กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้ วัฒนธรรม “เด็กไทย” เข้าสู่ยุคฟรีเซ็กซ์ ระบุ อัตราวัยรุ่นหญิงป่วยซิฟิลิสรุนแรง อันตรายถึงชีวิต เพราะไร้ยารักษา ส่อเค้ายอดเด็กติดเชื้อ HIV พุ่งตาม เตือนพ่อแม่ยอมรับความจริง สอนลูกสาวพกถุงยางวันละ 2 ชิ้น เพื่อป้องกันตัวเอง เอ็นจีโอเอดส์ขานรับไอเดียแจ๋ว ซัดโรงเรียนหน้าบางทำเด็กเข้าไม่ถึงถุงยางอนามัย!
หนึ่งในหลายปัญหาสังคมที่เป็นข่าวในปี 2555 ซึ่งสะเทือนอารมณ์สถาบันครอบครัวไม่น้อย คือ ข่าวอธิบดีกรมควบคุมโรค ผุดไอเดียรณรงค์ให้พ่อแม่สอนลูกสาว ม.ต้น ป้องกันตัวเองโดยให้พกถุงยางอนามัยไปโรงเรียนวันละ 2 ชิ้น เนื่องจากผลสำรวจประจำปีเรื่องพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ในเด็กวัยรุ่นของกรมควบคุมโรค สะท้อนว่า เด็กหญิงมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นและคบหาในเวลาเดียวกันมากกว่า 1 คน
ยิ่งไปกว่านั้น คือ มีเพศสัมพันธ์โดยขาดการป้องกันมากกว่า 50% ส่งผลให้อัตราการป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของเด็กวัยรุ่นพุ่งกระฉูด และยังนำไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม การติดเชื้อ HIV เป็นต้น
ทว่า ยังเป็นเรื่องยากที่สังคมไทย พ่อแม่ และผู้ปกครอง จะยอมรับไอเดียนี้ได้ง่ายๆ เพราะอีกมุมหนึ่ง สังคมยังเกรงว่าผลลัพธ์จะกลายเป็นทางตรงข้าม คือ เท่ากับส่งเสริมให้เด็กไปมีเพศสัมพันธ์ที่โรงเรียนเสียอย่างนั้น
ความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่าง 2 มุมมองเกิดจากการมองเห็นความเป็นจริงที่ต่างกัน ฟากผู้ปกครอง เห็นว่า บุตรหลานเวลาอยู่บ้านมีความประพฤติเรียบร้อยดี ก็คิดว่าไม่น่าจะมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศอย่างที่เห็นในข่าว
ขณะที่ฟากผู้ทำงานใกล้ชิดกับสภาพปัญหาของเด็กวัยรุ่นจะมองเห็นภาพที่ต่างออกไป เช่นเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังจากเอ็นจีโอสายเยาวชนระหว่างลงพื้นที่ในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง โดยเด็กหญิง ม.ต้น เปิดใจอย่างไร้เดียงสาว่าเธอมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนชายก่อนเข้าห้องเรียนทุกวันโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย เพราะไม่คิดว่าจะเป็นอะไร!
เด็กหญิงคนดังกล่าวไม่รู้ว่าตนมีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1.ตั้งครรภ์ในวัยเรียน 2.ติดโรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส, หนองใน, HIV ฯลฯ 3.เป็นมูลเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกในอนาคต เพราะมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจากเพศชาย การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยตั้งแต่ยังเด็กจึงมีแนวโน้มเสี่ยงเป็นมะเร็งเมื่ออายุมากขึ้น
ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่รู้ว่าเด็กวัยรุ่นกำลังเผชิญปัญหาเหล่านี้ และวันหนึ่งอาจถึงคราวบุตรหลานของเราบ้าง หากยังไม่ตระหนักว่าความจริงอีกด้านเป็นอย่างไร!
