xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เสนอใช้เครื่องดูดมดลูก-ยายุติตั้งครรภ์ หวังลดแท้งไม่ปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เสนอทุกสถานพยาบาลยกเลิกการขูดมดลูก เปลี่ยนเป็นเครื่องดูดมดลูกแทน พร้อมแนะใช้ยายุติการตั้งครรภ์ตามที่ WHO แนะนำ หวังลดปัญหาทำแท้งไม่ปลอดภัย ชี้ ร่าง พ.ร.บ.อนามัยการเจริญพันธุ์ ช่วยส่งเสริมการจัดบริการป้องกันท้องไม่พร้อมและทำแท้งอย่างปลอดภัย เล็งเปลี่ยนทัศนคติผู้ให้บริการไม่มอง “นางสาว” มาคุมกำเนิดในแง่ลบ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการคุมกำเนิด
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (23 ม.ค.) ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนสปาร์ค กทม. นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการประชุมนานาชาติ “สุขภาพสตรีและการทำแท้งไม่ปลอดภัย” - IWAC 2013 ซึ่งจัดโดยมูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรี (แห่งประเทศไทย) ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ปัจจุบัน ผู้หญิงไทยในวัยเจริญพันธุ์ (15-49 ปี) ซึ่งมีจำนวนมากถึง 16 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประเทศ ยังคงมีปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม สาเหตุหลักมาจาก 2 ปัจจัย คือ 1.ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากคนใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น และ 2.การเข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิด ซึ่งเป็นเรื่องของทัศนคติที่มองว่าผู้หญิงที่รู้จักการป้องกันตนเองเป็นคนใจแตก ที่เห็นได้ชัดคือผู้หญิงวัยทำงานที่ยังใช้คำนำหน้าว่า “นางสาว” หรือยังไม่มีสามี เมื่อมาขอใช้บริการคุมกำเนิดตามสถานพยาบาล เช่น ใส่ห่วง หรือฉีดยา ผู้ให้บริการมักมองว่ามีความประพฤติที่ไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ ผู้หญิงไทยยังมีปัญหาเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยด้วย ทั้งการขูดมดลูกซึ่งมีอัตราการตาย การตกเลือด และการติดเชื้อสูง รวมไปถึงความล่าช้าของการดำเนินการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมายอาญามาตรา 305 และข้อบังคับแพทยสภาที่กำหนดเงื่อนไข ว่า หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี หรือตั้งครรภ์ไม่พร้อมอันเนื่องจากการล่วงละเมิดทางเพศ และการตั้งครรภ์ที่มีผลต่อสุขภาพกายและใจของแม่ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เลยนั้น ส่งผลให้มีหญิงตั้งครรภ์จำนวนมากหันไปทำแท้งเถื่อนแทน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาด้วยตัวเองที่ไม่ถูกต้องและไม่ปลอดภัย เป็นผลให้เกิดปัญหาสุขภาพกาย จิตใจ ครอบครัว และสังคมตามมาอีกมากมาย” นพ.กิตติพงศ์ กล่าว

นพ.กิตติพงศ์ กล่าวอีกว่า การจัดประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมหรือไม่พึงประสงค์ และการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย เพื่อส่งเสริมวิชาการและกระตุ้นความตระหนักของสังคมไทยและทั่วโลกในการดูแลสุขภาพผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ และสร้างภาคีเครือข่ายระดับนานาชาติในการร่วมกันแก้ไขปัญหา สำหรับประเทศไทยมีแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวเบื้องต้น คือ 1.เสนอให้ทุกสถานพยาบาลดำเนินการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยตามวิธีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ คือ ยกเลิกการขูดมดลูก โดยให้หันมาใช้เครื่องดูดมดลูกแทน และให้ใช้ยา Mifepristone และ Misoprostol ในการยุติการตั้งครรภ์กรณีที่อายุครรภ์น้อยกว่า 63 วัน หรือ 9 สัปดาห์ ซึ่งเป็นยาที่องค์การอนามัยโลกได้บรรจุลงในบัญชียาหลัก อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ให้แต่ละประเทศขึ้นทะเบียนยาทั้งสองตัวนี้ไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้มีการทำแท้งอย่างเสรี แต่ต้องเป็นการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยตามกฎหมายของแต่ละประเทศกำหนด และ 2.ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนแพทย์และพยาบาลให้มีความเข้าใจการบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยตามหลักกฎหมายมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการใช้เครื่องดูดมดลูกและยายุติการตั้งครรภ์ที่ถูกต้องปลอดภัย รวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติและเปิดให้คำปรึกษาการวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิด และการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย

นพ.กิตติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม หากร่าง พ.ร.บ.อนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ.... มีผลบังคับใช้จะช่วยให้ทุกภาคส่วนจัดบริการการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยได้เข้มแข็งขึ้น เช่น การส่งเสริมการมีลูกเมื่อพร้อม การเข้าถึงการวางแผนครอบครัว การให้ความรู้ด้านเพศศึกษาแก่เด็กตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน และชุมชน การรู้จักปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศ การรู้จักปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ การป้องกันหรือการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย รวมไปถึงพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขและพัฒนาบุคลากรให้รู้เท่าทันเทคโนโลยีการคุมกำเนิด การยุติการตั้งครรภ์ เพิ่มทักษะการให้คำปรึกษา ซึ่งตรงนี้อาจช่วยเปลี่ยนใจให้คนอยากทำแท้งเลิกทำแท้งได้ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้มีการจัดบริการด้านสังคมด้วย เช่น การเปิดให้ศึกษาต่อ เพราะนักเรียนส่วนใหญ่ที่ไปทำแท้งเพราะต้องการที่จะเรียนต่อ จึงจะมีการเปิดโอกาสตรงนี้ด้วย

อนึ่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้คาดประมาณไว้ว่าทั่วโลกมีผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับปัญหาการทำแท้งปีละประมาณ 20 ล้านคน แต่ละปีมีผู้หญิงต้องเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยประมาณ 80,000 คน หรือตกชั่วโมงละ 9 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 95 อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2-3 แสนราย ขณะที่การป่วยและตายจากการแท้งที่ไม่ปลอดภัยและค่ารักษาพยาบาลของประเทศไทย เมื่อปี 2554 พบว่า แท้งสูงถึง 30,389 ราย ตาย 4 ราย ใช้ค่ารักษาพยาบาลกว่า 154 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น