เนื่องจากขณะนี้ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ทุกคนให้ความสำคัญ นับวันอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ สภาพอากาศในประเทศไทยก็มีอุณหภูมิสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
โรคจากความร้อน เป็นโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่โดยทั่วไปไม่ค่อยพบบ่อยในประเทศไทย อาจทำให้แพทย์ไม่ได้คำนึงถึงในการวินิจฉัยโรคลมแดด (Heat Stroke) ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
อาการสำคัญ และวิธีป้องกันโรค มีดังนี้
1. โรคลมแดด (Heat Stroke) เป็นโรคที่เกิดจากความร้อนที่มีอาการรุนแรงที่สุด อาจเสียชีวิตได้ สาเหตุเนื่องจากระบบการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายไม่ทำงานในสภาวะอากาศที่ร้อนจัด
สัญญาณเตือน มีอาการแสดงหลายแบบ ดังนี้
- อุณหภูมิร่างกายสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส หรือ 103 องศาฟาเรนไฮ โดยการวัดทางปาก
- ผิวหนังแดง ร้อน และแห้ง ไม่มีเหงื่อ
- ชีพจรเต้นแรง และเร็ว
- ปวดหัวตุ๊บๆ
- วิงเวียน
- คลื่นไส้
- สับสน
- ไม่รู้สึกตัว
คำแนะนำเมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการ
- นำผู้ป่วยเข้าในที่ร่มทันที
- ทำให้อุณหภูมิร่างกายเย็นลงทันที โดยการใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว แช่ในน้ำเย็นหรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นห่อตัวในรายที่อาการหนัก
- ไม่ให้น้ำดื่มแก่ผู้ป่วยในรายที่ไม่รู้สึกตัว ถ้าผู้ป่วยมีอาการคล้ายชัก ห้ามใช้วัสดุเช่น นิ้ว หรือช้อนส้อม ใส่เข้าไปปากผู้ป่วย ในรายที่อาเจียนให้จับผู้ป่วยตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก
- ส่งพบแพทย์ทันที
2. โรคเพลียแดด (Heat Exhaustion) เป็นโรคที่เกิดในขณะที่ร่างกายอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง หรือจากการออกกำลังกายอย่างหนัก จนทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 40 องศาฟาเรนไฮ
สัญญาเตือน มีอาการแสดงหลายแบบ ดังนี้
- เหงื่อออกมาก
- หน้าซีด
- กล้ามเนื้อเกร็ง
- รู้สึกเหนื่อย
- อ่อนแรง
- วิงเวียน
- ปวดหัว
- คลื่นไส้หรืออาเจียน
- เป็นลม
ผู้ป่วยจะมีชีพจรเบาและเร็ว อาจมีอาการหายใจเร็วและตื้น ในรายที่ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจนำไปสู่โรคลมแดดได้ ในรายที่อาการหนัก หรือมีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ให้รีบพบแพทย์ทันที
คำแนะนำเมื่อมีอาการ
- ดื่มน้ำเย็น (ปราศจากแอลกอฮอล์)
- พัก
- อาบหรือเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น
- ถ้าเป็นไปได้ให้อยู่ในสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย
- สวมเสื้อผ้าที่เบาสบาย
3. โรคตะคริวแดด (Heat Cramps) มักจะเกิดขึ้นในคนที่เสียเหงื่อมากในระหว่างการออกกำลังกายหรือใช้แรงมาก ทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่ ระดับเกลือที่ต่ำลงในกล้ามเนื้อส่งผลให้เป็นตะคริว (อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคเพลียแดดก็ได้) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ เกร็ง ที่บริเวณหน้าท้อง แขน หรือขา
คำแนะนำเมื่อมีอาการ
- หยุดการออกกำลังกายหรือการใช้แรงทันที และเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ไม่ควรออกกำลังกายซ้ำภายใน 2-3 ชั่วโมง- - รีบเข้าที่ร่ม ถ้าเป็นไปได้ให้อยู่ในสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ
- ดื่มน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่มีเกลือแร่
- ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง ให้ไปพบแพทย์
4. ผิวหนังไหม้แดด (Sunburn) ผิวหนังเป็นรอยแดง ปวดแสบร้อนเล็กน้อยหลังจากถูกแดด โดยทั่วไปมีอาการเล็กน้อย สามารถหายเองได้ภายใน 1 สัปดาห์ ในรายเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี หรือรายที่มีไข้ ตุ่มพองน้ำใส ปวดรุนแรง ให้ปรึกษาแพทย์
คำแนะนำเมื่อมีอาการ
- หลีกเลี่ยงการออกแดดซ้ำ
- ประคบเย็น
- ทาโลชั่นที่ให้ความชุ่มชื้นบริเวณที่เป็น
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคจากความร้อน (Heat-related illness)
1. เด็กทารกและเด็กเล็ก
2. ผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี
3. ผู้ที่ท้วม หรือน้ำหนักเกิน
4. ผู้ที่ออกกำลังกายหรือใช้แรงอย่างหนัก
5. ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือกำลังรับประทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ
(ข้อมูลจากสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 148 เมษายน 2556 โดย กองบรรณาธิการ)