กลุ่มครู-ศิษย์เก่าอัสสัมชัญ จี้ ประธานมูลนิธิ ปลด “ภราดา ดร.อานันท์” ผอ.โรงเรียนออกจากตำแหน่ง และให้เปิดสอนตามปกติในวันที่ 28 ม.ค.นี้ ด้าน ครูจี้ขอให้ยกเลิกตัดค่าครองชีพ และจ่ายคืน รวมทั้งปรับเงินเดือนตามประกาศมูลนิธิ ขณะที่ ครูประถมย้ำจุดยืนไม่ควบรวมประถม-มัธยมด้วยกัน ฟากกลุ่มศิษย์เก่าในนามกู้อัสสัมชัญ ลั่นให้นำเงินบริจาคของ ร.ร.ที่ไปทุ่มสร้างโปรเจกต์ที่พระราม 2 กลับคืนโดยไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดมาด้วย ด้าน “พงศ์เทพ” สั่ง สช.ตรวจสอบด่วน กรณี ร.ร.อัสสัมชัญ ปิดเรียนกะทันหัน ด้าน เลขาฯ สช.รับยังติดต่ออธิการไม่ได้ เตรียมลงพื้นที่เอง หวังเจรจาให้เปิดเรียนวันจันทร์ที่ 28 ม.ค.ยืนยัน รู้คำตอบแน่ภายในวันเสาร์นี้
วันนี้ (25 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น.ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ มิสสุภาวดี คำฝึกฝน หัวหน้ากลุ่มสาระวิชาภาษาไทย โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม พร้อมด้วย มาสเตอร์ประดิษฐ์ ชัยปรีชา นโยบายและแผน โรงเรียนอัสสัมชัญ มาสเตอร์ไพฑูรย์ กระโทกนอก หัวหน้าฝ่ายวิชาการ นายศุภโชค โฆษ์วงศ์ และ ดร.สิทธิชัย ปริญญานุสรณ์ ตัวแทนกลุ่มกู้อัสสัมชัญ ได้ร่วมแถลงการณ์ถึงเหตุผลและข้อเรียกร้องในการออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ซึ่งข้อเรียกร้องที่ทุกกลุ่มระบุในแถลงการณ์ตรงกัน คือ ขอให้ภราดา ดร.ศิริชัย ฟอนกาซี ประธานมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ปลด ภราดา ดร.อานันท์ ออกจากตำแหน่ง ผอ.โรงเรียน โดยทันทีและให้ภราดา ที่เคยดำรงตำแหน่งอธิการโรงเรียน มารักษาการแทน
โดยมาสเตอร์ประดิษฐ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ ผอ.โรงเรียนนั้นไม่ปฏิบัติตามประกาศมูลนิธิ เรื่องเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติการปรับเงินเดือนบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนในเครือ ทางคณะครูโรงเรียนแผนกประถมและมัธยมจึงได้มีการหารือกันวันที่ 24 ม.ค.2556 ที่ผ่านมา ซึ่ง ภราดา ดร.อานันท์ ก็ได้มาร่วมสังเกตการณ์ด้วยและรับทราบว่ามติของที่ประชุม คือ ต้องการเรียกร้องให้ยกเลิกตัดค่าครองชีพ 1,500 บาทและจ่ายเงินคืนให้กับครูทุกคน พร้อมกับขอให้คืนค่าครองชีพ จำนวน 2,000 บาทกับครูทุกคนรวมถึงปรับฐานเงินเดือนให้เป็นไปตามประกาศมูลนิธิ ครั้งที่ 1/2555 ลงวันที่ 12 ส.ค.2555 โดยขอให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2556 จนถึงปัจจุบัน โดยคณะครูได้ตกลงแต่งกายชุดดำเพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญญลักษณ์ เพื่อยื่นหนังสือต่อภราดา ดร.อานันท์ ในวันนี้ (25 ม.ค.) เวลา 11.50 น.แต่ปรากฏว่า ในช่วงเช้า ผอ.โรงเรียนกลับสั่งปิดเรียนเป็นกรณีพิเศษตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.-1 ก.พ.2556 โดยอ้างเหตุผลการชุมนุมที่จะไม่ปลอดภัย
