เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ทางการจีนไฟเขียวให้บรรดานักลงทุนจากต่างประเทศ ดำเนินกิจการ “โรงพยาบาลทุนนอก” ในนครหลวง มหานคร และมณฑลสำคัญ หวังสร้างงาน พัฒนาเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาเรื้อรังของวงการสาธารณสุขแดนมังกร
กระทรวงพาณิชย์ของจีน เปิดเผย โครงการนำร่องที่จะอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาก่อตั้งและดำเนินธุรกิจโรงพยาบาล ในกรุงปักกิ่ง มหานครเทียนจินและเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู, ฝูเจี้ยน, ก่วงตง (กวางตุ้ง) และไห่หนัน (ไหหลำ) เพื่อเป็นไปตามแผนปฏิรูปและพัฒนาการบริการ รวมถึงกระตุ้นการแข่งขันในภาคบริการสาธารณสุขอันเข้มงวดของประเทศ
การอ้าแขนต้อนรับเงินทุนจากต่างประเทศของวงการดูแลรักษาสุขภาพแดนมังกรนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งใน “กลยุทธ์แห่งชาติ” ที่มุ่งหวังสร้างงานแก่ประชาชนท้องถิ่น และยกระดับเศรษฐกิจ การลงทุน การส่งออกบางแขนงอีกด้วย
บรรดานักวิเคราะห์มองว่า การเชิญชวนผู้เล่นภาคเอกชนเข้าสู่สนามธุรกิจสถานพยาบาล อาจช่วยบรรเทาปัญหาความแออัดยัดเยียดของการใช้แหล่งทรัพยากรการแพทย์ ที่กำลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนบุคลากร และความขัดแย้งระหว่างหมอกับคนไข้ ซึ่งนับวันดูจะเลวร้ายมากขึ้น
อาร์ทีมีด กรุ๊ป (Artemed Group) ผู้ประกอบการสาธารสุขและการดูแลสุขภาพ สัญชาติเยอรมัน ได้เคลื่อนทัพเข้าไปในจีน ด้วยการลงนามกรอบข้อตกลงเมื่อเดือน ก.ค. เตรียมเปิด “โรงพยาบาลทุนต่างชาติ” แห่งแรกของจีน ในเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ โดยสื่อท้องถิ่น รายงาน สถาบันสุขภาพจากเมืองนอกอีกกว่า 20 แห่ง ก็เล็งเข้ามาดำเนินงานในเซี่ยงไฮ้เช่นกัน
“เป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมสำหรับนักลงทุนเอกชนจากต่างชาติ ในยามที่การปฏิรูปเปิดทางให้ประชาชนบางส่วนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น” วิพลู ปราคาส์ช ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิต ธุรกิจการเกษตร และการบริการ ของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารโลก (World Bank) กล่าว
“ผมคิดว่าภาคเอกชนครองสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของเครือข่ายสาธารณสุขจีน เพราะรัฐบาลยังคงรักษาตำแหน่งผู้ให้บริการรายหลักไว้ตลอด” โดย IFC ได้เข้าไปลงทุนในภาคสาธารณสุขของจีนเป็นเม็ดเงินเกือบ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นครหลวง มหานคร และมณฑลต่างๆ ทั้งเจ็ดแห่งข้างต้น จะต้องร่างข้อเสนอและแผนปฏิบัติงาน ‘รายวัน’ ของโรงพยาบาลทุนนอก เสนอต่อคณะกรรมการสาธารณสุขและการวางแผนครอบครัวแห่งชาติและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อทำการพิจารณาและอนุมัติ
ทางการจีนพยายามกระตุ้นผลผลิตของธุรกิจสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันขยับขยายอย่างรวดเร็วกว่าเศรษฐกิจองค์รวม และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าราว 8 ล้านล้านหยวนในปี 2563
“การปฏิรูป เช่น ทลายการผูกขาดธุรกิจดูแลสุขภาพของรัฐบาล มีเป้าหมายสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจในระยะกลาง” หวัง เถา เศรษฐกรจีนจากบริษัทหลักทรัพย์ ยูบีเอส (UBS Securities) กล่าว