xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.ภูเก็ตเตือนประชาชนระวังโรคภัยในฤดูร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เตือนประชาชนให้ระมัดระวังโรคภัยในฤดูร้อน โดยเฉพาะโรคติดต่อทางอาหาร และน้ำ เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรค บิด โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า และโรคจากความร้อน เช่น โรคลมแดด เพราะอาจป่วยถึงเสียชีวิตได้

นายแพทย์บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน สภาพอากาศที่ร้อน และแห้งแล้งเหมาะแก่การเจริญเติบโต และแพร่ระบาดของเชื้อโรคหลายชนิด รวมทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ทำให้ประชาชนอาจเจ็บป่วยด้วยโรคในฤดูร้อน ได้แก่

1.โรคติดต่อทางอาหาร และน้ำที่พบบ่อย เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรค และบิด เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากเชื้อต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หนอนพยาธิ เห็ด สารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือสารพิษเข้าไป อาการสำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายเป็นมูกเลือด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีไข้ อาจทำให้ช็อก หมดสติ ถึงเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ การป้องกันคือ รับประทานอาหารที่สะอาด สุกใหม่ๆ ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หรือเตรียมนม/อาหารให้เด็ก และหลังจากการเข้าห้องน้ำห้องส้วมทุกครั้ง

2.โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่พบบ่อย ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์เลือดอุ่น โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว เป็นต้น การติดต่อมาสู่คนโดยถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน เลีย บริเวณที่มีแผลรอยข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อโรคนี้เข้าตา ปาก จมูก อาการสำคัญเริ่มด้วยปวดศีรษะ ไข้ต่ำๆ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันบริเวณบาดแผลที่ถูกกัด กลืนลำบาก น้ำลายฟูมปาก ประสาทสัมผัสไวต่อการกระตุ้น กล้ามเนื้อแขนขาเกร็งกระตุก อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตทุกรายภายใน 2-7 วัน นับจากเริ่มแสดงอาการ การป้องกัน คือ ควรนำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างน้อยปีละครั้ง และระวังอย่าเล่นคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน และหากถูกสุนัข หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่ และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ก่อนไปพบแพทย์

3) โรคจากความร้อน ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคลมแดด โรคเพลียแดด โรคตะคริวแดด และผิวหนังไหม้แดด กลุ่มเสี่ยงต่อโรคจากความร้อน มี 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุเกิน 65 ปี กลุ่มผู้ที่ท้วม หรืออ้วน กลุ่มผู้ใช้แรงงานหนัก หรือออกกำลังกายหนัก กลุ่มผู้เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือรับประทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ สาเหตุจากร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส ระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกายไม่ทำงานในสภาพอากาศร้อนจัดเกินไป อาการสำคัญ คือ ผิวหนังแดง ร้อนและแห้ง อาจมีเหงื่อออก ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อเกร็ง เป็นลม หมดสติ การป้องกัน ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน สังเกตสีปัสสาวะถ้ามีสีเหลืองเข้มแสดงว่าดื่มน้ำไม่เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และการอยู่กลางแดดจัด การป้องกันไม่ให้ผิวหนังสัมผัสแสงแดดโดยตรง สวมเสื้อผ้าหลวมที่เบาสบาย สวมหมวกปีกกว้าง กางร่ม ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป 30 นาทีก่อนออกแดด และทาซ้ำ สำหรับผู้ที่เดินทาง หรือทำงานกลางแจ้งควรสวมแว่นกันแดดเพื่อกรองแสง

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวสรุปว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตห่วงใยสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ เน้นกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น