“พวกเรายืนยันว่าเราชุมนุมอย่างสันติ การสั่งปิดโรงเรียนนั้นเป็นการหนีปัญหาของ ผอ.โรงเรียน ซึ่งครู นักเรียนผู้ปกครอง ไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อน ที่ผ่านมานั้นผอ.โรงเรียนปัจจุบันบริหารงานมา 9 ปีมีปัญหากับองค์กร หน่วยงานต่างๆ แต่ก็ไม่เคยมีปัญหาหรือปรากฎคนไม่หวังดีแต่อย่างใด คณะครูอดทนมาตลอดในเรื่องการละเมิดสิทธิพื้นฐาน ซึ่งคณะครูหารือร่วมกันแล้วเห็นว่าจะนำเรื่องนี้เรียนต่อประธานมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตพร้อมเรียกร้องให้มีการปลด ภราดา ดร.อานันท์ ออกจากตำแหน่งทันที ส่งภราดาที่เคยเป็นอธิการมารักษาการณ์แทน ที่สำคัญขอให้เปิดสอนในวันที่ 28 ม.ค.2556 และให้สอบสวนเรื่องที่ ผอ.โรงเรียนสั่งปิดเรียนด้วย”
ด้าน มิสสุภาวดี กล่าวว่า การรวมตัวของพวกตนกลุ่มครูประถมนั้น เป็นการรวมตัวอย่างสันติไม่ได้กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของนักเรียน และเพียงต้องการเรียกร้องให้เห็นแก่หลักมนุษยธรรมขั้นพื้นฐายที่นายจ้างบุคคลธรรมดาควรมีต่อลูกจ้างที่มีสัญญาผูกพันต่อกัน โดยพิจารณาถึงความเดือดร้อนของครูยกเลิกการตัดค่าครองชีพ และขอให้คืนค่าครองชีพให้ครูทุกคนตั้งแต่เดือน พ.ค.2555 จนถึงปัจจุบันและต้องยังคงให้ไว้ต่อไป และให้ปรับเงินเดือนของบุคลากรทุกคนตามประกาศของมูลนิธิด้วย นอกจากนี้ ขอให้ยกเลิกการกระทำที่จะควบรวมแผนกประถมและมัธยมเข้าด้วยกัน และเปิดการเรียนการสอนโดยเร็วที่สุด พร้อมขอให้เปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียนโดยไม่มีเงื่อนไข
ขณะที่ มาสเตอร์ไพฑูรย์ กล่าวว่า การสั่งปิดเรียนกะทันหันนี้ ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนของครูและนักเรียน อาทิ การเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ของนักเรียนชั้น ป.6 ที่จะมีกาสอบในวันที่ 2 ก.พ.2556 ขณะที่วันนี้ก็มีกำหนดให้นักเรียนที่จบ ป.6 เลือกแผนการเรียนต่อในระดับม.1 รวมไปถึงการสอบวัดความสามารถทักษะภาษาอังกฤษ ของนักเรียน ป.2, ป.5 ซึ่งมีอาจารย์จากต่างประเทศเดินทางมาทดสอบด้วยตนเอง เป็นต้น เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่คณะครูจะกระทำการได้เพื่อให้กระทบต่อการเรียนของเด็กเพราะทั้งหมดเป็นภาระหน้าที่ที่เราต้องรับผิดชอบ
ด้าน นายศุภโชค ในฐานะกลุ่มกู้อัสสัมชัญ กล่าวด้วยว่า พวกตนในนามศิษย์เก่าของโรงเรียนอัสสัมชัญได้ติดตามการดำเนินงานของโรงเรียน พบว่าภายใต้การบริหารงานของ ภราดา ดร.อานันท์ โรงเรียนตกอยู่ในภาวะวิกฤตและกำลังไปสู่จุดตกต่ำหลายด้านทั้งด้านนักเรียน ผู้ปกครอง ด้านครู ด้านการเงิน และจริยธรรมของผู้บริหาร ดังนั้นจะยื่นข้อเรียกร้องต่อประธานมูลนิธิ เพื่อให้ท่านเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังนี้ 1.ขอให้ปลด ภราดา ดร.อานันท์ ออกจากตำแหน่งโดยทันทีเพื่อยุติความขัดแย้ง 2.ให้แต่งตั้งภราดาที่เคยมาเป็นอธิการโรงเรียนมากอบกู้สถานการณ์ 3.