xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! ไทยนำเข้าสารเคมีสูงเท่าตึกใบหยก 2 เสี่ยงทำลายระบบสืบพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตะลึง! ไทยนำเข้าสารเคมีมากเท่าขวดเส้นผ่าศูนย์กลาง 46 เมตร สูงเท่าตึกใบหยก 2 พบ ปชช.มีสารเคมีปนเปื้อนในเลือดมากกว่าเกษตรกร เสี่ยงทำลายระบบสืบพันธุ์ ซึมลึกถึงดีเอ็นเอ เด็กแรกเกิดเป็นออทิสติกสูง เกษตรกรฟ้องภาครัฐส่งเสริมให้ใช้ สป.ชี้บัตรเครดิตชาวนารัฐบาลเป็นเหตุ ใช้สารเคมีพร่ำเพรื่อ แนะตั้งคกก.ประกาศใช้สารเคมีชาติ

วันนี้ (18 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.30 น.ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ นพ.พิบูลย์ อิสรพันธุ์ รองผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในเวที สช.เจาะประเด็นเรื่อง “นโยบายเกษตรเพื่อสุขภาพ : แบน 4 สารเคมีเกษตรก่อมะเร็ง” ว่า ในปี 2554 ประเทศไทยนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชสูงถึง 20,875 ล้านบาท หรือประมาณ 520,312 ตัน เท่ากับขวดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 46 เมตร สูงเท่าตึกใบหยก 2 ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาประเมินความเสี่ยงกลุ่มเกษตรกรและประชาชนทั่วไป โดยปี 2554 ทำการตรวจเลือดเกษตรกร 74 จังหวัด จำนวน 533,524 คน พบมีสารเคมีปนเปื้อนในเลือดเกินมาตรฐานคือ 100 ยูนิต ซึ่งถือว่าไม่ปลอดภัยถึง 173,243 คน คิดเป็นร้อยละ 32 ส่วนประชาชนทั่วไปตรวจจำนวน 99,283 คน พบไม่ปลอดภัย 35,949 คน คิดเป็นร้อยละ 36

ผศ.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีกลไกกำกับการขึ้นทะเบียน การใช้สารเคมี และการนำเข้าสินค้าที่รัดกุม ซึ่งไทยกำลังเผชิญปัญหาการส่งสินค้าทางการเกษตร เพราะบ้านเรานิยมใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสารเคมี 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ทำให้ปริมาณผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีเกษตรมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งแบบเฉียบพลัน เช่น ระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ระบบประสาท หัวใจ ระบบสืบพันธุ์ ทำลายอสุจิ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ชัก และแบบระยะยาว เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน และสารเหล่านี้จะซึมลึกถึงระดับดีเอ็นเอ นำไปสู่ความบกพร่องของการสร้างเอนไซม์หรือฮอร์โมนต่างๆ
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
การที่สารเคมีเข้าไปสะสมในดีเอ็นเอ จะทำให้เด็กแรกเกิดมีโอกาสเป็นออทิสติก นอกจากนี้ ยังพบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากถึง 2 ล้านคนต่อปี ซ้ำยังนำสารเคมีมาใช้ในทางที่ผิดด้วยการทำร้ายตนเองมากขึ้น หากภาครัฐไม่เร่งแก้ปัญหาจะมีผู้ป่วยโรคร้ายแรงสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะเกษตรกรซึ่งพบว่า มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมากกว่าอาชีพอื่น 4 เท่า ทุกหน่วยงานจึงควรร่วมกันแก้ปัญหา ด้วยการยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีทั้ง 4 ชนิด และปฏิรูประบบการดูแลสารเคมีให้มีประสิทธิภาพ” ผศ.นพ.ปัตพงษ์ กล่าว

นายน้ำค้าง มั่งศรีจันทร์ ชาวบ้าน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ผู้มีประสบการณ์ใช้สารเคมีนานกว่า 10 ปี กล่าวว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าสารเคมีมีพิษ เพราะเชื่อการโฆษณา ซ้ำยังมีการส่งเสริมจากภาครัฐ ที่สำคัญ เมื่อเวลาฉีดพ่นไม่มีการป้องกันร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติหลายอย่าง รัฐบาลควรเร่งยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และพัฒนาเกษตรกรรมทางเลือกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรอินทรีย์ และพืชสมุนไพรไทยจากภูมิปัญญาชาวบ้าน

นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการ สช.กล่าวว่า เชื่อมั่นว่านโยบายของ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ประกาศเดินหน้าแบนสารเคมี 4 ชนิด จะประสบความสำเร็จ ซึ่งขอชื่นชมและสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในการทบทวนการอนุญาตขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 4 ชนิด ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวมีอันตรายสูง และหลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนก็ยกเลิกกันแล้ว

ด้าน ศ.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวว่า สป.ได้เสนอรัฐบาลขอให้ยกเลิกการขึ้นทะเบียน และห้ามมีสารเคมีเกษตรทั้ง 4 ชนิดไว้ในครอบครอง ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้ ก.เกษตรฯ ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งในวันที่ 21 ก.พ.นี้ จะมีการทำประชาพิจารณ์ ที่กรมวิชาการเกษตร โดย สป.เห็นว่าควรยกเลิกการใช้ เพราะเมื่อประเทศต้นทางยกเลิกการใช้แล้ว จะมั่นใจได้อย่างไรว่าไทยสามารถควบคุมการใช้สารเคมีได้ ที่สำคัญคือไทยเปิดให้ขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรง่าย ทั้งที่มีข้อมูลประกอบเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อต้องการจะยกเลิกการขึ้นทะเบียน แม้จะมีข้อมูลโทษของสารเคมีจำนวนมาก แต่กลับยกเลิกได้ยาก เพราะเจ้าของผลิตภัณฑ์ส่งข้อดีของผลิตภัณฑ์มาค้านจำนวนมาก ทางแก้คือต้องถามประเทศเจ้าของผลิตภัณฑ์ยังใช้สารเคมีนั้นอยู่หรือไม่ หากไม่ก็ไม่ควรรับขึ้นทะเบียนหรือยกเลิกการขึ้นทะเบียนออกไป

สำหรับปัญหาการใช้สารเคมีเกษตรพร่ำเพรื่อ ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายบัตรเครดิตชาวนาของรัฐบาล เป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรใช้สารเคมีมากขึ้น ที่สำคัญเกษตรกรเองก็ใช้สารเคมีแบบสะเปะสะปะและใช้เป็นเวลานาน ทำให้แมลงศัตรูพืชดื้อยา จึงใช้สารเคมีมากขึ้นไปอีก จึงขอเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการประกาศใช้สารเคมีชาติ ซึ่งจะทำหน้าที่สับเปลี่ยนการใช้สารเคมีอย่างเป็นระบบ เช่น 3 ปีนี้ใช้สารเคมีชุดหนึ่ง ส่วน 3 ปีถัดไปให้ใช้สารเคมีอีกชุดหนึ่ง จะช่วยแก้ปัญหาได้” ศ.สุปรีดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น