xs
xsm
sm
md
lg

ยานอนหลับชนิดใหม่-หลับยาว-เสี่ยงไม่ตื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-พบยานอนหลับชนิดใหม่ "ฟีนาซีแพม" ระบาดภาคใต้ แรงกว่ายานอนหลับทั่วไป 10 เท่า ออกฤทธิ์นาน 60 ชั่วโมง ทำผู้ใช้ยาง่วงมึน สับสน เสียการทรงตัวและความจำ เสพร่วมกับเหล้าอาจถึงตาย ด้าน อย.เอาผิดได้แค่ยาไม่ตรงฉลาก เหตุยังไม่เป็นสารควบคุมในไทย เตรียมชงคณะกรรมการฯประกาศเป็นวัตถุออกฤทธิ์ฯประเภท 2 พร้อมยกระดับ “ยาเสียสาว” อยู่สถานะเดียวกัน ร้านขายยาที่มีใบอนุญาตขายต้องส่งคืนก่อน 17 มิ.ย.นี้

วานนี้ (17 ม.ค.) นพ. นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงกรณีการลักลอบนำเข้ายานอนหลับชนิดใหม่ ซึ่งกำลังระบาดอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย ว่า สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จ.สงขลา ได้ส่งยานอนหลับชนิดใหม่จำนวน 2,940 เม็ด มาให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลาทำการตรวจวิเคราะห์ โดยลักษณะยาดังกล่าวด้านหนึ่งมีสัญลักษณ์พร้อมตัวเลข 028 อีกด้านมีตัวเลข 5 บรรจุในแผงพลาสติกใสสีแดง-อะลูมิเนียม บนแผงมีข้อความตัวอักษร "Erimin 5" ซึ่งจากการตรวจพิสูจน์พบ "ฟีนาซีแพม (Phenazepam)" ซึ่งเป็นยานอนหลับกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนส์ (Benzodiazepines) มีฤทธิ์แรงกว่า ไดอาซีแพม (Diazepam) ซึ่งเป็นยานอนหลับที่คนส่วนใหญ่รู้จักถึง 10 เท่า และออกฤทธิ์ได้ยาวนานกว่า 60 ชั่วโมง

"ผู้ที่ใช้ยาดังกล่าวจะมีอาการง่วงซึม มึนงง สับสน สูญเสียการทรงตัว และสูญเสียความทรงจำ หากหยุดยาทันทีหลังได้รับยาขนาดสูงหรือเป็นระยะเวลานานอาจเกิดอาการถอนยา และถ้าใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์หรือสารที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิเอตส์ หรือยานอนหลับอื่นๆ อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบการนำฟีนาซีแพมไปใช้เสพยา ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีรายงานการเสียชีวิตจากการรับยาเกินขนาดด้วย" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว

นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ปกติแล้วยา Erimin 5 จะตรวจพบสารไนเมตาซีแพม ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 และไม่มีการอนุมัติทะเบียนตำรับในประเทศไทย แต่จากการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างของกลาง Erimin 5 แล้วพบฟีนาซีแพมนั้น จึงสันนิษฐานว่าอาจมีการนำฟีนาซีแพมมาผลิตเป็นยา Erimin 5 แทนไนเมตาซีแพม เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย เนื่องจากฟีนาซีแพมยังไม่ได้จัดเป็นสารควบคุมในประเทศไทย

นพ. บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การตรวจพบฟีนาซีแพมในยา Erimin 5 ถือเป็นการตรวจพบสารสำคัญไม่ตรงตามที่ระบุ เข้าข่ายวัตถุออกฤทธิ์ปลอมหรือไม่ตรงฉลาก ผู้ขายมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท ส่วนผู้ผลิตหรือนำเข้ามีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 15 ปี และปรับ ตั้งแต่ 100,000 - 300,000 บาท แต่ไม่สามารถเอาผิดในเรื่องการผสมสารฟีนาซีแพมได้ เนื่องจากสารดังกล่าวไม่ได้เป็นสารควบคุมในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จะเสนอคณะกรรมการวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทปลาย ม.ค.นี้ เพื่อประกาศให้ฟีนาซีแพมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ฯประเภท 2 ซึ่งสามารถใช้ได้ภายในสถานพยาบาลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ด้าน ภก. ประพนธ์ อางตระกูล ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. กล่าวว่า ส่วนยานอนหลับอีกกลุ่ม คือ อัลปราโซแลม (Alprazolam) ซึ่งนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือเรียกว่ายาเสียสาวนั้น ขณะนี้ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 15 พ.ย. 2555 เรื่อง “เปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์(ฉบับที่2) พ.ศ.2555” โดยให้ยกระดับอัลปราโซแลมจากวัตถุออกฤทธิ์ฯ ประเภท 4 ให้เป็นประเภท 2 ใช้ได้เฉพาะสถานพยาบาลเท่านั้น มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2556 เป็นต้น ดังนั้น ร้านขายยาที่มีใบอนุญาตให้จำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ฯประเภท 3 หรือ 4 จะต้องส่งยาอัลปราโซแลมคืนผู้ผลิตทั้งหมดภายในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ ส่วนสถานพยาบาลที่พิจารณาแล้วว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาชนิดนี้ก็ส่งคืนกลับผู้ผลิตด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น