“ชินภัทร” เซ็นตั้งแล้ว กก.สอบข้อเท็จจริง 5 ชุดดึงผู้ตรวจราชการ ศธ.เป็นหัวหน้าทีม สอบใน 10 เขต ระบุกำหนดเวลาทำงาน 30 วันก่อนสรุปผลรายงาน สพฐ. พร้อมเผยทยอยส่งข้อมูลทุจริตสอบครูที่มีมือในมือให้ 225 เขตที่จัดสอบครูผู้ช่วยตามมติบอร์ด ก.ค.ศ.แล้ว
วันนี้ (26 มี.ค.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีทุจริตสอบครูผู้ช่วย ว่า ได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2556 แต่งตั้งกรรมการ 5 ชุด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงใน 10 เขตพื้นที่การศึกษามีพบหลักฐานส่อทุจริตการสอบครูผู้ช่วย ดังนี้ กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาการประถมศึกษา (สพป.) หนองบัวลำภู เขต 1 และ สพป.อุดรธานี เขต 3 มอบนายโรจนะ กฤษเจริญ ผู้ตรวจราชการ ศธ. เขต 6 เป็นประธาน , กรรมการสอบข้อเท็จจริงพื้นที่ สพป.ขอนแก่น เขต 4 สพป.ชัยภูมิ เขต 1 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาการมัธยมศึกษา(สพม.) 25 (ขอนแก่น ) มอบนางผานิตย์ มีสุนทร ผู้ตรวจราชการ ศธ.เขต 4-5 เป็นประธาน, กรรมการสอบข้อเท็จจริงพื้นที่ สพป.ยโสธร เขต 1 และ สพป. สพป.อุบลราชธานี เขต 5 มอบนางสาวจิรพรรณ ปุณเกษม ผู้ตจรวจราชการ ศธ.เขต 11, 13 เป็นประธาน, กรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพื้นที่การ สพป.นครราชสีมา เขต 2 มอบนายกมล ศิริบรรณ ผู้ตรวจราชการ ศธ.เขต 7 เป็นประธาน และกรรมการสอบข้อเท็จจริงพื้นที่กาฬสินธุ์ เขต 2 สพป.กาฬสิทธุ์ เขต 3 มอบนายกิตติรัตน์ มังคละคีรี เขต 9 เป็นประธาน
“กรรมการสอบข้อเท็จจริงทั้ง 5 ชุดนี้ จะดึงผู้ตรวจราชการ ศธ.ซึ่งเป็นคนนอก สพฐ.เป็นประธานโดยได้ปรึกษานายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ และนางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัด ศธ.แล้ว และให้เวลาในการสอบ 30 วัน จากนั้นให้สรุปผลรายงาน สพฐ.หากพบว่ามีมูล ก็จะมีการตั้งกรรมการสอบสวนวินัยในเขตพื้นที่ฯนั้นๆ ต่อไป ส่วนกรรมการสอบส่วนกลางซึ่งจะดึงคนนอกกระทรวงเป็นประธานนั้น ยังไม่ได้ตั้ง อยู่ระหว่างปรึกษากับ รมช.ศธ.อยู่” นายชินภัทร กล่าวและว่า ขณะนี้ สพฐ.ได้ทยอยส่งข้อมูลต่างๆ ไปยัง 225 เขตพื้นที่การศึกษาที่มีการจัดสอบครูผู้ช่วย ตามมติการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางกรศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผานมา เพื่อให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯดำเนินการตรวจสอบคะแนนว่ามีความผิดปกติอย่างไร คาดว่าจะส่งให้ครบทุกเขตพื้นที่ฯ ภายในวันที่ 26 มี.ค.นี้โดยหลังจากนี้ ก็เป็นเรื่องที่ อ.ก.ค.ศ.จะพิจารณาต่อไป
นายชินภัทร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตามที่มีกระแสข่าวว่า อ.ก.ค.ศ.จะไม่รับพิจารณาเรื่องดังกล่าวเพราะเหมือนเป็นการโยนให้ อ.ก.ค.ศ.นั้น คงต้องสอบถามไปยัง ก.ค.ศ.ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะ สพฐ.เป็นเพียงหน่วยบริหารในเชิงนโยบายทั่วไปของการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลโดยตรง ส่วนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงกรณีที่ที่ประชุม กคศ.มีมติให้เขตพื้นที่ฯ ไปรวมกลุ่มตามเขตตรวจราชการ 12 เขต เพื่อดำเนินการจัดสอบครูผู้ช่วยกรณีทั่วไปในช่วงเดือน เม.ย.นี้ โดยให้เลือกสถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้ออกข้อสอบได้เอง อาจไม่ได้มาตรฐานนั้น สพฐ.คงต้องยึดตามมติของ ก.ค.ศ. และ สพฐ.จะไประบุว่า จะให้เลือกสถาบันอุดมศึกษาใดไม่ได้ เพราะถือว่าเรามีสถาบันอุดมศึกษากระจายอยู่ในทุกเขตตรวจฯ อยู่แล้ว ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทางเขตพื้นที่ฯ จะต้องพิจารณาร่วมกันว่าจะเลือกสถาบันอุดมศึกษาแห่งใดที่เห็นว่ามีความเหมาะสม และมีความพร้อมมากที่สุดที่จะมาออกข้อสอบให้ ส่วนข้อกังวลว่ามาตรฐานของข้อสอบไม่เหมือนกันนั้น ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะการสมัครและการตัดสินเป็นเรื่องของรายเขตพื้นที่ฯ ฉะนั้นการแข่งขันก็แข่งบนมาตรฐานข้อสอบเดียวกัน จะไม่ได้นำมาตัดสินข้ามเขตตรวจฯ จะตัดสินเฉพาะภายในเขตตรวจฯ นั้นๆ