xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมสร้าง วท.อาชีวะครบทุกอำเภอชั้นเอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เสริมศักดิ์” มอบนโยบายสร้างวิทยาลัยอาชีวะให้ครบทุกอำเภอชั้นเอก รองรับ นร.จบ ม.ต้น เข้าเรียนสายอาชีพ เดินหน้าสู่เป้า อาชีวะ-สามัญ 70:30 ในปี 59 พร้อมแนะให้ดึงภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาเป็นหลักประกันคุณภาพและเน้นพีอาร์ถึงกลุ่มเป้าหมายดึงดูดคนสนใจเรียน

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายแก่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ว่า ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุไว้ชัดเจนว่า ภายในปี 2559 สัดส่วนนักเรียนอาชีพและสามัญต้องขยับขึ้นเป็น 70 : 30 แต่ปัจจุบัน ตัวเลขการเรียนต่อสายสามัญยังคงมากกว่าสายอาชีพอยู่มาก เพราะฉะนั้น ต้องวางแผนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว มาตรการหนึ่งที่ตนคิดว่า จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้เรียนสายอาชีพได้นั้น คือ การสร้างวิทยาลัยอาชีวศึกษาให้ครบทุกอำเภอที่มีประชาชนหนาแน่น เพราะขณะนี้มีโรงเรียนมัธยมหลายแห่งและมีจำนวนนักเรียนที่จบชั้น ม.3 จำนวนมาก กลับไม่มีวิทยาลัยอาชีวศึกษาต้องรองรับผู้ปกครองจึงส่งบุตรหลานเรียนต่อสายสามัญแทนเพราะไม่ต้องการให้เดินทางไปเรียนต่างอำเภอ ฉะนั้น หากมีวิทยาลัยรองรับในพื้นที่ นักเรียนที่จบ ม.3 จะได้เข้าเรียนต่อสายอาชีพได้จึงสั่งการให้ สอศ.จัดสร้างวิทยาลัยในครอบคลุมทุกอำเภอขนาดใหญ่ ส่วนอำเภอขนาดเล็กนั้นให้จัดกลุ่มกัน 2-3 อำเภอ แล้วจัดสร้างวิทยาลัย 1 แห่งไว้เป็นศูนย์กลาง ส่วนจะจัดสร้างเป็นวิทยาลัยประเภทใดนั้น ให้ขึ้นอยู่กับบริบทและความต้องการในพื้นที่

นอกจากนี้ ต้องเพิ่มคุณภาพของการเรียนสายอาชีพควบคู่ไปด้วย โดยจะเน้นส่งเสริมให้อาชีวศึกษาเปิดสอนได้ถึงระดับปริญญา ขณะเดียวกันเราต้องดึงสถานประกอบการ ภาคธุรกิจ มาร่วมเป็นเครือข่ายในการจัดการศึกษาด้วย ตรงนี้ จะเป็นหลักประกันให้ผู้เรียนมั่นใจในคุณภาพการเรียนการสอน และมั่นใจว่า จบไปแล้วจะมีการรองรับแน่นอนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดให้คนมาเรียนต่อสายอาชีพเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สอศ.จะต้องเร่งประชาสัมพันธ์จุดแข็งของการเรียนสายอาชีพที่สามารถเรียนต่อได้ถึงระดับปริญญาและมีงานทำแน่นอนหลังเรียนจบด้วย โดยเฉพาะการเข้าไปประชาสัมพันธ์ถึงในสถานศึกษา เพื่อให้มีคนสนใจมาเรียนต่อสายอาชีพเพิ่มขึ้น

ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คิดว่า จะต้องมีการบูรณาการการรับนักเรียนร่วมกันระหว่าง สอศ.และ สพฐ. โดยในระดับจังหวัดนั้น กรรมการรับนักเรียนของทุกสังกัดจะต้องวางแผนการรับนักเรียน นักศึกษาร่วมกัน เพื่อให้บรรลุสัดส่วนนักเรียนสายอาชีพต่อสายสามัญ 70:30 ให้ได้ พร้อมกันนี้จะฝากเรื่องการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนต่อสายอาชีพนั้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรับไปดำเนินการด้วย อาจจะมีการตั้งกรรมการระดับจังหวัดเพื่อดูแลการรับนักเรียน นักศึกษา ร่วมกันแล้วให้ผู้ว่าฯ เป็นที่ปรึกษาหรือประธานกรรมการ เพื่อให้ทางจังหวัดช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วย” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า มีอำเภอทั่วประเทศที่ยังไม่มีวิทยาลัยอาชีวศึกษา จำนวน 542 อำเภอ จากอำเภอทั่วประเทศ 877 อำเภอ ซึ่ง สอศ.จะไปสำรวจดูว่า เป็นอำเภอชั้นเอกที่มีประชาชนหนาแน่นจำนวนเท่าใด อย่างไรก็ตาม สอศ.ตั้งเป้าว่า ภายในปี 2557 จะดำเนินการจัดสร้างวิทยาลัยให้ครอบคลุมทุกอำเภอ แต่ในปีงบประมาณ 2557 นั้น จะสร้างประมาณ 50 วิทยาลัย กำหนดงบประมาณก่อสร้างแห่งละ 200 ล้าน แต่เป็นการผูกพันงบประมาณ 3 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น