xs
xsm
sm
md
lg

ลอบนำเข้า “ฟีนาซีแพม” เกลื่อนภาคใต้ อย.คุมเข้ม เตือนมีฤทธิ์ถึงตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อย.เร่งคุมเข้มสารฟีนาซีแพม หลังพบลักลอบนำเข้าทางภาคใต้ เกรง ปชช.ตกเป็นเหยื่อ ชี้มีฤทธิ์ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ยกระดับให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ ประเภท 1 ห้ามผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก มีไว้ในครอบครอง และห้ามเสพ ฝ่าฝืนโทษทั้งจำและปรับ คาดมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ เตือนไม่ควรหาซื้อวัตถุออกฤทธิ์ใช้เอง ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง
แฟ้มภาพ
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยถึงกรณีตำรวจหาดใหญ่ จ.สงขลา จับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางที่มีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนสีส้ม บนแผงพิมพ์ “Erimin 5 028 MADE IN JAPAN ฯลฯ” โดยได้แจ้งข้อหามีไว้เพื่อขายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 ไนเมตาซีแพม (nimetazepam) ว่า โดยปกติแล้วยาในชื่อการค้า Erimin มีตัวยาสำคัญคือไนเมตาซีแพม แต่จากการตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า สารในเม็ดยาดังกล่าวเป็นฟีนาซีแพม จึงเกรงว่าประชาชนจะได้รับอันตราย เพราะมีผู้นำสารฟีนาซีแพมมาใช้ในทางที่ผิดและพบมีการขายทางอินเทอร์เน็ตทั้งในรูปแบบผง เม็ด สารละลาย ฯลฯ ซึ่งผู้เสพนิยมใช้ฟีนาซีแพมเพื่อทำให้เกิดการผ่อนคลายอารมณ์ เคลิบเคลิ้ม มีความสุข

นพ.บุญชัย กล่าวอีกว่า ฟีนาซีแพมเป็นยาในกลุ่มเบนโซไดอาซีพีน (Benzodiazepines) ซึ่งออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ปัจจุบันยังไม่ได้รับการยอมรับให้ใช้ในการบำบัดรักษาโรคในไทยและอีกหลายประเทศ เนื่องจากเป็นสารที่มีความแรงสูง โดยมีความแรงมากกว่าไดอาซีแพม 5-10 เท่า และเป็นยาที่ออกฤทธิ์นาน จึงพบผู้เสพหลายรายเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาด นอกจากนี้ ยังพบการแพร่ระบาดของฟีนาซีแพมในต่างประเทศ ทำให้ประเทศในแถบยุโรป รวมถึงบางรัฐของสหรัฐอเมริกามีการควบคุมฟีนาซีแพม สำหรับประเทศไทยคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทได้ให้ความเห็นชอบในการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อควบคุมฟีนาซีแพมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แล้ว โดยห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 เว้นแต่ สธ.หรือผู้ได้รับมอบหมายจาก สธ.ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท นอกจากนี้ กฎหมายยังห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับอนุญาต รวมทั้งห้ามเสพวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท คาดว่าประกาศฯ จะมีผลใช้บังคับในเร็วๆ นี้

ขอเตือนผู้บริโภคที่จำเป็นต้องใช้วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทว่า ไม่ควรหาซื้อวัตถุออกฤทธิ์มาใช้เอง การใช้วัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภทต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและสั่งจ่ายจากแพทย์ กรณีเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 เช่น Diazepam Lorazepam Chlorazepate ฯลฯ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาที่ได้รับใบอนุญาตฯ ซึ่งจะมีป้ายแสดงอย่างชัดเจนว่าเป็น “สถานที่ขายวัตถุออกฤทธิ์” โดยมีเภสัชกรเป็นผู้ส่งมอบวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวตามคำสั่งของแพทย์ พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้วัตถุออกฤทธิ์ที่ปลอดภัยตามหลักวิชาการ” เลขาธิการ อย.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น