สอศ.เตรียมสร้างวิทยาลัยใหม่เพิ่มปี 56 สนองนโยบายสร้างวิทยาลัยอำเภอ เล็งสร้างอีก 6 แห่ง ใช้เงินลงทุนวิทยาลัยละ 200 ล.บาท “ชัยพฤกษ์” ระบุ มี 539 อำเภอ ยังไม่มีวิทยาลัยรัฐรองรับเด็กในพื้นที่ จึงไม่มีโอกาสเข้าสู่การเรียนสายอาชีพ
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า ในปี 2556 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เตรียมก่อสร้างวิทยาลัยใหม่เพิ่มอีก 5 แห่ง ในพื้นที่ที่ ไม่มีวิทยาลัยอาชีวศึกษาตั้งอยู่ ตามที่ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายต้องการให้ทุกอำเภอในประเทศไทย มีวิทยาลัยอาชีวศึกษารองรับครบถ้วน
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ สอศ.ได้ลงไปสำรวจ ว่า อำเภอใดบ้างไม่มีวิทยาลัยอาชีวศึกษาตั้งอยู่ และพบว่า มีถึง 539 อำเภอที่ยังไม่มีวิทยาลัยรัฐ ในจำนวนนี้มีอยู่ 16 อำเภอ ที่ไม่วิทยาลัยอาชีวศึกษาใดๆ เลย ตั้งอยู่ทั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาสังกัดรัฐและเอกชน ขณะเดียวกัน ยังพบว่า วิทยาลัยอาชีวะทั้งรัฐและเอกชนส่วนใหญ่จะกระจุกตัวในอำเภอเมืองเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น เด็กในพื้นที่ต้องการเรียนต่อสายอาชีพ ก็ต้องเดินทางไปเรียนวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่างอำเภอ หรืออยากเข้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาดังๆ ก็ต้องเดินทางเข้ามาเรียนในตัวจังหวัดหรือเดินทางข้ามจังหวัด ขณะที่ ปัจจุบันมีโรงเรียนมัธยมกระจายตัวเกือบครบถึงในระดับตำบลแล้ว นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กเลือกเรียนสายอาชีพน้อยกว่าสายสามัญ สอศ.จึงเห็นว่า ต้องไปตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาไว้ให้ใกล้บ้านเด็กมากที่สุด
“ความจริงแล้วประเทศไทยต้องการแรงงานทักษะฝีมือจำนวนมาก แต่ขณะนี้ยังมีนักเรียนที่เรียนต่อสายอาชีพ เพียง 38% ที่เหลืออีก 62% เลือกเรียนต่อสายสามัญ ถือว่ามีนักเรียนเลือกเรียนต่อสายอาชีพน้อยมาก สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะในหลายอำเภอยังไม่มีวิทยาลัยของรัฐรองรับ และบางอำเภอไม่มีทั้งวิทยาลัยของรัฐและเอกชน เพราะฉะนั้น ต้องพยายามนำวิทยาลัยที่สอนสายอาชีพไปไว้ใกล้บ้านเด็กให้มากที่สุด มิฉะนั้นแล้ว คงเป็นการยากที่จะบรรลุเป้าหมายปรับสัดส่วนนักเรียนสายอาชีพและสายสามัญเป็น 50:50 ภายในปี 2559”
นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สอศ.คงไม่จัดสร้างวิทยาลัยเพิ่มเติมให้ครบทั้ง 539 อำเภอ เพราะบางอำเภออยู่ไม่ห่างกันมาก และมีเด็กจำนวนไม่มาก อาจจะรวมศูนย์กันเปิดแค่วิทยาลัยเดียวรองรับเด็กจาก 3-4 อำเภอ ขณะที่ บางอำเภออาจมีการเปิดสอนการเรียนการสอนสายอาชีพในลักษณะศูนย์การเรียนขนาดเล็กอยู่ อาจใช้วิธีพัฒนาศูนย์การเรียนขนาดเล็กนี้ขึ้นมาเป็นวิทยาลัยประจำอำเภอ ซึ่งวิทยาลัยที่จะยกระดับเป็นวิทยาลัยอำเภอ อาทิ วิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย, วิทยาลัยการอาชีพนาแก จ.นครพนม, วิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการกันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้วางแผนจะสร้างขึ้นใหม่ในปี 2556 มีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพประโคนชัย จ.บุรีรัมย์, วิทยาลัยเฉลิมพระเกียรติ (วัดดอนจั่น) จ.เชียงใหม่, วิทยาลัยเฉลิมพระเกียรติ (วัดนิเวศธรรมประวัติ) จ.พระนครศรีอยุธยา, วิทยาลัยในอำเภอบ้านโคก จ.อุตดิตถ์ ซึ่งมีอาณาเขตเชื่อมต่ออำเภอท่าปลา, อำเภอน้ำปาด และสุดท้ายจะดำเนินการสร้างวิทยาลัยที่อำเภอเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี แต่ละแห่งจะใช้งบประมาณเบื้องต้นแห่งละ 200 ล้านบาท
“สาเหตุที่เลือกสร้างในพื้นที่ 5 แห่งนี้ เพราะไม่มีวิทยาลัยสอนสายอาชีพในพื้นที่เลย และเป็นพื้นที่ๆ ห่างไกลใช้เวลาเดินทางนาน อย่างไรก็ตาม วิทยาลัยอาชีวศึกษาประจำอำเภอนั้น จะให้เน้นสอนอาชีพในสาขาทางช่างยนต์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ค่อยเปิดสอนทั้งที่เป็นสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ” เลขาธิการ กอศ.กล่าว