xs
xsm
sm
md
lg

เล็งสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า เน้นที่ท่องเที่ยว-วัด รับ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เตรียมสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่การท่องเที่ยวและวัด รองรับการเปิดเออีซี ตั้งเป้าปี 2020 ต้องหมดไปจากไทย ด้านกรมปศุสัตว์เตรียมขึ้นทะเบียนน้องหมาน้องแมว นำร่องแล้ว 5 จังหวัด หวังป้องกันควบคุมโรค แนะทุกท้องถิ่นออก กม.เลี้ยงสัตว์ คุมผู้เลี้ยงทุกคนต้องนำสัตว์มาขึ้นทะเบียน สกัดการเลี้ยงแบบทิ้งๆ ขว้างๆ

วันนี้ (21 ก.พ.) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดงานสัมมนาการเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าปี 2556 ว่า แม้ประเทศไทยยังพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี แต่มีแนวโน้มลดลงมาก จากที่เคยพบผู้เสียชีวิต 370 ราย ในปี พ.ศ.2533 เหลือเพียง 4 รายเท่านั้น ในปี 2555 สาเหตุส่วนใหญ่คือถูกสุนัขที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกัดหรือข่วนแล้วไม่ได้ไปหาหมอ และคนเลี้ยงสุนัขยังขาดความรับผิดชอบไม่นำไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จึงยังพบโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ในพื้นที่ที่การฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมต่ำ หรือเกิดซ้ำในพื้นที่ที่เคยมีประวัติการระบาดของโรคมาก่อน ซึ่งจะพบในภาคกลางสูงสุด รองลงมาเป็นภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตามลำดับ และบ่อยครั้งพบว่าเกิดจากการนำลูกสุนัขไปเลี้ยง แล้วไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรค เนื่องจากคิดว่าลูกสุนัขไม่เป็นโรค

นพ.นพพร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้จากข้อมูลการมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของผู้ถูกสุนัขกัด พบว่าแต่ละปีจะมีผู้มารับการฉีดวัคซีนมากถึงปีละประมาณ 5 แสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ผู้ที่ถูกสุนัขกัดมีอายุตั้งแต่ 1-90 ปี แต่ที่พบมากที่สุดจะเป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี และในจำนวนนี้ร้อยละ 82 พบว่าสัตว์ที่กัดเป็นสุนัข รองลงมาเป็นแมว ร้อยละ 13 ส่วนใหญ่ร้อยละ 77 เป็นสัตว์มีเจ้าของ สำหรับแนวทางของประเทศไทยในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนภายในอีก 2 ปีข้างหน้านั้น นอกจากการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ยังมีการจัดทำคู่มือ/แนวทางเพื่อใช้ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จำเป็นแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย คร.จะเตรียมพร้อมเครือข่ายด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีปลอดภัยจากโรคติดต่อที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาประกอบอาชีพในประเทศ

“นอกจากนี้ จะมีการร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่าย One Health เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมและกำจัดโรค เตรียมพร้อมในกรณีที่มีการระบาดของโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน ตลอดจนการเพิ่มความปลอดภัยด้านอาหารที่ได้จากสัตว์ โดยจะมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่าง สธ.และ ก.เกษตรฯ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาความรู้ของแพทย์และสัตวแพทย์ และมีการอบรม FETP ระดับนานาชาติด้วย” รองอธิบดี คร.กล่าว
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
นพ.นพพร กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าในแหล่งท่องเที่ยวและในวัดนั้น ได้มีการกำหนดมาตรฐานการสาธารณสุขในการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในแหล่งท่องเที่ยว โดยต้องไม่มีคนและสัตว์เสียชีวิตในพื้นที่ท่องเที่ยวติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี และพื้นที่มีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่าร้อยละ 80 ขณะที่ในวัดนั้นได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานวัดส่งเสริมสุขภาพปลอดโรค โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ระดับพื้นฐานคือ สุนัขและแมวทุกตัวในบริเวณวัดต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 2.ระดับมาตรฐานคือ นอกจากฉีดวัคซีนแล้วต้องมีการคุมกำเนิดสุนัขและแมว และ 3.ระดับเกินมาตรฐานคือ วัดต้องมีการจัดพื้นที่หรือโรงเรียนสำหรับสุนัขพักพิงอย่างถูกสุขลักษณะ ซึ่งเชื่อว่าการบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยสนับสนุนงานป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้เกิดความเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน สามารถรองรับความร่วมมือด้านงานสาธารณสุข และการจัดการสิ่งแวดล้อมตลอดจนการป้องกันควบคุมโรคได้ในระดับประเทศและในระดับภูมิภาคอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

