xs
xsm
sm
md
lg

โผล่อีกราย! ทุจริตสอบครูผู้ช่วย ชื่อติด “ขอนแก่น-นครปฐม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โผล่อีก! สอบครูผู้ช่วยชื่อซ้ำในเขตประถมฯ นครปฐม และขอนแก่น “ชินภัทร” เผยรู้เรื่องแล้ว ระบุตามระบบเขตพื้นที่จะตั้ง กก.ตรวจสอบข้อเท็จจริง แจงเตรียมชง “พงศ์เทพ” พิจารณา 2 ทางเลือกจัดสอบครูผู้ช่วยที่จะจัดในเดือน เม.ย.นี้

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณาเกณฑ์การสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการ และบุคลากรทางการศึกษาในตำแหน่งครูผู้ช่วยทั่วไป ประจำปีการศึกษา 2556 ว่า ในสัปดาห์นี้ตนจะเสนอแนวทางการดำเนินการจัดสอบครูผู้ช่วย 2 ทางเลือกให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ได้พิจารณาตัดสินในเชิงนโยบาย เพื่อที่จะนำมาใช้ในการสอบครูผู้ช่วยทั่วไป ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน เม.ย.นี้ ได้แก่ 1.ให้ส่วนกลางดำเนินการจัดทำข้อสอบและประมวลผลการสอบ โดยจะให้เขตพื้นที่การศึกษาไปดำเนินการในการบริหารการสอบ และ 2.กระจายให้เขตพื้นที่่ฯ เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบทั้งหมด โดยทั้ง 2 ทางเลือกนั้นจะมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ มีข้อเสนอด้วยว่า การออกข้อสอบควรจะให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ เพราะมีความชัดเจนที่มากกว่า อีกทั้งผู้ออกข้อสอบจะได้เป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการสอบครูผู้ช่วย แต่ทั้งนี้คงต้องมีการควบคุมออกข้อสอบโดยความยากง่ายของข้อสอบนั้นจะต้องอยู่ในระดับปานกลาง หรืออาจจะยากไม่มาก ซึ่งปกติแล้วข้อสอบทั่วไปความยากง่ายจะอยู่ที่ 0.4-0.6 แต่การสอบครูผู้ช่วยเป็นการสอบคัดเลือก ก็อาจจะค่อนมาทางยาก โดยความยากง่ายอาจจะอยู่ที่ 0.4-0.55

นายชินภัทร กล่าวด้วยว่า กรณีการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการ และบุคลากรทางการศึกษาในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ว12 ซึ่งก่อนหน้าพบว่ามีรายชื่อผู้สอบรายหนึ่งปรากฎชื่อติดซ้ำกันในสองจังหวัด คือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)ขอนแก่น เจต 3 และสพป.ศรีสะเกษ เขต 3 ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันตนได้รับรายงานด้วยว่าขณะนี้พบปัญหาลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นใน สพป.ขอนแก่น เขต 3 และ สพป.นครปฐม เขต 1 ด้วยซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม สพฐ.มีแนวปฏิบัติอยู่แล้ว โดยเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งจะต้องมีกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม ส่วนกลางก็จะมีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ สพฐ.ส่วนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ก็มีคณะกรรมการตรวจสอบเช่นเดียวกัน ดังนั้นทุกหน่วยงานกำลังดำเนินการขยายผล แต่ทั้งนี้ไม่ได้เป็นการปูพรมที่จะตรวจสอบทุกเขตพื้นที่การศึกษา เพราะ สพฐ.มีฐานข้อมูลอยู่แล้วว่าพื้นที่ใดเป็นอย่างไร และคิดว่าคงจะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น