xs
xsm
sm
md
lg

ชง ศธ.ปรับโครงสร้างแยก กศน.-อุดมศึกษา เป็นเอกเทศ “พงศ์เทพ” ไม่เอาด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชง ศธ.ปรับโครงสร้างแยก กศน.-อุดมศึกษา ออกเอกเทศ ขณะที่ “พงศ์เทพ” ยันปีนี้ไม่ปรับโครงสร้าง ศธ.ปีนี้แน่นอน ขอเน้นพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย หลักสูตร และการเรียนการสอน

วันนี้ (22 ม.ค.) ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา “นโยบายและทิศทางการพัฒนาระบบการศึกษาไทย” โดยมี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.), ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ, รศ.ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และผู้ร่วมเสวนาจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ หลายท่าน อาทิ ศ.ดร.ศิรชัย กาญจนวาสี อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ, ศ.ศรีราชา เจริญพาณิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น

โดย ศ.ศรีราชา กล่าวว่า ตอนนี้การศึกษาของชาติไปไม่ได้รอด ต้องมีใครมาตะโกนดังๆ เพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาช่วยกันว่าจะทำอย่างไรให้เด็กไทย คนไทยสามารถอยู่ในโลกต่อไปได้ และทางแก้ทางเดียว คือ ต้องปฏิรูปการศึกษา ทั้งเรื่องการปรับโครงสร้าง กระจายอำนาจให้มากขึ้น แยกอุดมศึกษาออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพราะตอนนี้ ศธ.ใหญ่เกินไป อุ้ยอ้ายรวมกันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น และต้องแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 2 พวก ได้แก่ มหาวิทยาลัยวิจัย และมหาวิทยาลัยทำการสอนเพียงอย่างเดียวอย่างชัดเจน ไม่เช่นนั้น ไม่สามารถผลิตคนมีคุณภาพได้ ขณะที่เรื่องคุณภาพครู ควรประเมินคุณภาพของครูจากผลสัมฤทธิ์ของเด็กที่พัฒนาขึ้น ไม่ใช่ดูจากเอกสาร และควรจะแก้ไขการบริหารงานบุคคลที่ใช้เงินซื้อตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ตนฝาก รมว.ศึกษาธิการ ไว้ 4 ประเด็นดังนี้ 1.ปรับโครงสร้าง ตนเห็นด้วยที่ยกระดับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) เทียบเท่ากับสถาบันอื่นๆ เพราะ กศน.เป็นองค์กรที่ช่วยเติมเต็มการศึกษา แต่การปรับโครงการควรปรับวัฒนธรรมในการทำงานด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาปรับโครงสร้างแต่วัฒนธรรมการทำงานเหมือนเดิม ไม่มีการบูรณาการที่ชัดเจน นอกจากนั้นควรลดอำนาจในส่วนกลางลง 2.ความเหลื่อมล้ำคุณภาพการศึกษา ควรมีการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กที่มีมากกว่า 20,000 โรง ให้มีคุณภาพ ต้องมีนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนายกระดับเด็กกลุ่มนี้ 3.การประเมินผลของนักเรียน ตนเห็นด้วยที่มีการนำคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) มาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของเด็ก แต่ควรเพิ่มให้มี % มากขึ้น เพราะตอนนี้คิดเพียง 20% อนาคตอาจเป็น 25% เพื่อส่งสัญญาณให้สถานศึกษามุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กมากขึ้น

ด้านนายพงศ์เทพ กล่าวว่า ตามที่มีข้อเสนอการปรับโครงสร้างการทำงานของ ศธ.นั้น คงต้องยอมรับว่า โครงสร้างที่มีในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยต่อระบบการศึกษา แต่ในปีนี้ตนจะยังไม่ปรับโครงสร้างใดๆ เพราะการปรับโครงสร้างเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมากมีหลายประเด็นเข้ามาเกี่ยวข้อง ในขณะที่เป้าหมายหลักเวลานี้ คือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยให้ดีขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ตนเน้น คือ เรื่องการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนและเรื่องหลักสูตร เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับเด็กโดยตรง ส่วนเรื่องอื่นก็ต้องค่อยๆ ว่ากันต่อไป คงไม่ทำทุกเรื่องทีเดียว

ทั้งนี้ ในส่วนการปรับปรุงเรื่องการเรียนการสอน ขณะนี้ตนมีแนวคิดเปลี่ยนนโยบายเรื่องการให้ครูทำผลงานเพื่อขอวิทยฐานะ เนื่องจากทำให้เกิดปัญหาครูทิ้งชั้นเรียน เพราะต้องเสียเวลาไปทำผลงานจึงอยากลดภาระของครูลง อีกทั้งมองว่าครูที่ทำผลงานเก่ง ไม่ได้แปลว่าสอนลูกศิษย์ได้ดี ขณะเดียวกัน จะต้องพัฒนาคุณภาพครู โดยหาวิธีการจูงใจคนเก่งในสาขาวิชาที่หลากหลายให้มาเป็นครู เพราะครูมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้น จะต้องมีวิธีในการจูงใจให้คนที่ระดับชั้นนำเข้ามาเป็นครูได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า วิธีการใช้งบประมาณเพื่อดึงคนเก่งมาเป็นครูนั้นเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะการเพิ่มอัตรากำลังในภาคราชการ โดยปัจจุบันรัฐบาลต้องใช้งบประมาณ เฉลี่ย 30 ล้านบาท สำหรับการจ้างข้าราชการ 1 คน ตลอดอายุขัย ขณะที่การจัดสรรงบประมาณในแต่ละปี ศธ.เป็นหน่วยงานที่ได้งบประมาณมากอยู่แล้วถึงร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น