วัยรุ่นไทยพร้อมใจเปิดรับฟรีเซ็กซ์
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จากผลสำรวจพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มนักเรียนประจำปีของกรมควบคุมโรค พบว่า ในปี 2555 เด็กนักเรียนมัธยมต้นเพศหญิงผ่านประสบการณ์การมีเพศสัมพันธ์แล้วร้อยละ 5-20 ส่วนเด็กนักเรียนหญิง ม.ปลายมีประสบการณ์การมีเพศสัมพันธ์ร้อยละ 5-50 ขณะที่เด็กนักเรียนหญิงในสถาบันอาชีวศึกษามีเพศสัมพันธ์แล้วเกินร้อยละ 50
“แค่นั้นยังไม่เท่าไรหากเขามีเพศสัมพันธ์กับแฟนเขาคนเดียว แต่ปีที่ผ่านมา เราให้เด็กตอบคำถามอีกข้อเพื่อสำรวจว่ามีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนมากกว่า 1 คน ปรากฏว่า มีเด็กนักเรียนหญิง ม.ต้น ร้อยละ 5 ที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนมากกว่า 1 คน และใช้ถุงยางอนามัยเพียง 50% ขณะที่เด็กนักเรียนหญิงอาชีวะมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนมากกว่า 1 คน สูงถึงร้อยละ 16 ใช้ถุงยางอนามัยเพียง 49% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าเกือบ 1 ใน 5 ของเด็กวัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนมากกว่า 1 คน โดยไม่ป้องกัน จึงเป็นเรื่องที่สังคมควรตระหนักว่าวัยรุ่นไทยสมัยนี้ค่อนข้างฟรีเซ็กซ์กันมาก และไม่ใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายต่อสังคมอย่างมาก”
โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเด็กมาเรียนหนังสือ เช่น นครสวรรค์ นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลา หาดใหญ่ เด็กมาอยู่หอพักกับเพื่อนกับแฟน จะมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสูงมาก อธิบดีกรมควบคุมโรค เล่าให้ฟังจากข้อมูลการวิจัยที่ระบุไว้
แนะสอนลูกสาว “ยืดอกพกถุงยาง”
นพ.พรเทพ บอกอีกว่า ผู้ปกครองควรยอมรับความจริงว่าเด็กยุคใหม่เปลี่ยนค่านิยมไปแล้ว จากที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็มีประสบการณ์แล้วถึง 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 2 และไม่ได้ป้องกัน เพราะเข้าไม่ถึงถุงยางอนามัย ไม่มีการเตรียมถุงยางอนามัยไว้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเราคงเปลี่ยนความจริงให้กลับไปเป็นเหมือนเดิมไม่ได้
“ตอนนี้เกิดค่านิยมในกลุ่มเด็กวัยรุ่นซึ่งนอกจากจะไม่อายแล้ว ยังอวดกันอีกด้วยว่า ฉันมีแฟนแล้ว ฉันมีเพื่อนชายทั้งหมดกี่คน การมีความสัมพันธ์กลายเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องสนุก บางคนถึงขนาดทำเพื่อหาเงินมาซื้อของที่อยากได้ แต่ไม่มีการป้องกัน จึงยิ่งเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ และติดโรคจากเพศสัมพันธ์ เห็นได้ชัดจากปีที่ผ่านมาเกินครึ่งหนึ่งของคนที่เดินเข้ามาในคลินิกโรคเพศสัมพันธ์เป็นเด็กวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี และส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง”
ดังนั้น ณ วันนี้ทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้คือให้นักเรียนหญิงพกถุงยางอนามัยคนละ 2 ชิ้นต่อวัน โดยให้พ่อแม่เป็นคนมอบให้ลูกพร้อมทั้งสอนให้รู้จักการป้องกัน พ่อแม่ต้องเปลี่ยนให้ทันตามวัฒนธรรมของเด็กวัยรุ่นที่กำลังจะเปลี่ยนไปภายใน 1-2 ยุคนี้ เช่นเดียวกับอเมริกาที่เปลี่ยนไปแล้ว เด็กวัยรุ่นพกถุงยางอนามัย มีการวางแผนครอบครัว พ่อแม่ให้ลูกไปเดตและแจกถุงยางอนามัยให้ด้วย
2 ปียอด HIV จ่อพุ่ง - “ซิฟิลิส” มีสิทธิ์ถึงตาย
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค เชื่อว่า แนวคิดให้เด็กหญิงพกถุงยางอนามัยจะช่วยลดความรุนแรงในอัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ของกลุ่มเยาวชน ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เพราะไม่ใช้ถุงยางอนามัยได้ หากผู้ปกครองขานรับไอเดีย
“ถ้าเมื่อไรโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างซิฟิลิส หรือโกโนเรีย มีมากขึ้น อีกสัก 2-3 ปี โรคเอดส์จะตามมา เพราะคนรับเชื้อเข้าไปแล้วแต่ยังไม่มีอาการ ซึ่งขณะนี้สัญญาณอันตรายเริ่มมาแล้ว เพราะโรคซิฟิลิสกำลังระบาดรุนแรงขึ้น และครึ่งหนึ่งของคนที่มาคลินิกโรคเพศสัมพันธ์เป็นเด็กวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี โดย 8 ใน 10 คนเป็นเด็กผู้หญิง” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวพร้อมเตือนว่า โรคเอดส์ยังมียากินให้ไม่ตายได้ แต่โรคซิฟิลิสไม่มียารักษา และลักษณะทางกายภาพของผู้หญิงทำให้ติดโรคนี้ได้มากกว่าผู้ชาย ดังนั้น หากไม่ป้องกันตัวเอง อาจถึงตายด้วยโรคซิฟิลิสได้
