xs
xsm
sm
md
lg

“หมอประเวศ” ชี้การศึกษาคือความงอกงาม ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ต้องการมาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอประเวศ” แนะสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่มองการศึกษาเป็นความงอกงาม ไม่ใช่อุตสาหกรรม ด้าน “ศ.สุมน” ย้ำ “ชุมชนและท้องถิ่น” เป็นพลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยอยู่รอด ต้องปรับให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวนำและมีส่วนร่วม

ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวระหว่างเป็นประธานการเสวนาวิชาการเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 12 “การพัฒนาการเรียนรู้ในจังหวัดนำร่อง : ฝันที่ตั้งใจให้เป็นจริง” กรณีศึกษาชัยภูมิ สุรินทร์ และน่าน จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส.เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า อนาคตประเทศจะประสบความยากลำบาก หากไม่สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้มีคุณภาพได้ ด้วยอัตราการเกิดใหม่ของเด็กที่ลดลงเหลือ 7 แสนคนต่อปี ซึ่งปัญหาทั้งหมดยากเกินกว่าที่โรงเรียนจะทำได้โดยลำพัง ดังนั้น สิ่งที่เราพูดถึงกันในวันนี้ คือ การนำพื้นที่ เช่น ท้องถิ่น ชุมชน จังหวัด เป็นตัวตั้ง ทำให้เป็นพลังที่เกิดจากการรวมกัน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ตาม จากบทเรียนที่ผ่านมา เราคิดว่า การศึกษาที่ดีจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่ดี แต่พบว่า การศึกษาไทยทำมากว่า 100 ปียังไม่สำเร็จ สะท้อนว่าเราต้องทำการปฏิรูปการทำงานแบบกลับหัว ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุดคือการมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ เพราะการเรียนรู้จากการมีสัมมาชีพ และกระบวนการวัฒนธรรมชุมชนทำให้เด็กที่เข้าร่วมมีความมั่นใจ ภาคภูมิใจในตนเองและมีความรับผิดชอบ

การเรียนรู้จากการมีสัมมาชีพ กระบวนการวัฒนธรรมชุมชนทำให้เด็กที่เข้าร่วมมีความมั่นใจในตนเอง เวลามีเรื่องวัฒนธรรมชุมชน เด็ก ผู้ใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมในชุมชน โดยเด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เด็กจะได้ฝึกทักษะชีวิตต่างๆ ที่เป็นการสร้างคุณค่าความภูมิใจในตนเองและผู้เรียนก็มีความสุข จะเป็นจุดแข็งสำหรับเรื่องดีๆ ได้ อย่าเน้นแต่เรื่องมาตรฐานมากนัก เพราะการศึกษาไม่ใช่กระบวนการทางอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐาน มีการตรวจสอบ มีการชี้วัด ให้เปลี่ยนมุมมองว่าการศึกษา คือ ความงอกงามอย่างหลากหลาย จะง่าย และเบามาก เป็นการเรียนรู้ ชื่นชม เกิดการต่อ ยอด ทำให้เหนื่อยยากน้อยลงเยอะ เป็นการปรับแนวคิดของการศึกษาจากการควบคุม เป็นความงอกงามอย่างหลากหลาย” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว

ด้าน ศ.พญ.ชนิกา ตู้จินดา ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สสส.กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดของการพัฒนาเด็ก คือ พ่อ แม่ ซึ่งหากดูผลการศึกษาด้านพัฒนาการของเด็ก 1-2 ขวบ เราไม่แพ้ชาติใดเลย แต่หลังจาก 2 ขวบไปแล้ว เราแพ้หมด เพราะปัจจุบันพ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงดูลูกเอง ประกอบกับแม่ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน จากวิถีชีวิตที่ต้องกินแต่อาหารเร่งด่วน ทำให้มีความเสี่ยงซีดจางในอัตราถึง 18-30% โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้เด็กที่เกิดมาไม่แข็งแรง สู้เขาไม่ได้ เพราะต้นทุนไม่ดีตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นคงต้องร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเด็กไทย

ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ที่ปรึกษา สสค.กล่าวว่า การจัดการศึกษาที่มีรูปแบบเป็นของตนเองใน 3 จังหวัดที่เป็นกรณีศึกษา เช่น ชัยภูมิสไตล์ ที่เน้นพลังการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อนำมาต่อยอดการเปลี่ยนแปลง มองการศึกษาที่ไกลออกไปจากรั้วโรงเรียน ชุมชน เป็นการทำงานแบบหมดเงินแต่ไม่หมดงาน สามารถที่จะก้าวต่อไปได้ ส่วน น่านสไตล์ เน้นทีมศึกษานิเทศก์ แบบ coaching และวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม เพราะมองว่า การที่เด็กน่านดี มีคุณธรรม รักท้องถิ่นเกิด จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นยั่งยืน โดยเจาะกลุ่มพื้นที่เสี่ยง ขาดแคลน และดูความต้องการจำเป็น แบบเจาะจุด ขณะที่ชัยภูมิเน้นทั้งจังหวัด สุดท้าย สุรินทร์สไตล์ เป็นการตั้งเป้าหมายที่สูง เป็นความฝันที่ตั้งใจให้เป็นจริง แก้ปัญหาเด็กชายขอบ เป็นความโดดเด่น แตกต่างเพราะเป็นเด็กเหลือคัด ขณะที่ในเมืองเป็นเด็กคัดเหลือ และด้วยความที่จังหวัดสุรินทร์เป็นเมืองช้าง และศูนย์กลางของอีสานใต้ จึงนำเอกลักษณ์ที่มี กระจายทรัพยากร ดี เด่น ดัง ของจังหวัดไปสู่ประชาคมอาเซียน เน้นการศึกษาเพื่อการทำมาหากิน และคิดสร้าง elephant worldซึ่งหากสามารถทำให้เมืองช้างเป็นสัมมาชีพได้ คนสุรินทร์ก็จะมีงานทำ มีธุรกิจประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

ทั้ง 3 จังหวัดสร้างความคิดที่จะปฏิรูปแบบกลับหัว คือ นำพื้นที่ ท้องถิ่น ชุมชนและชาวบ้านเป็นตัวตั้ง ให้ทุกคนมีส่วนร่วม สร้างสัมมาชีพทุกพื้นที่นี่คือคาถาที่จะทำให้ประเทศไทยอยู่รอด ” ศ.สุมน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น