กทม.ชวนประชาชนร่วมป้องกันโรคไข้เลือดออก เร่งกำจัดยุงลายตามหลัก 5 ป.
พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า ไข้เลือดออกสามารถเกิดได้ทุกฤดูกาล ดังนั้น ประชาชนจึงควรดูแลตนเองและคนในครอบครัวให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายทั้งในและนอกบ้าน กำจัดยุงลายตัวแก่ภายในบ้านโดยใช้สารเคมีที่ปลอดภัย ป้องกันไม่ให้ยุงกัด หากคนในครอบครัวป่วยเป็นไข้นานกว่า 1 วัน ให้รีบพบแพทย์ทันที และต้องตัดวงจรไข้เลือดออกด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งประชาชนสามารถทำได้ง่ายๆ โดยยึดหลัก 5 ป. ได้แก่ ปิด-เปลี่ยน-ปล่อย-ปรับ-ปฏิบัติ คือ 1.ปิด ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลงไปวางไข่ 2.เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในภาชนะ เช่น แจกัน ถังเก็บน้ำ เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง 3.ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร 4.ปรับ ปรับสิ่ง
แวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาด ลมพัดผ่าน ไม่ให้เป็นที่เกาะพักของยุงลาย 5.ปฏิบัติ ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย และขอให้เริ่มลงมือปฏิบัติตามคำแนะนำทันทีเพื่อลูกหลานปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก นอกจากนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักอนามัย ร่วมกับสำนักงานเขต รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างถูกต้อง รวมทั้งสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ ชุมชน โรงเรียน ศาสนสถาน สถานพยาบาล สถานประกอบการ อาทิ ร้านขายของเก่า ร้านปะยาง ร้านเกม และสถานที่จัดกิจกรรมเฉพาะกิจที่มีประชาชนมารวมกันเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
พญ.วันทนีย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชนและบ้านของตนเอง รวมทั้งเฝ้าระวังไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นในชุมชน หากพบผู้ป่วยเป็นไข้นานกว่า 1 วัน ต้องรีบพบแพทย์ทันที พร้อมโทรศัพท์แจ้งศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักงานเขตในพื้นที่ หรือโทรสายด่วน สำนักอนามัย กทม.โทร.0-2245-4964 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อ กทม.จะได้จัดส่งทีมเคลื่อนที่เร็วเข้าตรวจสอบพื้นที่เพื่อกำจัดแหล่งพาหะของโรค และระงับการแพร่ระบาดของโรคทันที สำหรับทรายเคลือบสารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลาย สำนักอนามัยได้จัดสรรให้ไว้ที่สำนักงานเขต 50 เขต ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข สาขา 77 แห่ง ศูนย์สุขภาพชุมชนทุกชุมชน ซึ่งประชาชนสามารถติดต่อขอรับได้ฟรี