ขอให้มีการเลือกกรรมการบริหารสถานศึกษาใหม่ โดยเน้นให้เป็นคนที่มีธรรมาภิบาล และสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารงานของอธิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ4.ขอให้พิจารณานำเงินของโรงเรียนอัสสัมชัญที่นำไปใช้สร้างโครงการพระราม 2 กลับคืนมาให้โรงเรียนอัสสัมชัญ เพราะแม้ว่าโรงเรียนดังกล่าวจะเป็นโรงเรียนในเครือเซนต์คาเบรียล แต่เนื่องจากผิดวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคที่ต้องการพัฒนาโรงเรียนอัสสัมชัญจึงควรนำเงินทั้งหมดกลับมาพัฒนาที่โรงเรียน ทั้งนี้ หนี้สินต่างๆ ของโครงการอัสสัมชัญพระราม 2 นั้นจะต้องไม่เป็นภาระของโรงเรียนอัสสัมชัญด้วย
อย่างไรก็ตาม พวกตนจะดำเนินการและติดตามเรื่องดังกล่าวเพื่อให้บรรลุข้อเรียกร้องโดยเร็วที่สุด และจะรอคำตอบภายในวันที่ 29 ม.ค.2556 หากไม่มีคำตอบก็จะมีมาตรการขั้นต่อไป
เมื่อเวลา 13.30 น. กลุ่มครูและผู้ปกครองจาก ร.ร.อัสสัมชัญ และ ร.ร.อัสสัมชัญ แผนกประถม เดินทางมาพบนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ พร้อม นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) เพื่อเรียกร้องให้ร.ร.เปิดสอนในวันจันทร์ 28 ม.ค.นี้ พร้อมแก้ปัญหากรณีร.ร.ไม่ยอมปรับฐานเงินเดือนให้ครูที่จบระดับปริญญาตรีได้เงินเดือนขั้นต่ำ 11,680 บาท ตามนโยบายรัฐบาล
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ได้มอบให้ เลขาฯ สช. รีบไปพูดคุยกับอธิการ ร.ร.อัสสัมชัญ เพื่อตรวจสอบถึงสาเหตุที่มีการปิด ร.ร.และจากการรับฟังข้อมูลจากครูและผู้ปกครองที่เดินทางมาพบ ก็ได้ทราบว่า การปิดโรงเรียนเป็นเรื่องที่กะทันหันมาก เสมือนว่าเพิ่งมีความคิดที่จะปิดเมื่อเช้านี้ และเมื่อวานยังไม่มีความคิดที่จะปิดเลย ขณะนี้จึงต้องรอฟังผลการหารือกับทางโรงเรียนถึงเหตุผลการดำเนินการดังกล่าว หากโรงเรียนไม่มีเหตุผลเพียงพอ สช.จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อให้โรงเรียนเปิดเรียนตามปกติเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อนักเรียน ซึ่งทุกฝ่ายทั้งครูและผู้ปกครองต่างกังวลใจกับการปิดเรียน เพราะนอกจากจะกระทบต่อการเรียนแล้ว ในวันจันทร์ที่ 28-30 ม.ค.นี้ ครูได้ให้ข้อมูลว่า เป็นวันสอบปลายภาคของนร.ชั้น ม.6
“ผมคิดว่า คงไม่มีใครเห็นด้วยที่ ร.ร.ปิดกะทันหัน ร.ร.ต้องเปิดสอนไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาปิด แต่ขอเวลาให้ เลขาสช.ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ส่วนกรณีนี้ จะมีผลต่อการเสนอขอควบรวมร.ร.อัสสัมชัญหรือไม่นั้น ต้องดูก่อนว่า มันเกี่ยวกันหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ ร.ร.ได้ออกมายืนยันชัดเจนแล้วว่า จะไม่มียุบ ร.ร. นร.ยังเรียนอยู่ที่เดิม การควบรวมเป็นแค่ขั้นตอนทางการบริหารจัดการ หลังจากนั้น ก็ไม่มีวี่แววว่าจะเกิดเรื่องขึ้น เพราะฉะนั้น ต้องตรวสอบก่อนว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเกี่ยวพัวกับการควบรวม ร.