xs
xsm
sm
md
lg

“อัสสัมชัญ” ร้าว! ครู-ศิษย์เก่า เปิดศึก ไล่บี้ ผอ.พ้นรั้ว ร.ร.-จี้ปรับเงินเดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในที่สุด เช้าวันนี้ (28 ม.ค.) โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม ก็กลับมาเปิดเรียนตามปกติ ตามประกาศแจ้งโดย ภราดา อานันท์ ปรีชาวุฒิ ผอ.โรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา จากเดิมที่ประกาศปิดตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.-1 ก.พ.2556

ภายหลังเกิดเหตุอลหม่านในวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ปกครองร่วมกับคณะครูโรงเรียนอัสสัมชัญ ทั้งประถม-มัธยม และกลุ่มศิษยเก่าที่แต่งกายด้วยชุดสีดำ กว่า 300 คน รวมตัวประท้วงที่โรงเรียน เหตุจากคำสั่งฟ้าผ่า! ปิดโรงเรียนกรณีพิเศษตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.-1 ก.พ. 2556 ของ ผอ.โรงเรียน โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า รวมถึงเหตุผลการปิด แต่ใช้วิธีติดป้ายขนาดใหญ่แจ้งที่ประตูโรงเรียน ทำให้ผู้ปกครอง และนักเรียนเดินทางมาเก้อ สร้างความงุนงงกันถ้วนหน้า จนกระทั่งมีการแจ้งผ่านเว็บไซต์โรงเรียน ว่า มีผู้ไม่ประสงค์ดีต่อโรงเรียน วางแผน และนัดหมายจะเข้ามาก่อความวุ่นวาย เกรงจะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อนักเรียนและทรัพย์สิน ทั้งนี้ ตามกำหนดการแล้วในวันดังกล่าว คณะครูโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถมและมัธยม นัดรวมตัวโดยแต่งกายชุดสีดำอีกครั้งหนึ่งเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

เป้าหมายของการรวมตัว คือ การยื่นข้อร้องเรียนในประเด็นการขอให้ยกเลิกตัดค่าครองชีพ 1,500 บาท, ขอคืนค่าวิชาชีพจำนวน 2,000 บาท และขอให้ปรับฐานเงินเดือนตามประกาศมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ที่ 1/2555 ซึ่งลงวันที่ 12 ส.ค.พ.ศ.2555 โดยให้ย้อนหลังตั้งแต่ 1 ม.ค.2555 ถึงปัจจุบัน ต่อ ภราดา อานันท์ โดยอาศัยช่วงเวลา 11.50 น.และพลังครูที่ไม่มีภารกิจสอนหนังสือมาเป็นตัวแทนยื่นหนังสือ ซึ่งจะใช้ช่วงเวลาเพียงสั้นๆ และต่างแยกย้ายไปทำหน้าที่สอนตามปกติ สุดท้ายแผนการคว่ำไม่เป็นท่า เพราะคำสั่งปิดโรงเรียน! นำไปสู่ความโกลาหล พร้อมกับคำถามที่ผุดขึ้นมากมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ท่ามกลางความสงสัยของสังคม เกิดอะไรกับสถาบันการศึกษาชื่อดังที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและสร้างบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศมานานกว่า 120 ปี ?

เมื่อไม่เป็นตามที่จุดประสงค์ คณะครูโรงเรียนอัสสัมชัญทั้งประถม-มัธยม กลุ่มศิษย์เก่าในนามกลุ่มกู้อัสสัมชัญ ได้ร่วมอ่านแถลงการณ์และแถลงข่าวท่าทีในการเคลื่อนไหว โดยเรียกร้องให้เปิดการเรียนการสอนปกติในวันนี้ (28 ม.ค.) เพื่อไม่ให้เด็กได้รับผลกระทบ ให้ปรับเงินเดือนตามประกาศของมูลนิธิ โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ครูและให้มีผลย้อนหลังการจ่ายตามกฎหมาย แต่ประเด็นสำคัญที่คณะครูและกลุ่มศิษย์เก่าต้องการ คือ ภราดา อานันท์ แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่ง ผอ.โรงเรียน ทันที และให้มูลนิธิแต่งตั้งภราดาที่เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการมาช่วยปัดกวาดปัญหา และนำพาโรงเรียนอัสสัมชัญผ่านพ้นวิกฤต ขณะที่ นายศุภโชค โฆษ์วงศ์ ตัวแทนกลุ่มกู้อัสสัมชัญ ได้ย้ำในแถลงการณ์ด้วยว่าต้องการให้นำเงินที่บริจาคของโรงเรียนอัสสัมชัญที่นำไปลงทุนสร้างโรงเรียนอัสสัมชัญ พระราม 2 กลับคืนมาสู่โรงเรียนโดยต้องไม่มีภาระหนี้สินมาผูกพัน

