนได้อย่างถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น