ณ ขณะนี้นับว่าบริษัทเครือซิเมนต์ไทย หรือ SCG ได้ย่างเข้าสู่อายุ 100ปีแล้ว และจะครบรอบในปลายปี วันที่ 8 ธันวาคม 2556 จึงมีความเคลื่อนไหวประกาศความเป็นองค์กรที่ยั่งยืนอย่างสมศักดิ์ศรี และน่ายินดีในการพัฒนาความก้าวหน้าของกิจการที่เป็นต้นแบบได้
เพราะกิจการธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มีอายุยืนยาวนับ 100 ปีขึ้นไปยังนับว่าน้อยมาก และที่อยู่บ้างก็เป็นประเภทธุรกิจการค้าและธุรกิจบริการอย่างเช่น บริษัทดีทแฮล์ม เบอร์ลี่ยุคเกอร์ อีสเอเชียติก ซิงเกอร์ โรงแรมโอเรียลเต็ล และ ธนาคารไทยพาณิชย์
เอสซีจี อาจเป็นองค์กรอุตสาหกรรมไทยรายแรกที่มีอายุแตะเลขร้อยปี จึงน่าศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางยุทธศาสตร์ การบริหารกิจการและการค้าที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี สรุปบทเรียนของ เอสซีจี ที่มีความยั่งยืนเป็นองค์กร 100 ปีใน 3 ประเด็น
1.ให้ความสำคัญกับการพัฒนา “คน”
นับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2456 ถึงปัจจุบัน เอสซีจี มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีพื้นฐานมาจากอุดมการณ์ 4 ของเอสซีจี
“แรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เอสซีจีเติบโต อย่างมั่นคง คือ “คน” ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีค่าสูงสุด เราให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ทั้งความรู้ความสามารถและคุณธรรม เพื่อให้คนเอสซีจีมีความสามารถดำเนินธุรกิจได้ในทุกสถานการณ์ โดยมองว่าเป็นการลงทุนที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปี เอสซีจีใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคล ปีละ 1,200 ล้านบาท”
2.การตื่นรู้และปรับตัวรับสถานการณ์ได้เร็ว
“ตอนที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เมื่อปี 2540 ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความร่วมมือโดยคนเอสซีจีอย่างชัดเจน เราสามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นก็ด้วยคนที่เรียนรู้และปรับตัว
เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อต้องประสบกับวิกฤตอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือน้ำท่วมครั้งใหญ่ คนของเราก็รับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นพร้อมรับทุกเหตุการณ์วิกฤตอย่างมั่นใจ”
3.เดินหน้าพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA)
ตามนโยบายมุ่งสู่องค์กรนวัตกรรม เอสซีจีประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีในการวิจัยและพัฒนาสินค้าที่มีคุณสมบัติเด่นที่เป็นมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA (High Value Added) มีอัตราเติบโตสูงขึ้นอย่างมาก เทียบจากปี 2547-2554 ยอดขายรวมเติบโตขึ้นร้อยละ 90 สินค้า HVA มีอัตราเติบโตสูงถึงร้อยละ 1400 หรือ 14 เท่า ขณะที่สินค้าทั่วไป มีอัตราเติบโตร้อยละ 34
ณ ปัจจุบัน สินค้าในกลุ่ม HVA มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 34 ของยอดขายรวม และยังตั้งเป้ายอดขายจากสินค้าและบริการในกลุ่ม HVA ร้อยละ 50 ของยอดขายทั้งหมด ภายในปี พ.ศ. 2558
4.เดินหน้าเพื่อสู่เป้าผู้นำอาเซียน
ในรอบปีที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวในการขยายธุรกิจและการลงทุนเพื่อบรรลุพันธกิจความเป็นผู้นำธุรกิจอย่างแท้จริงในอาเซียน ตามที่ระบุในวิสัยทัศน์องค์กรและเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สอดรับกับจังหวะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะเกิดเต็มที่ในเดือนธันวาคม 2558
กานต์ ชี้แจงว่า เครือข่ายธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา สิงค์โปร์ มาเลเซีย และเมียนมาร์ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 55,400 ล้านบาท รวมทั้งมุ่งเน้นขยายการลงทุนธุรกิจหลักในอาเซียน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการลงทุน 77,500 ล้านบาท ทั้ง M&A และ Greenfield ในประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และไทย
การรุกคืบหน้าล่าสุดที่น่าสนใจของเอสซีจีก็คือ การบรรลุผลเจรจาและได้ทำสัญญาการซื้อหุ้น Prime Group Joint Stock Company หรือ Prime Group ผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามแบรนด์ Prime ด้วยสัดส่วนร้อยละ 85 ด้วยเงินลงทุนประมาณ 7,200 ล้านบาท ในการซื้อธุรกิจกระเบื้องเซรามิกและสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องในประเทศเวียดนาม
Prime Group มีส่วนแบ่งการตลาดในเวียดนามประมาณ 20% และยังเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่สำคัญ เช่น เหมือง ดินเหนียว เหมืองทราย และเหมืองแร่เฟลด์สปาร์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิตกระเบื้องเซรามิก และยังมีโรงงานผลิตกระเบื้องหลังคาดินเผา ที่มีกำลังการผลิต 1.5 ล้านตารางเมตร
“การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน มุ่งสู่การเป็นผู้นำตลาดสินค้าวัสดุก่อสร้าง ตามวิสัยทัศน์ผู้นำธุรกิจอย่างยั่งยืนในอาเซียน ทั้งจะส่งผลให้เอสซีจีมีฐานการผลิตครบทุกประเทศหลักในอาเซียนที่เข้าไปลงทุน โดยรวมการเข้าซื้อหุ้นธุรกิจกระเบื้องเซรามิกของ KIA ประเทศอินโด นีเซีย เมื่อกลางปี 2554 และการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในธุรกิจกระเบื้องเซรามิกของ Mariwasa ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อต้นปี 2555 ซึ่งจะทำให้มีกำลังผลิตกระเบื้องเซรามิกรวมทั้งสิ้น 225 ล้านตารางเมตร โดย ร้อยละ 48 อยู่ในประเทศไทย ร้อยละ 33 ในประเทศเวียดนาม ร้อยละ 14 ในประเทศอินโดนีเซีย และร้อยละ 5 ในประเทศฟิลิปปินส์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าว
“ตลอดระยะเวลาหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เอสซีจี มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมบนพื้นฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือของคนเอสซีจี เราพร้อมสนับสนุนให้องค์กร ต่าง ๆ นำแนวทางการบริหารจัดการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค เอสซีจีมั่นใจว่าจะก้าวสู่ศตวรรษที่สองอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต” กานต์ กล่าวยืนยัน
ข้อคิด...
