xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมกำหนดวัคซีนพื้นฐาน “คอตีบ” ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สธ.เดินหน้ากำหนดแผนฉีดวัคซีนคอตีบในผู้ใหญ่ ช่วงอายุ 20-50 ปี หลังสุ่มตรวจเลือดพบมีภูมิคุ้มกันน้อย เตรียมใช้เป็นวัคซีนพื้นฐานฉีดกระตุ้นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทุก 10 ปี ป้องกันโรคระบาด

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมวัคซีนป้องกันโรคคอตีบให้กับผู้ใหญ่ ว่า จากการระบาดของโรคคอตีบในภาคอีสาน หลังจากหายไปจากประเทศไทยนานกว่า 17 ปี ทำให้สงสัยว่าเพราะเหตุใดโรคคอตีบจึงกลับมาระบาดอีกครั้ง จึงทำการสุ่มตรวจระดับภูมิคุ้มกันของคนไทยต่อโรคดังกล่าวในระดับห้องปฏิบัติการร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้วยการเก็บตัวอย่างเลือดจากประชากรใน กทม. หนองบัวลำภู และเลย ประมาณ 1,000 คน พบว่า ใน 100 คน มีภูมิคุ้มกันประมาณร้อยละ 15-50 ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าน้อย โดยกลุ่มนี้มีอายุระหว่าง 20-50 ปี จึงทำการวิเคราะห์สาเหตุพบว่า 1.เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบตั้งแต่เด็ก และ 2.เกิดมาในช่วงที่โรคนี้พบไม่มาก เชื้อในธรรมชาติจึงน้อย ทำให้ไม่ถูกกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นสาเหตุของการระบาดช่วงที่ผ่านมา สำหรับประชากรกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี ได้รับวัคซีนคอตีบเป็นวัคซีนพื้นฐานอยู่แล้ว ส่วนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่ได้รับเชื้อตามธรรมชาติทำให้มีภูมิคุ้มกัน

ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อกำหนดเป็นแผนในการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่อายุระหว่าง 20-50 ปี โดยจะกำหนดให้เป็นวัคซีนที่ต้องฉีดกระตุ้นทุกๆ 10 ปี เริ่มตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ส่วนจะเริ่มฉีดในพื้นที่ใดก่อน หรือฉีดที่กลุ่มอายุเท่าใดเป็นอันดับแรก จะต้องมีการวางแผนการนำเข้าวัคซีนอีกครั้ง คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนคอตีบในผู้ใหญ่ได้ภายในปีนี้ ส่วนในกลุ่มเด็กจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี เพราะภูมิคุ้มกันจะลดลงตามระยะเวลาประมาณ 10 ปี สรุปคือต้องฉีดวัคซีนให้เด็กเหมือนเดิม ส่วนในผู้ใหญ่จะจัดทำเป็นแผนใหม่ให้ได้รับวัคซีนทุก 10 ปี” นพ.โอภาส กล่าวและว่า สำหรับงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีน ต้องหารือกันอีกครั้ง คาดว่าต้องใช้วัคซีนเบื้องต้นราว 30-40 ล้านโดส โดยขณะนี้ตกโดสละประมาณ 6-7 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจาก สธ.พบว่า ช่วงปลายปี 2555 มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพียง 4 ราย ใน 3 จังหวัด 4 อำเภอ ประกอบด้วย จ.เลย 2 รายพบ 2 อำเภอ จ.เพชรบูรณ์ 1 อำเภอ และ จ.สุราษฎร์ธานี 1 อำเภอ จังหวัดละ 1 ราย รักษาหายทุกราย ขณะที่ปี 2556 ตั้งแต่ 1 ม.ค.- 4 ก.พ.พบเพียง 2 ราย สำหรับอาการจะมีไข้ รู้สึกหนาวสั่น อ่อนเพลีย เจ็บคอ หายใจลำบาก หอบ คออาจบวม และไอ ต่อมน้ำเหลือบริเวณลำคอโต ซึ่งอาการจะขึ้นกับความรุนแรงของแต่ละคน ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโรคคอตีบจัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดให้เด็กเล็ก โดยแบ่งเป็นช่วงอายุ 5 ครั้ง เริ่มจากอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และ 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุ 4 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น