สอดคล้องกับอัตราผู้ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มอายุ 15-24 ปีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2554 ซึ่งเท่ากับ 43.66 ต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ซึ่งเท่ากับ 29.04 ต่อแสนประชากร
ขณะที่สถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทยปี 2555 มีอัตราผู้ป่วยในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ร้อยละ 22.03 โดยพบว่าเพศหญิงมีสัดส่วนอัตราการป่วยเอดส์สูงกว่าเพศชายในจำนวน 2 ต่อ 1 และมีเด็กแรกเกิดที่ติดเชื้อจากมารดาร้อยละ 2.2
อย่างไรก็ดี กรมควบคุมโรคพยายามกระจายถุงยางอนามัยในโครงการถุงยางอนามัย 100% ปีละประมาณ 21 ล้านชิ้นไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ชายรักชาย, พนักงานบริการชาย ซึ่งมีแนวโน้มติดเชื้อ HIV เพิ่มขึ้น
โดยในส่วนของการป้องกันการติดเชื้อ HIV ในกลุ่มวัยรุ่น กรมควบคุมโรคจะขยายการติดตั้งกล่องแจกถุงยางอนามัยในโรงเรียนเพิ่มขึ้น และรณรงค์ให้เด็กหญิงพกถุงยางอนามัย เพราะเชื่อว่าผู้หญิงจะมีอำนาจการต่อรองในการป้องกันตนเองได้ และจะสามารถลดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในกลุ่มเยาวชนได้เช่นเดียวกับที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในกรณีที่เคยรณรงค์ให้หญิงบริการในสถานบริการใช้ถุงยางอนามัย 100%
ขณะเดียวกัน เยาวชนสามารถรับถุงยางอนามัยฟรีจากโรงพยาบาลประจำอำเภอ หรือสามารถหาซื้อถุงยางอนามัยราคาประหยัดได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยมีอยู่ยี่ห้อหนึ่ง 3 ชิ้น ราคาเพียง 15 บาทเท่านั้น และคนไทยทุกคนยังสามารถเข้ารับบริการตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อ HIV ฟรีปีละ 2 ครั้งได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้อย่างรวดเร็ว และป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นอีก
เอ็นจีโอเอดส์ขานรับไอเดีย สธ.
ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงไอเดียใหม่ของกรมควบคุมโรคว่า เป็นมิติที่ดีที่เจ้าหน้าที่รัฐลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้ ขณะที่แต่ก่อนเอ็นจีโอเป็นฝ่ายพูดอยู่ข้างเดียว ดังนั้นเสียงนี้จะต้องถูกส่งไปถึงผู้ใหญ่คนอื่นด้วยว่า เด็กๆ เผชิญกับวิกฤตเรื่องนี้ด้วยตนเองมานานแล้ว เพราะผู้ใหญ่มีทัศนคติที่ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับความจริงเรื่องนี้ ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่าเยาวชนในสังคมไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบด้านลบจากการมีเพศสัมพันธ์อยู่
“เราพบเยาวชนติดเชื้อไวรัส HIV เยอะขึ้นจริงๆ โดยดูจากสถิติการสำรวจในแต่ละปีก็จะพบว่า อายุเฉลี่ยของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกจะน้อยลง โดยปีนี้อยู่ที่อายุ 14 ปี เท่ากับเด็กมีโอกาสมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น ขณะที่ผลสำรวจเรื่องการใช้ถุงยางอนามัยในกลุ่มเยาวชนกลับน้อยมาก แทบไม่ถึงร้อยละ 50 จึงถือเป็นเรื่องน่าตกใจที่เยาวชนเราเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ป้องกัน เพราะปัญหาเชิงทัศนคติที่ผู้ใหญ่มองว่าเด็กยังไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ เมื่อเด็กประสบปัญหาจึงไม่กล้าพูดคุยปรึกษา และเลือกที่จะจัดการปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง จึงมีกรณีเด็กไปทำแท้งเถื่อนจำนวนมาก”
นายนิมิตร์ ย้ำว่า สิ่งที่ต้องช่วยกันตอนนี้คือช่วยให้เด็กวิเคราะห์และประเมินสิ่งที่เขาเลือกทำให้ได้ โดยให้เด็กมีเครื่องมือป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย ไม่ใช่ให้เสี่ยงตัดสินใจตามยถากรรม ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และมีเด็กติดเชื้อ HIV เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี พฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์จากปากคำของเยาวชนพบว่า เวลาที่เหมาะสมที่สุดคือช่วงเวลาหลังเลิกเรียนที่พ่อแม่ยังไม่กลับบ้าน สถานที่ที่เหมาะสมจึงเป็นบ้านที่ไม่มีผู้ปกครองอยู่ โดยเงื่อนไขต่างๆ ขึ้นอยู่กับโอกาสและจังหวะ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือการเข้าไม่ถึงเครื่องมือป้องกัน ขณะที่โรงเรียนก็ไม่พร้อมจะเป็นแหล่งแจกถุงยางอนามัย ดังเช่นที่เห็นผู้ใหญ่ทะเลาะกันเรื่องความเหมาะสมในการตั้งตู้หยอดเหรียญถุงยางอนามัยในโรงเรียนตลอดมา ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงเครื่องมือป้องกันสักที!