ในโลกของทุนนิยมแบบเดิม ผู้บริหารกิจการที่วางเป้าหมายครองความยิ่งใหญ่ และอันดับความเป็นเลิศทั้งขนาดสินทรัพย์ กำลังการผลิต ส่วนแบ่งทางการตลาด และกำไรสูงสุด ก็มักจะมุ่งให้บรรลุเป้าหมายโดยอาจใช้วิธีการ “สามานต์” เพื่อหวังกอบโกยผลประโยชน์เพื่อเจ้าของกิจการ
แต่ในหลัก “ทุนนิยมสร้างสรรค์” อันเป็นแนวทางที่องค์กรชั้นนำที่ใฝ่ดีของโลก เริ่มตระหนักว่าจะเป็นแนวทางเพื่อการฝ่าผ่านปัญหาวิกฤต ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบันสู่อนาคตที่จะต้องไม่สร้างภาระปัญหาให้กับคนรุ่นต่อไป
นั่นคือ แนวทาง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่จะคำนึงถึงการสร้างคุณค่าต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับองค์กรทั้งวงใน วงใกล้ และวงไกล
ผู้บริหารและพนักงานเครือซิเมนต์ไทย หรือ เอสซีจี จากรุ่นสู่รุ่นมักทำงานด้วยการอ้างอิงถึง “อุดมการณ์ 4” ที่กลายเป็น “รากแก้ว” ขององค์กรใฝ่ดีแห่งนี้ ซึ่งเป็นหลักยึดที่ดีในการขับเคลื่อนองค์กรที่สังคมยอมรับ ได้แก่
1.ตั้งมั่นในความเป็นธรรม ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้สินค้า ผู้ถือหุ้น หุ้นส่วนธุรกิจ ผู้ที่ดำเนินธุรกิจด้วย หรือพนักงาน จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม
2.เชื่อมั่นในคุณค่าของคน ให้ความสำคัญกับคุณค่าของพนักงานและพยายามคัดสรรบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และมีคุณธรรมเข้าร่วมงาน มีการฝึกฝน พัฒนา และดูแลอย่างดีด้วยสวัสดิการและผลตอบแทนตามสมควร
3.มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ ทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจให้เกิดผลในทางที่ดีกว่าเสมอ โดยมุ่งมั่นที่จะประกอบธุรกิจอย่างดีเยี่ยม เต็มความสามารถ ขณะเดียวกันก็พยายามหาแนวทาง การพัฒนาสู่ความเป็นเลิศอยู่ตลอดเวลา
4.ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม ตั้งเจตนารมณ์ไว้ว่า จะดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงหน้าที่ และความรับผิดชอบที่พึงมีต่อประเทศชาติและสังคมส่วนรวมเป็นสำคัญ องค์กรจึงประพฤติตนเป็นพลเมืองที่ดี ทำประโยชน์ให้แก่สังคม และส่งผลดีต่อทุกชุมชนที่เครือเอสซีจีไปทำธุรกิจด้วย
อุดมการณ์ในการดำเนินธุรกิจทั้ง 4 ประการนี้เมื่อสรุปรวมก็เห็นได้ว่าเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) กำลังยืนยันกับสังคมว่ายึดมั่นใน “คุณภาพและเป็นธรรม”
เมื่อมองทะลุหลักการข้างต้นเข้าไปในแนวปฏิบัติและพฤติกรรมองค์กรก็เป็นสิ่งที่องค์กรต้องพิสูจน์ และยืนยันด้วยรางวัลและการรับรองมาตรฐานคุณภาพด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีการตรวจประเมินจากข้อมูลในมิติต่างๆ ดังเช่นการเป็นองค์กรสีเขียว กระบวนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ย้ำคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อม อย่าง Eco Value ที่ติดตราในทุกผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
suwatmgr@gmail.com