งานเดียวกัน สพ.ญ.วิรงรอง หุ่นสุวรรณ นายสัตวแพทย์เชี่ยวชาญ สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ กล่าวในการอภิปรายเรื่อง “เตรียมพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้ารับประชาคมอาเซียน” ว่า การเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) หากแต่ละประเทศไม่มีการป้องกันควบคุมโรคที่ดีจะเพิ่มความเสี่ยงในการระบาดของโรคสัตว์ ซึ่งจะมาพร้อมกับการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคพิษสุนัขบ้า อย่างไรก็ตาม ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี พ.ศ.2563 หรือปี ค.ศ.2020 ซึ่งขณะนี้ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์สามารถกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าได้ทั้งหมดแล้ว แต่ประเทศอื่นๆ เช่น ลาว พม่า กัมพูชา ยังคงมีการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ขณะที่ประเทศไทยการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในคนเริ่มลดลง แต่ยังไม่สามารถกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ทั้งหมดได้

สพ.ญ.วิรงรอง กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าของกรมปศุสัตว์นั้น ต้องอาศัยความร่วมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบ One Heath Concept อาทิ สธ.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยจะเน้นการปฏิบัติใน 3 เรื่อง ดังนี้ 1.การฉีดวัคซีนในสัตว์ โดยเฉพาะในพื้นที่ท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งต้องสนับสนุนให้ อปท.แต่ละแห่งมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนสุนัขและแมวที่มีมากถึง 6-7 ล้านตัว 2.การควบคุมโรค ณ จุดเกิดโรค เมื่อมีการตรวจพบโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่จะต้องมีการปูพรมฉีดวัคซีนให้สัตว์ทุกตัวในบริเวณนั้น เพื่อค้นหาสัตว์ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยมีการเฝ้าระวังหลังฉีดประมาณ 6 เดือน และ 3.การสร้างฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว ด้วยโปรแกรม Thairabiesnet ซึ่งขณะนี้เริ่มนำร่องแล้วใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และปราจีนบุรี ซึ่งข้อมูลในการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ที่สำคัญนอกจากรับขึ้นทะเบียนแล้ว ประชาชนทั่วไปยังสามารถเข้ามาแจ้งเหตุสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า และค้นหาตารางการออกหน่วยบริการ และรายงานการพบโรคพิษสุนัขบ้าได้ด้วย

“อย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ สามารถกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าได้ทั้งหมด เพราะมีการฉีดวัคซีนและขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว แต่ประเทศไทยยังทำได้ยาก เพราะคนไทยมีการเลี้ยงกันเยอะ และบางส่วนยังเลี้ยงแบบทิ้งๆ ขว้างๆ เบื่อแล้วก็ทิ้ง ทำให้การขึ้นทะเบียนนั้นทำได้ยาก แต่ถ้ามีกฎหมายออกมาให้ผู้เลี้ยงต้องขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวก็จะสามารถช่วยได้ โดยกฎหมายนี้ต้องให้แต่ละท้องถิ่นเป็นผู้ออกข้อบัญญัติการเลี้ยงและการปล่อยสัตว์ ก็จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยควบคุมโรคได้” สพ.ญ.วิรงรอง กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น