ร.หรือไม่” นายพงศ์เทพ กล่าว และว่า สำหรับเรื่องการควบรวมร.ร.นั้น ตนได้รับทราบเหตุผลของฝ่ายโต้แย้งแล้ว ขณะที่เหตุผลในบางเรื่อง เช่นเรื่องความไม่สะดวกในการเดินทางนั้น เห็นว่า บางเรื่องสามารถบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาได้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า สำหรับการเรียกร้องการปรับฐานเงินเดือนนั้น ศธ.ให้การสนับสนุนโรงเรียนเอกชนทุกโรงเรียนเท่าเทียมกัน โดยในส่วนของการเพิ่มเงินเดือนและค่าครองชีพเป็นเดือนละ 15,00 บาทนั้น กติกาก็คือ รัฐออกครึ่งหนึ่ง ร.ร.ออกอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลดำเนินการเช่นนี้ให้กับโรงเรียนเอกชนทุกโรงเรียน โดยโรงเรียนเองต้องจัดการในส่วนของโรงเรียนตามที่ได้ตกลงกัน แต่ถ้าโรงเรียนใดไม่ตั้งราคาอัตราเงินเดือนค่าตอบแทนครูตามนี้ ครูก็จะไปอยู่ที่อื่นแทน
ด้านนายชาญวิทย์ กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่และนิติกรไปตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว ขณะที่ตนได้พยายามติดต่อกับอธิการของ ร.ร.แต่ยังติดต่อไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ตนจะไปที่ ร.ร.ด้วยตัวเอง เพื่อตรวจสอบในเรื่องนี้ หากพบว่า การปิด ร.ร.ไม่มีสมเหตุสมผล สช.จะอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การศึกษาเอกชน พ.ศ.2550 สั่งการให้ ร.ร.เปิดสอนในวันจันทร์ที่ 28 ม.ค.นี้ โดยตนจะพูดคุยกับทาง ร.ร.ให้ได้คำตอบและแจ้งทุกฝ่ายทราบภายในวันเสาร์ที่ 26 ม.ค.นี้ ย้ำว่า สช.มีอำนาจตามกฎหมายที่สั่งการให้ ร.ร.ดำเนินการในเรื่องใดได้ หากพบว่า การกระทำของ ร.ร.ส่งผลกระทบต่อนักเรียน ซึ่งรวมถึงการสั่งการให้ ร.ร.เปิดสอนด้วย ถ้า ร.ร.ไม่ทำตาม ร.ร.มีอำนาจลงโทษตาม พ.ร.บ.การศึกษาเอกชน ซึ่งโทษสูงสุด คือ การเพิกถอนใบอนุญาต และจริงๆ แล้ว ถ้า ร.ร.ปิดเรียนโดยไม่มีเหตุผลรองรับ ก็ถือว่า มีความผิดอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ถ้ายังเกิดเหตุขัดแย้งระหว่างร.ร.และครู ผู้ปกครอง ขึ้นเรื่อยๆ อีก สช.อาจพิจาณาชะลอเรื่องการขอควบรวมร.ร.อัสสัมชัญ ไว้ก่อน ให้ทุกฝ่ายไปทำความเข้าใจกัน ส่วนในประเด็นที่ครูขอปรับฐานเงินเดือนนั้น ร.ร.ทุกแห่ง จะต้องปรับฐานเงินเดือนครูที่จบปริญญาตรีเป็น 11,680 บาท ขณะเดียวกัน ก็ต้องปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวด้วย ให้เงินเดือนรวมค่าครองชีพไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งสำหรับ ร.ร.เอกชนที่ขอรับเงินอุดหนุนรายหัว รัฐและร.ร.เอกชนจะช่วยกันสมทบเงินค่าครองชีพชั่วคราวคนละครึ่ง แต่สำหรับ ร.ร.อัสสัมชัญนั้น เป็น ร.ร.ที่ไม่ขอรับเงินอุดหนุนรายหัว เพราะเรียกเก็บค่าเทอมแบบลอยตัว เพราะฉะนั้น ร.ร.อาจจ่ายค่าครองชีพชั่วคราวแค่ในส่วนขอเขา ทำให้ครูได้ค่าตอบแทนต่อเดือนไม่ถึง 15,000 บาทได้