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เหตุการณ์การแต่งชุดดำของคณะครู และกลุ่มศิษย์เก่าประท้วงเป็นครั้งแรก แต่ดูทีท่าจะเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งภายใน ที่ส่อเค้าจะบานปลายจากจุดเริ่มต้นของการก่อตัว “ครูอัสสัมแต่งชุดดำ” เพียงกระแสเล็กๆ ก็เริ่มแพร่สะพัด โดยเฉพาะข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของ “หมอนิด กิจจา ทวีกุลกิจ” เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2555 ระบุว่า “โรงเรียนถูกยึด ครูถูกบีบให้เซ็นใบลาออก เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก ที่โรงเรียนชื่อดังและเก่าแก่ของประเทศไทยกำลังจะถูกยึด ไม่รู้ว่าเป็นความคิดของใครหรือเป็นนโยบายของนักการเมืองคนไหน? ครูทุกคนในโรงเรียนถูกบีบบังคับให้เซ็น...ใบลาออกล่วงหน้า... ถ้าครูคนไหนไม่ยอมเซ็นใบลาออก จะถูกให้ออก พร้อมจ่ายค่าชดเชยให้ เรื่องนี้ไม่มีสื่อไหนลงข่าวเลย ถูกปิดเงียบเหมือนอยู่ในแดนสนธยา ครูหลายคนแต่งชุดดำประท้วงเงียบๆ แต่คงไม่เป็นผล เพราะมีครูบางคนถูกเรียกเข้าไปกล่อมถึงในกระทรวง”

ข้อความที่ “หมอนิด กิจจา ทวีกุล” เผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัวได้สร้างแรงกระเพื่อม ทำให้ศิษย์เก่า และคนที่ให้ความสนใจเกิดความห่วงใยเคลื่อนไหว ประกอบกับ ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้ชี้แจงผ่าน นสพ.คม ชัด ลึก การันตี ว่า การแต่งชุดดำของครูโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก เป็นเพราะนโยบายยุบรวมโรงเรียนอัสสัมชัญ ฝ่ายประถมและมัธยมเข้าด้วยกัน ครูมีความหวาดหวั่นในความมั่นคงของอาชีพ ต้องการความชัดเจน และต้องการให้มีการปรับเงินเดือนด้วย

ในที่สุด การเคลื่อนไหวของครูอัสสัมชัญแต่งชุดดำประท้วง เพื่อขอความชัดเจนก็ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมในผ่านสื่อต่างๆ ร้อนจนวันที่ 16 ม.ค.2556 ภราดา อานันท์ และภราดา ศิริชัย ฟอนซีกา ประธานมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ต้องเปิดโต๊ะแถลงชี้แจงย้ำแน่ชัดว่า จะไม่มีการยุบรวมโรงเรียนแน่นอน และยืนยันจะไม่มีการเลิกจ้างครู หรือบังคับให้ครูเซ็นใบลาออกแน่นอน โดยยืนยันจะรับครูทุกคน ในส่วนค่าตอบแทนครู ก็ยืนยันว่า ได้ดูแลครูอย่างดีมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าการปรับเพิ่มเงินเดือนครูระดับปริญญาตรีให้เป็น 11,680 บาท ตามประกาศ สช.และประกาศของมูลนิธินั้น โรงเรียนยืนยันว่าไม่มีครูคนใดในจำนวน 450 คน เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท

นอกจากนี้ มีความเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊กในเพจ “กู้อัสสัมชัญ” โดยกลุ่มศิษย์เก่าที่มียอดคลิกไลค์ทะลุหลักหมื่น ซึ่งเป็นอีกช่องทางที่ได้รวบรวมข้อมูล รายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง อาทิ กรณีเงินเดือนครูระดับปริญญาตรีที่ได้เพียงกว่า 9,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการแจ้งข่าวสาร ความเคลื่อนไหว และเป็นสื่อกลางการรวบรวมรายชื่อศิษย์เก่าที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของภราดา อานันท์ และต้องการให้มีการตรวจสอบการทำงานรวมทั้งเรียกร้องให้ภราดา อานันท์ ลาออกด้วย

อย่างไรก็ตาม กรณีข่าวการควบรวมนั้น เดิมทีโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถมและมัธยมนั้นมีใบอนุญาตจัดตั้งเป็นของตนเองตามกฎหมายเดิม ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายเรื่อง การขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบ การกำหนดรายการและการขอเปลี่ยนแปลงรายการในตราสารจัดตั้ง และการกำหนดขนาดที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนในระบบ พ.ศ.2555” ลงนามโดย นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2555 โรงเรียนอัสสัมชัญ จึงทำเรื่องเสนอ สช.เพื่อขออนุญาตจัดทำตราสาร หรือบัญชีทรัพย์สินเฉพาะของโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกมัธยมโดยจะรวมทรัพย์สินของโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถมเข้าด้วยกัน เพื่อให้ในอนาคตโรงเรียนอัสสัมชัญมีใบอนุญาตจัดตั้งเพียงใบเดียว แต่เรื่องยังอยู่ระหว่างการดำเนินการและ สช.ยังไม่ได้มีการอนุมัติแต่อย่างใดประกอบกับเกิดเหตุการประท้วงเรื่องดังกล่าวจึงหยุดชะงัก

ท้ายสุด เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจคณะครูแลกลุ่มศิษย์เก่าได้เดินทางยื่นหนังสือต่อประธานมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ รวมทั้งนายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ รักษาการแทนเลขาคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เพื่อให้รับทราบปัญหาและขอให้ตรวจสอบการบริหารงานของ ภราดา อานันท์ ซึ่งในส่วนของ ศธ.นั้น รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบนายชาญวิทย์ ไปดำเนินการและให้ประสานให้โรงเรียนเปิดสอนตามปกติ ซึ่ง สช.มีอำนาจตามกฎหมายสั่งการได้และแน่นอนวันนี้ข้อเรียกร้องเปิดเรียนปกติสำเร็จไปหนึ่ง! และในวันนี้ (28 ม.ค.) นายชาญวิทย์ จะเดินทางเข้าร่วมหารือกับผู้บริหารของโรงเรียน คงต้องมารอลุ้นว่าคำตอบที่ออกมารูปแบบใด
กำลังโหลดความคิดเห็น